ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน ตุลาคม 2556

ข่าวทั่วไป Tuesday November 5, 2013 10:44 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อของประเทศเดือนตุลาคม 2556 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของราคาอาหาร ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลง

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนตุลาคม 2556 เท่ากับ 105.76 เทียบกับเดือน ที่ผ่านมา (กันยายน 2556) เปลี่ยนแปลงในอัตราสูงขึ้นร้อยละ 0.17 เทียบกับเดือนตุลาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.46 (เดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.42) เป็นอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา และเทียบเฉลี่ยเดือนมกราคม - ตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 2.27 ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ก๊าซหุงต้ม และผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลงตามภาวะราคาตลาดโลก จึงส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ภาวะการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2556 อยู่ระหว่าง ร้อยละ 2.10 - 2.60

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2556 เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ โดยดัชนีเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.61 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ผักและผลไม้ มะพร้าวผลแห้ง/ขูด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาลดลงตาม ความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากภาวะฝนตกชุกต่อเนื่อง และน้ำท่วมในบางพื้นที่ ประกอบกับเป็นเทศกาล กินเจและสถานศึกษาปิดภาคเรียน จึงทำให้ความต้องการบริโภคลดลง

สำหรับหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีลดลงร้อยละ 0.05 สาเหตุจากการลดลงของ หมวดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ร้อยละ 1.14 จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก และหมวดค่าของใช้ส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 0.12 ได้แก่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ครีมนวดผม แป้งผัดหน้า ตามการส่งเสริมการจำหน่าย ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ก๊าซหุงต้ม ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าทัศนาจรต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ยาสูบและสุรามีราคาสูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบ

และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2556

ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2556 เท่ากับ 105.76 (เดือนกันยายน 2556 เท่ากับ 105.58)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.17

2.2 เดือนตุลาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.46

2.3 เทียบเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.27

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2556 เทียบกับเดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.17 (เดือนกันยายน 2556 ลดลงร้อยละ 0.16) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.61 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.05

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.61 (เดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.16) จากการสูงขึ้นของราคาหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งสาลี วุ้นเส้น เต้าหู้ อาหารธัญพืช ขนมอบ) หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.34 เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ลดลง โดยหมวดผักสด ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 9.42 (ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง ใบกะเพรา ผักคะน้า ผักกาดหอม มะเขือ มะเขือเทศ หัวผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ) หมวดผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 0.67 (เงาะ ลำไย แก้วมังกร มะม่วง ชมพู่ ลองกอง) หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.50 (แยมผลไม้ มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด)น้ำปลา ซอสหอยนางรม กะปิ เครื่องปรุงรส) หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา น้ำอัดลม น้ำผลไม้) และหมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.14 จากการสูงขึ้นของอาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ0.10 (แฮมเบอร์เกอร์ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด กับข้าวสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง) อาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 0.21 (อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง)อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) ในขณะที่หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ 0.21 (เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู หมูหยอง ไส้กรอก ไก่สด ปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาจะละเม็ด ปลาทู ปลาสำลี ปลาโอ หอยลาย กบ) และหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 0.14 (ไข่ไก่ ครีมเทียม)

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.05 (เดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.15) จากการลดลงของหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ดัชนีลดลงร้อยละ 1.14 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (เบนซิน 95 ดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91,95, E20 และE85) สาเหตุจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ นอกจากนี้ สินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาลดลง ได้แก่ ค่าของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.12 (ยาสีฟัน แชมพูสระผม น้ำมันใส่ผม ลิปสติก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม แป้งผัดหน้า)

ขณะที่หมวดสินค้าและบริการอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.04 จากการสูงขึ้นของกลุ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้าบุรุษ ร้อยละ 0.03 (เสื้อกล้าม เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ ถุงเท้าบุรุษ) เสื้อผ้าสตรี ร้อยละ 0.01 (เสื้อยกทรง) เสื้อผ้าเด็ก ร้อยละ 0.04 (ชุดเด็กอ่อน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) ค่าจ้างตัดเย็บและอุปกรณ์ ร้อยละ 0.11 (ค่าจ้าง/ซักรีด) และผลิตภัณฑ์รองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.09 (รองเท้าหุ้มส้น หนังบุรุษ รองเท้าผ้าใบบุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ร้อยละ 0.27 เชื้อเพลิงในบ้าน ร้อยละ 2.59 (ก๊าซหุงต้ม ถ่านไม้) แสงสว่าง ร้อยละ 0.26 (หลอดไฟฟ้า) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในบ้าน ร้อยละ 0.10 (จาน/ชาม หม้อ กระทะ) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.45 (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยา ล้างห้องน้ำ ไม้กวาด น้ำยาซักแห้ง สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาขจัดคราบสกปรกของเสื้อผ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.04 จากการสูงขึ้นของค่าตรวจรักษาและค่ายา ร้อยละ 0.25 (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ไอ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน(คนไข้นอก) ค่าตรวจรักษาโรค/ค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐบาล) ค่าบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.23 (ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี ค่ายืดผม) หมวดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว ร้อยละ 0.21 (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.09 (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา)

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนตุลาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.46 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.87 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.57 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 9.88 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 8.51 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.10 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 1.27 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ 0.77 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.30 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.75 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.91 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.86 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.66 หมวดพาหนะ การขนส่ง และ การสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.59 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.49 และ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.52

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.27 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.40 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.62 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 1.00 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.28 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.65 ผักและผลไม้ ร้อยละ 7.28 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.65 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.25 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.60 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.84 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 2.10 หมวดการตรวจรักษาและบริการ ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.92 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.39 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.49 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 6.25

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 27 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2556 เท่ากับ 103.35 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.12

6.2 เดือนตุลาคม 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.71

6.3 เทียบเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.03

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.12 สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป โซดา น้ำอัดลม น้ำผลไม้) หมวดอาหารสำเร็จรูป ประกอบด้วย อาหารบริโภค- ในบ้าน (แฮมเบอร์เกอร์ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด กับข้าวสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง) และอาหารบริโภค- นอกบ้าน (อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อกล้าม เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ กางเกงขายาวบุรุษ ถุงเท้าบุรุษ เสื้อยกทรง ชุดเด็กอ่อน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ รองเท้าผ้าใบบุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก) หมวดเคหสถาน (ถ่านไม้ หลอดไฟฟ้า จาน/ชาม หม้อ กระทะ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด น้ำยาซักแห้ง สารกำจัดแมลง/ไล่แมลง น้ำยาขจัดคราบสกปรกของเสื้อผ้า) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ไอ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาคุมกำเนิด ยาหม่อง ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน(คนไข้นอก) ค่าตรวจรักษาโรค/ค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐบาล ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี ค่ายืดผม) หมวดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางโอกาสพิเศษและท่องเที่ยว (ค่าทัศนาจรต่างประเทศ) และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สุรา)

เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนตุลาคม 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ