ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน กุมภาพันธ์ 2554

ข่าวทั่วไป Tuesday March 1, 2011 15:16 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ไม่สูงขึ้นมากตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เท่ากับ 109.95 โดยสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ร้อยละ 2.87 เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่สูงขึ้นมากตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.40 และเทียบเฉลี่ย 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2554 เทียบกับมกราคม - กุมภาพันธ์ 2553) สูงขึ้นร้อยละ 2.95 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 3.0 การปรับตัวของเศรษฐกิจไทยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ดัชนีราคาผู้บริโภคสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด มีส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 เท่ากับร้อยละ 3.2 - 3.7

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดต่าง ๆ ทั้งขึ้นและลง เช่น หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.60 ไข่ไก่ สูงขึ้นร้อยละ 2.73 ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 8.05 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.94 อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.35 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้น ร้อยละ 1.76 ขณะที่ราคาผักสด ลดลงร้อยละ 12.77 และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ ลดลงร้อยละ 0.18

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่ม มีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เท่ากับ 109.95 ( เดือนมกราคม 2554 เท่ากับ 109.51 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.40

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.87

2.3 เฉลี่ยระยะ 2 เดือน ( มกราคม - กุมภาพันธ์ ) ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.95

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เทียบกับ เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.54 ) โดยราคาสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผลไม้สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม เนื้อสุกร ไก่สด เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำประปาและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่ราคาสินค้าปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ วัสดุก่อสร้าง และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.64 (เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ1.07 ) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด เช่น ผลไม้สด ร้อยละ 8.05 ได้แก่ กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน มะม่วง ทุเรียน องุ่น ฝรั่ง ชมพู่และส้มโอ ผลกระทบจากพื้นที่เพาะปลูกส้มเขียวหวานทางภาคเหนือลดลงประกอบกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.72 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด นมสด นมเปรี้ยว) เนื้อสุกร สูงขึ้นร้อยละ 2.81 เนื่องจากอากาศร้อนและเกิดโรคระบาด PRRS ทำให้ปริมาณสุกรลดลง ไก่สด สูงขึ้นร้อยละ 2.87 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.94 (ขนมหวาน น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าวขูด มะขามเปียก เครื่องปรุงรส ) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 0.25 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) เนื่องจากความต้องการเพื่อการส่งออกลดลง ผักสด ลดลงร้อยละ 12.77 ได้แก่ ผักกาดขาว แตงกวา ผักคะน้า ผักชี ถั่วฝักยาว พริกสด ต้นหอม กะหล่ำปลี และเห็ด

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.25 (เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.23) สาเหตุสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 1.76 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 1.77 เนื่องจากการยกเลิกมาตรการช่วยค่าน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคสำหรับจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วมระหว่างเดือน ธ.ค. 53 - ม.ค.54 และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.08 (เบียร์ ไวน์ สุรา) สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง ร้อยละ 0.07 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ปูนซีเมนต์) และของใช้ส่วนบุคคลบางชนิด เช่น สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แปรงสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย เป็นต้น

4. พิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.87 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.15 โดยดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 5.14 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.86 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.82 ผักและผลไม้ ร้อยละ 15.76 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 8.81 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.70 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.67 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.53 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.43 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.17 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.50 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.89 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.22

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 2 เดือน ( มกราคม - กุมภาพันธ์ ) ปี 2554 เทียบกับระยะเดียวกัน ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.95 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 5.54 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 5.71 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.85 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.21 ผักและผลไม้ ร้อยละ 19.15 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 8.42 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.87 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 2.50 และจากดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.43 โดยการสูงขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 7.77 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 17.60 ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.58

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เท่ากับ 104.54 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.14

6.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.45

6.3 เฉลี่ยระยะ 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.39

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 สูงขึ้น ร้อยละ 0.14 (เดือนมกราคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.17) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปาและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง และของใช้ส่วนบุคคล

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5- 3.0 นับว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย ไม่สูงมากนัก

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ