ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน กันยายน 2552 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2552

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2009 13:24 —กรมการค้าภายใน

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2552 และระยะ 9 เดือนของปี 2552 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล

พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกันยายน 2552 เท่ากับ 105.3 (เดือนสิงหาคม 2552 คือ 105.1)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2

2.2 เดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.0

2.3 เฉลี่ยระยะ 9 เดือน ( มกราคม - กันยายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.7

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกันยายน 2552 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ( เดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญเป็นผลกระทบจากราคาอาหารและสินค้าบางชนิดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้ ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ค่าของใช้ส่วนบุคคลและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ในขณะที่สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศที่ปรับลดลง ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ราคาเริ่มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เป็นผลกระทบจากราคาอาหารและสินค้าประเภท เนื้อสุกร ไก่ย่าง และเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ( เดือนสิงหาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.1 ) สาเหตุสำคัญเป็นผลจากราคาอาหารหลายชนิดได้มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ร้อยละ 1.2 ( ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว) เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปียังไม่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดลดลง ผักและผลไม้ ร้อยละ 8.2 ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว เห็ด กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักชี มะนาว พริกสด ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง และแตงโม เป็นผลจากการที่ฝนตกชุกทำให้ผักบางชนิดได้รับความเสียหายประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลสารทจีน ทำให้ความต้องการมีมากขึ้น ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.3 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.3 (น้ำมันพืช น้ำปลา ซีอิ๊วและซอสหอยนางรม) และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.1 ( ข้าวผัด อาหารเช้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลงได้แก่ เนื้อสุกร ร้อยละ 0.2 เป็นผลจากความต้องการบริโภคลดลงในช่วงปิดภาคการศึกษา และไก่ย่าง ร้อยละ 5.4 ผู้ประกอบการปรับราคาลงเพื่อส่งเสริมการขาย

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.2 เป็นอัตราลดลงจากเดือนก่อนหน้า ( เดือนสิงหาคม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ร้อยละ 2.9 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ราคาเริ่มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และเครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร ร้อยละ 0.3 ( เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ) สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัดสุก่อสร้าง ร้อยละ 1.6 ( ปูนซีเมนต์และแผ่นไม้อัด) ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาดและค่าของใช้ส่วนบุคคล ( ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผมและผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.2 ( เบียร์ และสุรา )

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.0 เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 8.8 ( น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะและอุปกรณ์ยานพาหนะ ) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 10.1 ( ค่าเล่าเรียน, ค่าธรรมเนียมการศึกษา, หนังสือและอุปกรณ์การศึกษา ) และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 3.4 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) อย่างไรก็ตามยังมีดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น ร้อยละ 0.9 ( เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารสำเร็จรูป ) สำหรับดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น คือ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 13.7 ( ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ) หมวดเคหสถาน ร้อยละ 4.4 ( ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และวัสดุก่อสร้าง ) และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.3 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลและค่าของใช้ส่วนบุคคล )

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับระยะ 9 เดือน (มกราคม - กันยายน ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 1.7 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 21.9 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 17.7 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 24.4 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 1.8 ( เครื่องแบบนักเรียนอนุบาลและมัธยมชาย,หญิง ) ส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 6.9 ในขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 5.5 เป็นผลจาก การสูงขึ้นของ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 3.4 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 6.6 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.7 ผักและผลไม้ ร้อยละ 6.4 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 4.5 เป็นสำคัญ

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกันยายน 2552 เท่ากับ 102.6 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนสิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1

6.2 เดือนกันยายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.1

6.3 เฉลี่ยระยะ 9 เดือน ( มกราคม- กันยายน ) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกันยายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือน สิงหาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ( เดือนสิงหาคม โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ) เป็นผลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าที่มีทั้งที่สูงขึ้นและลดลง โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง คือ เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร

--สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กรมการค้าภายใน--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ