ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน ธันวาคม 2555 และปี 2555

ข่าวทั่วไป Friday January 4, 2013 16:03 —กรมการค้าภายใน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2555 และปี 2555 อยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2555 เท่ากับ 116.86 เทียบกับเดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2555) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 ขยับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.63 และเทียบเฉลี่ยทั้งปี 2555 กับปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.02 ซึ่งอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ไว้อยู่ที่ร้อยละ 3.00 - 3.40 ที่ปรับลดค่าคาดการณ์ลงมาจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.30 - 3.80 เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ได้สูงขึ้นมาก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาลด้านการตรึงราคาสินค้าและราคาน้ำมันดีเซล ทำให้ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยทั้งปีเคลื่อนไหวไม่มากนัก

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2556 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.80 - 3.40 โดยมีสมมติฐานคือราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ระหว่าง 100 - 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 28.50 - 32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนต่อไป

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.81 ตามการสูงขึ้นของราคาอาหาร ได้แก่ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ผักสด ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าประเภทเนื้อสุกร อาหารทะเลบางชนิด ผลไม้สด น้ำมันพืช และน้ำผลไม้มีราคาลดลง ตามปริมาณผลผลิตและภาวะตลาด สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.11 จากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งสินค้าและบริการอื่นที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2555 และปี 2555

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2555

ปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2555 เท่ากับ 116.86 (เดือนพฤศจิกายน 2555 เท่ากับ 116.41)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.39

2.2 เดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.63

2.3 เทียบเฉลี่ยปี 2555 กับปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.02

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2555 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.39 (เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.35) จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสด และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 0.81 เนื่องจากดัชนีราคาหมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นร้อยละ 21.95 สาเหตุจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้พืชผักหลายชนิดได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้นตามภาวะต้นทุนการผลิต ขณะที่สินค้าประเภทเนื้อสุกร ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และผลไม้สดมีราคาลดลงตามปริมาณผลผลิตและภาวะตลาด สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.11 เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา เป็นสำคัญ

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (เดือนพฤศจิกายน 2555 ลดลงร้อยละ 0.86) สาเหตุจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดผักและผลไม้ ร้อยละ 4.00 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นร้อยละ 21.95 (ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ผักกาดขาว มะเขือเจ้าพระยา ต้นหอม ผักชี ถั่วฝักยาว พริกสด) และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.01 (ก๋วยเตี๋ยว ปลากระป๋อง) นอกจากนี้สินค้าสำคัญอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว แยมผลไม้ ขนมหวาน ไอศกรีม) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (เครื่องดื่มรสชอกโกแลต ชา กาแฟ(ร้อน/เย็น)) สำหรับสินค้าอาหารที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก แตงโม เงาะ ทุเรียน มังคุด ฝรั่ง) เนื่องจากเป็นฤดูกาลของผลไม้บางชนิดมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และเครื่องปรุงอาหารลดลงร้อยละ 0.02 (น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ มะขามเปียก ผงชูรส) ตามการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของห้างร้านทั่วไป

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (เดือนพฤศจิกายน 2555 ลดลงร้อยละ 0.02) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศ ร้อยละ 0.58 ตามภาวะราคาน้ำมันตลาดโลก นอกจากนี้สินค้าและบริการอื่นที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.09 (ค่าเช่าบ้าน แผ่นไม้อัด ปูนซีเมนต์) ค่าน้ำประปา ร้อยละ 0.89 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.02 (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น(น้ำยาถูพื้น) สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) ค่ายาและเวชภัณฑ์ ร้อยละ 0.14 (ยาแก้ไข้หวัด ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ถุงยางอนามัย) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 0.24 (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำมันใส่ผม กระดาษชำระ แปรงสีฟัน ผ้าอนามัย ค่าบริการแต่งผมบุรุษ-สตรี) อุปกรณ์ยานพาหนะ สูงขึ้นร้อยละ 0.07(ยางรถยนต์) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.03 (เบียร์)

สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งบ้านและบริภัณฑ์อื่น(เตียงนอน ตู้เย็น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ) และค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษลดลงร้อยละ 16.13 ตามมติ ครม. เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.63 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 4.00 โดยดัชนีหมวดปลาและสัตว์ ร้อยละ 3.93 ผักและผลไม้ ร้อยละ 16.79 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.40 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.58 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 3.32 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.39 จากการสูงขึ้นของหมวดเคหสถาน ร้อยละ 3.38 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.99 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.25 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 4.41 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.59 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.49

5. พิจารณาดัชนีเฉลี่ยปี 2555 เทียบกับปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 3.02 สาเหตุจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 4.85 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.85 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 2.11 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.90 ผักและผลไม้ ร้อยละ 12.00 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 5.43 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.73 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 5.57 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.96 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.73 ค่าน้ำประปา ร้อยละ 6.64 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 15.78 ค่าเช่าบ้าน ร้อยละ 0.42 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.09 หมวดยานพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 1.56 หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.41 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.95

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ)

คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม2555 เท่ากับ 108.88 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.04

6.2 เดือนธันวาคม 2554 สูงขึ้นร้อยละ 1.78

6.3 เทียบเฉลี่ยปี 2555 กับปี 2554 สูงขึ้นร้อยละ 2.09

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้น ร้อยละ 0.04 (เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้น ร้อยละ 0.05) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา วัสดุก่อสร้าง(แผ่นไม้อัด ปูนซีเมนต์) ค่าของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ใบมีดโกน น้ำมันใส่ผม กระดาษชำระ ผ้าอนามัย) ค่าบริการส่วนบุคคล(ค่าแต่งผมบุรุษ-สตรี) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น(น้ำยาถูพื้น)สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง) เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์) สำหรับสินค้าและบริการที่ราคาลดลง เช่น บริภัณฑ์อื่น ๆ ร้อยละ 0.01 (ตู้เย็น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องทำน้ำอุ่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) และค่าอุปกรณ์การบันเทิง ร้อยละ 0.02 (เครื่องรับโทรทัศน์)

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนธันวาคม 2555 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

7. ดัชนีราคาผู้บริโภคปี 2555 และคาดการณ์ ปี 2556

เศรษฐกิจไทยปี 2555 อยู่ในภาวะที่ดีมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม (ขยายตัวร้อยละ 5.5) และประเทศมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดี อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเท่ากับร้อยละ 3.02 เป็นการสูงขึ้นโดยเฉลี่ยชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตยูโรโซนและภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นทำให้เงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.39 (ไตรมาส 4/2554 ขยายตัวร้อยละ 3.97) ขณะที่ภาครัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจเพื่อเป็นการเร่งการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยมีการกระตุ้นด้านการบริโภคและการปรับโครงสร้างรายได้ประชาชน จากนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน การปรับเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีแรกเข้าเดือนละ 15,000 บาท และนโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวในไตรมาสที่ 2 และ 3 ร้อยละ 3.39 และ 2.95 ตามลำดับ ขณะที่ไตรมาสที่ 4 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 3.23 โดยแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติตามมาตรการดูแลและตรึงราคาสินค้า รวมถึงการนำเข้าสินค้าทดแทนที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ในช่วงระยะต้นไตรมาสและปรับตัวสูงขึ้นปลายไตรมาสเนื่องจากการเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย

ปี 2556 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.80 - 3.40 ภายใต้สมมติฐานคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระหว่าง 100 - 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 28.50 - 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐและรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไป

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ