ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 3, 2013 10:20 —กรมการค้าภายใน

อัตราเงินเฟ้อของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 สูงขึ้นเล็กน้อย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2556 เท่ากับ 105.86 เทียบกับเดือนตุลาคม 2556 เปลี่ยนแปลงสูงขึ้นร้อยละ 0.09 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้น ร้อยละ 1.92 ( เดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 1.46 ) เป็นอัตราเพิ่มสูงขึ้น จากหมวดอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิง และเมื่อเทียบดัชนีเฉลี่ยเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2556 จากช่วงเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.24 การสูงขึ้นของเงินเฟ้อทั้งปี เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ได้แก่ อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าประเภทเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ส่วนหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับสูงขึ้นไม่มากนัก โดยภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยปี 2556 ยังอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพ โดยอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ คือ อยู่ระหว่างร้อยละ 2.10 - 2.60

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.09 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นสำคัญ รวมทั้งอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง และข้าวราดแกง เป็นต้น ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ ไก่ ไข่ ผักและผลไม้ มีราคาลดลง

สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 0.09 จากการเพิ่มขึ้นของหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 0.36 เป็นสำคัญ สาเหตุจากสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ขณะที่สินค้าเกี่ยวกับการทำความสะอาดมีราคาลดลง เช่น ผงซักฟอก และน้ำยาล้างจาน เนื่องจากการส่งเสริมการจำหน่ายของผู้ประกอบการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 450 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤศจิกายน 2556 เท่ากับ 105.86 ( เดือนตุลาคม 2556 เท่ากับ 105.76 )

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09

2.2 เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.92

2.3 เทียบเฉลี่ย 11 เดือน ( มกราคม - พฤศจิกายน ) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.24

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 เทียบกับเดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ( เดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.17 ) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.09 และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.09

3.1 ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ( เดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.61 ) จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าว ร้อยละ 0.34 ( ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ) หมวดปลาและสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.42 ( ปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาสำลี กุ้งนาง กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลาหมึกกล้วย หอยแครง ปลาทูนึ่ง ) หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.96 (กะทิสำเร็จรูป มะพร้าว(ผลแห้ง/ขูด) ขนมหวาน ไอศกรีม น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม กะปิ ผงชูรส ) หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำผลไม้ น้ำแข็ง กาแฟ(ร้อน/เย็น) กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ) หมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.62 จากการสูงขึ้นของอาหารบริโภค-ในบ้านร้อยละ 0.61 ( กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง ) และอาหารบริโภค-นอกบ้านร้อยละ 0.64 ( อาหารเช้า อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง) ) ขณะที่สินค้าสำคัญ ๆ ที่มีราคาลงลด ได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 0.83 ไก่สด ร้อยละ 0.81 ไข่ ร้อยละ 3.65 ( ไข่ไก่ ไข่เป็ด ) และผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 1.63 จากผักสดร้อยละ 1.61 ( กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักคะน้า เห็ด ผักบุ้ง ผักชี มะเขือ มะนาว ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักกาดหอม ) ผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.26 ( กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก สับปะรด องุ่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง ส้มโอ มะพร้าวอ่อน ) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของสัตว์และการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

3.2 ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ( เดือนตุลาคม 2556 ลดลงร้อยละ 0.05 ) จากดัชนี หมวดน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 0.36 ( น้ำมันเบนซิน95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ (91/95)/ E(20/85) ) จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.06 จากค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.03 ราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 0.03 ( เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ปูนซีเมนต์ อิฐ ) ค่าแรง สูงขึ้นร้อยละ 0.05 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้นร้อยละ 2.76 หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.15 จากค่ายาที่สูงขึ้นร้อยละ 0.37 ( ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไข้หวัด ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาวิตามิน/อาหารเสริม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ ) ค่าของใช้ส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.14 ( สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ ครีมนวดผม ผ้าอนามัย แป้งผัดหน้า ) และค่าบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.47 ( ค่าแต่งผมชาย ค่าดัดผมสตรี ค่าโกรกผม ) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ( แผ่นดิสก์ อาหารสัตว์เลี้ยง ค่าถ่ายเอกสาร เครื่องถวายพระ ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.02 ( เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ กางเกงชั้นในบุรุษ เสื้อยกทรง รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก ) หมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.67 ( เบียร์ ไวน์ สุรา ) ขณะที่หมวดสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดมีราคาลดลงร้อยละ 0.04 ( ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ) ตามการส่งเสริมการจำหน่ายที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำยอดขายในช่วงปลายปี

4. พิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.92 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.85 โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 1.68 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 8.51 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 6.98 ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 5.45 เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 2. 16 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น ร้อยละ 0.57 และอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.88 สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.86 จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.90 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.83 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.73 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.84 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้นร้อยละ 0.50 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.853

5. พิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2556 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 2.24 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 3.45 ตามการสูงขึ้นของหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 1.07 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.48 ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.87 ผักและผลไม้ ร้อยละ 7.10 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.79 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.19 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 1.63 และดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.55 ตามการสูงขึ้นของดัชนีหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.84 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 1.99 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 0.90 หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 1.34 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ร้อยละ 0.49 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 6.02

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ( คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 312 รายการ ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 138 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 28 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 เท่ากับ 103.54 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.18

6.2 เดือนพฤศจิกายน 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.85

6.3 เทียบเฉลี่ย 11 เดือน ( มกราคม - พฤศจิกายน ) 2556 กับระยะเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 1.02

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2556 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 สูงขึ้นร้อยละ 0.18 สินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถาน ( ค่าเช่าบ้าน เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ปูนซีเมนต์ อิฐ ค่าแรงกระเบื้องปูพื้น ก๊าซหุงต้ม ) หมวดอาหารสำเร็จรูป ประกอบด้วย อาหารบริโภค-ในบ้าน ( กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว ปลากระป๋อง อาหารว่าง ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ) และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ( อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง) )หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ( ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไข้หวัด ยาฆ่าเชื้อรา ยาคุมกำเนิด ยาวิตามิน/อาหารเสริม ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว กระดาษชำระ ครีมนวดผม ผ้าอนามัย แป้งผัดหน้า ค่าแต่งผมชาย ค่าดัดผมสตรี ค่าโกรกผม) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา ( แผ่นดิสก์ อาหารสัตว์เลี้ยง ค่าถ่ายเอกสาร เครื่องถวายพระ ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ( เสื้อแจ็กเก็ตบุรุษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ กางเกงชั้นในบุรุษ เสื้อยกทรง ถุงน่อง ถุงเท้านักเรียน รองเท้าแตะฟองน้ำบุรุษ รองเท้าผ้าใบนักเรียนเด็ก ) หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ( เครื่องดื่มรสชอกโกแลต น้ำผลไม้ น้ำแข็ง กาแฟ (ร้อน/เย็น) ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ) หมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ( เบียร์ ไวน์ สุรา ) เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5 - 3.0

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือนพฤศจิกายน 2556 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ