ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน พฤษภาคม 2554

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2011 13:23 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงมากนักตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554 เท่ากับ 112.39 โดยสูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 4.19 เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่สูงมากนักตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์โดยเทียบกับเดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.34 และเทียบเฉลี่ยระยะ 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม 2554 กับช่วงระยะเดียวกัน ปี 2553 ) สูงขึ้นร้อยละ 3.45 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของไทยยังคงมีเสถียรภาพดี ตามการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของภาครัฐฯ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล และการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2554 เท่ากับร้อยละ 3.2 - 3.7 โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.90 อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ1.78 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.60 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.32 ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 2.60 ของใช้ส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.31 และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สูงขึ้นร้อยละ 0.39 ขณะที่ ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 3.51 ไข่ไก่ ลดลงร้อยละ 1.50 และน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.60

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2554 เท่ากับ 112.39 (เดือนเมษายน 2554 เท่ากับ 112.01 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.34

2.2 เดือนพฤษภาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19

2.3 เทียบเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม )2554 กับระยะเดียวกันของ ปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.45

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554 เทียบกับเดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.34 ( เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 1.38 ) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ข้าวสารเจ้า ไก่ย่าง ปลาและสัตว์น้ำ นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด สำหรับราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ผักและผลไม้ ไข่ ข้าวสารเหนียว น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าอุปกรณ์การบันเทิง

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.77 ( เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.12 ) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ร้อยละ 5.42 และไก่สด ร้อยละ 5.95 เป็นผลจากต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้าวสารเจ้า สูงขึ้นร้อยละ 0.14 เนื่องจากความต้องการเพื่อส่งออกมากขึ้นขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.60 ( ขนมหวาน น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ) และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.78 ( อาหารบริโภคในบ้าน อาหารบริโภคนอกบ้าน ) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผักและผลไม้ ร้อยละ 3.51 ได้แก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว มะนาว พริกสด ขิง ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง ทุเรียน องุ่น ฝรั่ง และชมพู่ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเพาะปลูกและเป็นฤดูกาลของผลไม้บางชนิดทำให้มีปริมาณผลลผลิตออกสู่ตลาดมาก ไข่ไก่ ลดลงร้อยละ 1.50 ข้าวสารเหนียว ลดลงร้อยละ 0.18 และน้ำตาลทราย ลดลงร้อยละ 0.19

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ( เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.30 ) สาเหตุสำคัญมาจาก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 2.60 เป็นผลจากการไฟฟ้านครหลวงปรับค่า Ft สูงขึ้นอีก 8.93 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม - สิงหาคม 2554 ) ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ( สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผ้าอนามัย ครีมนวดผม ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.31 และร้อยละ 0.39 สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.60 และค่าอุปกรณ์การบันเทิง ลดลงร้อยละ 0.28 ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่นเทป - ดิสก์ กล้องถ่ายรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีเดือนพฤษภาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 4.19 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 8.38 โดยดัชนีราคาหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 3.81 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 11.65 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 6.21 ผักและผลไม้ ร้อยละ 10.39 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ13.00 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.39 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 7.96 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.69 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.93 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.94 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.84 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.71 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.56

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม ) 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 3.45 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 6.80 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.48 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.77 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.62 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 4.58 ผักและผลไม้ ร้อยละ 17.19 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 10.48 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.08 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 4.52 น้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 8.93 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 10.02 และค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.72

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2554 เท่ากับ 106.08 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.46

6.2 เดือนพฤษภาคม 2553 สูงขึ้นร้อยละ 2.48

6.3 เทียบเฉลี่ย 5 เดือน ( มกราคม - พฤษภาคม ) ปี 2554 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2553 สูงขึ้นร้อยละ 1.79

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนพฤษภาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2554 สูงขึ้น ร้อยละ 0.46 ( เดือนเมษายน 2554 สูงขึ้นร้อยละ 0.73 ) โดยมีผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นและลดลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าอุปกรณ์การบันเทิง และเครื่องบริภัณฑ์ อื่นๆ

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5- 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤษภาคม 2554 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ