ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน ตุลาคม 2551

ข่าวทั่วไป Monday November 3, 2008 15:06 —กรมการค้าภายใน

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2551 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 374 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2551

ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2551 เท่ากับ 123.0 (เดือน กันยายน 2551 คือ 124.5)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2551 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.2

2.2 เดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 3.9

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 10 เดือนแรก(มกราคม - ตุลาคม) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.3

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2551 เทียบกับเดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.2 (กันยายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.2) เป็นอัตราที่ลดลงค่อนข้างมาก สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารสดประเภทข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวผักและผลไม้ปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากประกอบกับสภาวะอากาศที่เย็นลงเอื้ออำนวยต่อพื้นที่เพาะปลูก มีผลให้ปริมาณผลผลิตผักสดและผลไม้บางชนิดออกสู่ตลาดมาก ในขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศมีการปรับลดลงมากตามภาวะตลาดโลก

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนกันยายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.7) สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 1.2 สินค้าที่สำคัญได้แก่ ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื่องจากเป็นช่วงข้าวนาปีออกสู่ตลาด ผักและผลไม้ร้อยละ 0.9 ได้แก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักชี ถั่วฝักยาว ส้มเขียวหวาน องุ่นและแอ๊ปเปิ้ล เป็นผลจากอากาศเย็นทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก นอกจากนี้ ไก่สดและเนื้อสุกร ลดลงร้อยละ 3.3 และ 0.9 ตามลำดับ สำหรับหมวดสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 1.0 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.9 (เช่น กาแฟผงสำเร็จรูปและน้ำผลไม้ เป็นต้น) นมและผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.1 (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมสด นมเปรี้ยวและครีมเทียม) และเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.3

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นอัตราลดลงที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า (เดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.8 ) สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศลดลงร้อยละ 12.1 ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีค่าโดยสารรถประจำทางธรรมดาและปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชน, ค่าโดยสารรถธรรมดาและปรับอากาศของรถร่วมปรับลดลง 1.50 บาทและ1บาท ส่วนค่าโดยสารรถเมล์เล็ก(มินิบัส) ปรับลดลง 1 บาท ในส่วนของค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศในต่างจังหวัด ปรับลดลง 3 สตางค์ต่อกม. ซึ่งมีผลตั้งแต่ วันที่ 28 ตุลาคม 2551 ถึงแม้ในเดือนนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามีการปรับค่า Ft สูงขึ้น เป็น 0.7770 บาทต่อหน่วย มีผลให้ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ก็ตาม นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทำความสะอาดปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 1.6 เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจานรวมถึงของใช้ส่วนบุคคลประเภท สบู่ถูตัว แชมพูสระผม แป้งทาผิว และกระดาษชำระ สูงขึ้นร้อยละ 0.3

4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนตุลาคม 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.9 ปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของ ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 14.0 ซึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 25.4 ผักและผลไม้ร้อยละ 18.2 เครื่องประกอบอาหารร้อยละ 16.3 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 13.9 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 11.3 และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 10.5 ในขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 2.4 โดยเป็นผลจากการลดลงของดัชนีหมวดเคหสถาน ร้อยละ 7.6 และหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ร้อยละ 0.1

5. ถ้าพิจารณาเทียบกับดัชนีราคาเฉลี่ย 10 เดือนแรก (มกราคม - ตุลาคม 2550) สูงขึ้นร้อยละ 6.3 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 27.7 เป็นสำคัญโดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 10.9 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 3.4

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 108 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2551 เท่ากับ 108.6 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนกันยายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.1

6.2 เดือนตุลาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.4

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 10 เดือนแรก (มกราคม - ตุลาคม 2550) สูงขึ้นร้อยละ 2.4

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ