ข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการการลงทุนของอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 11:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ประเภทของการลงทุนต่างชาติ

การลงทุนจากต่างประเทศในอินโดนีเซียจะรวมถึงการลงทุนทางตรงและการลงทุนทางอ้อม โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) จะเป็นการลงทุนในระยะยาวในสินทรัพย์ ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องมือ และโรงงาน เป็นต้น

ภายใต้กฎหมายการลงทุน ปี 2007 กำหนดไว้ว่า การลงทุนโดยตรงของบริษัทต่างประเทศในอินโดนีเซีย นั้น รัฐบาลอินโดนีเซียอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ การตั้งบริษัทตัวแทน (Representative Office : RO) และการลงทุนของบริษัทต่างประเทศ ทั้งการผลิต การค้า บริการและธุรกิจอื่นๆ (Penanaman Modal Asing : PMA)

บริษัทตัวแทนดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการขายตรง หรือมีการทำธุรกรรมซื้อ-ขายทางธุรกิจ เช่น การยื่นประมูล/ประกวดราคา การจัดจำหน่าย และการทำสัญญาทางธุรกิจใดๆ ดังนั้น กิจกรรมจึงจำกัดเพียงเรื่องของการทำตลาด การทำวิจัยตลาด และการเป็นตัวแทนในการซื้อ และขาย

การลงทุนของบริษัทต่างประเทศ (PMA) เป็นรูปแบบทั่วไปของนักลงทุนลงทุนต่างประเทศที่ต้องการจะทำธุรกิจในอินโดนีเซีย ดังนั้น จึงสามารถจัดตั้งบริษัทบริษัทได้ทั้งในรูปแบบของการร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนอินโดนีเซีย หรือนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นร้อยละ 100

แม้ว่านโยบายเศรษฐกิจจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ แต่การออกใบอนุญาตการลงทุนจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซีย (Investment Coordinating Board: BKPM) อย่างไรก็ดีใบอนุญาตการลงทุนในบางภาคธุรกิจ เช่น การลงทุนในเรื่องพลังงานและเหมืองแร่ การธนาคาร ภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารนั้นยังเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ธนาคารแห่งอินโดนีเซีย และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

2. การขออนุญาตการลงทุน

โดยหลักการแล้วบริษัทต่างประเทศทุกบริษัทที่มีแผนจะดำเนินการลงทุนในอินโดนีเซียจะต้องยื่นขอใบอนุญาตการลงทุนจาก BKPM หรือ คณะกรรมการความร่วมมือด้านการลงทุน(Investment Coordinating Board) ทั้งนี้ BKPM จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและออกใบอนุญาตในการลงทุนสาขาต่างๆ เช่น การธนาคาร การเงิน พลังงานและเหมืองแร่ และการยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าว บริษัทจะต้องลงทุนเป็นเงินขั้นต่ำ 200,000 เหรียญสหรัฐ และจะต้องมีเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 100.000 เหรียญสหรัฐ

ตามกฎระเบียบของรัฐบาล PP เลขที่ 111 ในปี 2007 บริษัทต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนของโครงการลงทุนน้อยกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ หรือในสาขาธุรกิจที่รัฐบาลได้จัดสรรไว้แล้วให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กตามที่กำหนดในกฎระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดสาขาของธุรกิจที่ไม่สามารถลงทุนได้ ธุรกิจสาขาการลงทุนใหม่ และธุรกิจการลงทุนที่สามารถลงทุนได้ เช่น ใบอนุญาตในการทำธุรกิจธนาคาร จะออกโดยธนาคารแห่งชาตอินโดนีเซีย ส่วนใบอนุญาตบริษัทการเงินต่างๆ จะออกโดยกระทรวงการคลัง และใบอนุญาตในการลงทุนสาขาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติจะออกโดยกระทรวงพลังงานและทรัพยากร

ทั้งนี้ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนของใบอนุญาตการลงทุน นักลงทุนต่างชาติจะต้องศึกษากฎระเบียบการลงทุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน ซึ่งภาคการลงทุนบางประเภทจะไม่เปิดหรือไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการ และการลงทุนบางประเภทที่มีการจำกัดอัตราการถือหุ้นหรือความเป็นเจ้าของกิจการของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งอาจต้องมีใบอนุญาตพิเศษด้วย และภาคการลงทุนที่เปิดหรือไม่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินการนั้น จะกำหนดอยู่ใน Investment Negative List ซึ่งอยู่ในกฎระเบียบของรัฐ เลขที่ 111 ปี 2007 ซึ่งหลังจากที่ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องจนเข้าใจชัดเจนแล้ว นักลงทุนก็สามารถเริ่มดำเนินการขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องได้

3. ขั้นตอนการขออนุญาตการลงทุน

การลงทุนจากต่างประเทศโดยส่วนใหญ่จะต้องมีใบอนุญาตดำเนินธุรกิจอย่างถาวร (permanent business permit: IUT) ซึ่งขั้นตอนการลงทุนจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ การอนุมัติให้ดำเนินการลงทุน (investment approval phase) การก่อสร้าง (construction phase) และการดำเนินธุรกิจ (commercial phase)

1. ขั้นตอนอนุมัติการลงทุน (Investment approval phase) คือ ขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตลงทุน

ซึ่งการสมัครหรือขออนุญาตการลงทุนจะดำเนินการก่อนการจัดตั้งบริษัทใหม่หรือจะดำเนินการตั้งบริษัทก่อนการขออนุญาตก็ได้ ทั้งนี้ หากเป็นการลงทุนใน bonded zone การยื่นขออนุญาตจะต้องยื่นต่อผู้มีอำนาจใน bonded zone ดังกล่าว โดยทั่วไปการยื่นขออนุญาตลงทุนจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการอนุมัติในเบื้องต้น (initial approval: SPPP BKPM) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับ 3 ปี โดยหลังจากที่ได้รับการอนุมัติเบื้องต้น ผู้ลงทุนก็จะดำเนินการจัดตั้งบริษัท (PT) โดยใช้ Indonesian notary public ซึ่งจะมีเอกสารที่จำเป็นที่แสดงว่าได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน (Ministry of Justice and Human Rights) ภายหลังจากที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ลงทุนก็จะได้รับเอกสารประกอบการหรือเอกสารจัดตั้งบริษัท (notaries document) ซึ่งจะลงพิมพ์ในพระราชกฎษฎีกา (State Gazatte) โดยขั้นตอนต่อไปก็คือการลงทะเบียนที่อยู่ของบริษัทกับรัฐบาลท้องถิ่นและเทศบาล นอกจากนี้ นักลงทุนก็จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ชำระภาษีเพื่อให้ได้เลขทะเบียนผู้เสียภาษี (Tax Payer Registration Number: NPWP) และเลขที่ยื่นยันนักธุรกิจผู้เสียภาษี (Taxable Businessman Confirmation Number: NPPKP)

ทั้งนี้หลังจากที่ดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ครบแล้ว ผู้ขออนุญาตก็จะได้รับหนังสืออนุมัติถาวรสำหรับการลงทุน (Permanent Approval Letter: SPT) ซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้

2. ขั้นตอนการก่อสร้าง (Phase of Construction)

การบริหารจัดการและใบอนุญาตที่เกี่ยวกับขั้นตอนการก่อสร้างนี้ ส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน (BKPM) ซึ่งรวมถึงใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้าจำกัด (Limited Importer License: APIT) แผนกำลังคน (RPTKA/ TA.01) ใบอนุญาตนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบพื้นฐาน (ซึ่งต้องเสนอต่อ BKPM โดยผ่าน Sucofindo ซึ่งเป็นบริษัท Surveyor) สำหรับใบอนุญาตที่ต้องดำเนินการกับหน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้ง (Location Permit) ซึ่งจะออกโดยสำนักงานท้องถิ่นของสำนักงานที่ดิน (BPN) โดยใบอนุญาต HGU สำหรับที่ดินที่มีพื้นที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 เฮกเตอร์ จะออกโดย BPN และใบอนุญาต HGU สำหรับที่ดินที่มีพื้นที่น้อยกว่า 200 เฮกเตอร์ จะออกโดยสำนักงานจังหวัดของ BPN (provincial office) สำหรับใบอนุญาต HGB จะออกโดยสำนักงานตำบลของ BPN (district/ city office) โดยยังมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (Permit for Building Construction: IMB) ด้วย ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะต้องส่งรายงานให้ BKPM ทุก 6 เดือน

3. ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ (Commercial Phase)

ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวร (Permanent business license: IUT) ซึ่งจะออกให้กับบริษัทเมื่อบริษัทได้ดำเนินการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่กำหนด ได้แก่ ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกจากกระทรวงการค้า และแผนกำลังคนจากกระทรวงแรงงาน โดยภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานผู้มีอำนาจ ผู้ลงทุนก็จะได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวร (IUT) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับถึง 30 ปี

4. ขั้นตอนในการลงทุนและเอกสารที่จำเป็นต้องใช้

ขั้นตอนแรกของการลงทุนก็คือการยื่นขออนุญาตลงทะเบียนการลงทุน (investment registration) ต่อหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน (BKPM) โดยต้องยื่นเอกสารสำคัญประกอบ ทั้งนี้หากโครงการลงทุนอยู่ใน bonded zone ก็จะต้องยื่นขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจในเขตปลอดอากร (Bonded zone) ดังกล่าว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถยื่นคำขอดังกล่าวได้ที่สถานทูตอินโดนีเซียในแต่ละประเทศ หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตการลงทุน (PMA License) ขั้นตอนต่อไปคือ จะต้องดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำกัด (Perseroan Terbatas — PT) และยื่นใบอนุญาตขอรับการส่งเสริมการลงทุน

บริษัทจำกัด หรือ PT นั้น ตามกฎหมายกำหนดให้อำนาจของบริษัทอย่างน้อยต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลเทียบเท่ากับบริษัทอินโดนีเซีย หรือมากกว่า ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้มีอำนาจจะต้องได้รับการแต่งตั้งโดยผู้มอบอำนาจ หรือผู้มอบฉันทะ โดยผู้ก่อตั้งบริษัทแต่ละคนจะได้รับการถือครองหุ้นของบริษัทได้

เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการจดทะเบียนบริษัท ได้แก่ เอกสารการจัดตั้งบริษัท(company’s notarial document) ที่เป็นภาษาอินโดนีเซีย สำเนาเลขทะเบียนผู้เสียภาษี (tax registration number: NPWP) หนังสืออนุญาตการจัดตั้งบริษัทจากกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหนังสือแนะนำ (recommendations) จากกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

เอกสารการจัดตั้งบริษัทจะได้รับการรับรองจาก Indonesian Notary Public โดยผู้ลงทุนจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีด้วย (NPWP) และเลขทะเบียนยืนยันนักธุรกิจที่เสียภาษี (NPPKP)

ขั้นตอนที่สองคือการขอใบอนุญาต ดังต่อไปนี้

1. ใบอนุญาตผู้นำเข้าจำกัด (Limited Importer License: APIT)

2. ใบอนุมัติแผนกำลังคน (Manpower plan approval: RPTK)

3. หนังสืออนุมัติศุลกากร (มีรายการสินค้าทุน)

4. หนังสืออนุมัติศุลกากร (มีรายการของวัตถุดิบ)

ใบอนุญาตทั้งสี่ดังกล่าวจะขออนุญาตดำเนินการที่ BKPM สำหรับใบอนุญาตที่ต้องดำเนินการกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ได้แก่

1) ใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้ง (Location Permit)

2) โฉนดที่ดิน (Land Title)

3) ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

4) ใบอนุญาตสำหรับ Hindrance Act (HO/ UUG)

ใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้งนั้นมีความจำเป็นในการจัดการที่ดิน (land clearing) ใบรับรองการใช้ประโยชน์ของที่ดินสำหรับอาคาร (HGB) นั้นต้องใช้สำหรับการก่อสร้างและการใช้ประโยชน์ในอาคารที่ดินสำหรับการดำเนินธุรกิจ สำหรับ HGU นั้นต้องใช้สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน IMB นั้นต้องใช้สำหรับการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและอาคาร และใบอนุญาตสำหรับ Hindrance Act นั้นจะต้องใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ แล้ว ผู้ลงทุนอาจเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับการผลิต ซึ่งความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมการลงทุนนั้นจะต้องรายงานต่อหน่วยงาน BKPMทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการผลิต ผู้ลงทุนจะต้องยื่นใบอนุญาตทำธุรกิจถาวร (Permanent Business License: IUT) ต่อหน่วยงาน BKPM

สำหรับเอกสารที่ใช้ประกอบการขอใบอนุญาตทำธุรกิจถาวร ได้แก่

1. สำเนาเอกสารจัดตั้งบริษัท จากกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

2. สำเนาเอกสารการใช้ประโยชน์บนที่ดิน HGB และ HGU หรือเอกสารการซื้อขายที่ดินจากสำนักงานโฉนดที่ดิน (PPAT) หรือสำเนาสัญญาการเช่าที่ดิน

3. หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร พร้อมสำเนา IMB หรือเอกสารการซื้อขายอาคาร

4. สำเนา NPWP

5. สำเนาใบอนุญาต Hindrance Act และใบอนุญาตสำหรับทำเลที่ตั้ง

6. สำเนาการอนุมัติแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Plan: RKL) สำหรับธุรกิจที่ต้องการ AMDAL และแผนการควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environmental Monitoring Plan) ซึ่งไม่ต้องการ AMDAL

7. ใบมอบอำนาจที่มีอากรแสตมป์ 6,000 รูเปีย สำหรับการขออนุญาตดำเนินการโดยตัวแทน (proxy)

8. สำเนารายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมการลงทุน

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวรจากหน่วยงานรัฐบาลส่วนจังหวัดแล้ว ผู้ลงทุนก็จะได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจถาวร (IUT) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับถึง 30 ปี และเมื่อได้รับ IUT แล้ว ผู้ลงทุนก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำกิจกรรมทางธุรกิจต่อไป

5. ขั้นตอนของการจัดตั้งบริษัทตัวแทน (Representative Office)

บริษัทต่างประเทศที่เป็นบริษัทตัวแทน (Kantor Perwakilan Perusahaan Asing : KPPA) ที่มิใช่ธุรกิจสาขาการเงินจะต้องจัดตั้งขึ้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธาน BKPM การยื่นขออนุญาต/ขอความเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัทดัวแทนดังกล่าว ผู้ยื่นขอจะต้องยื่นสำเนารูปแบบการจัดตั้งบริษัทตัวแทน (Model KPPA) จำนวน 2 ชุดให้แก่หน่วยงาน BKPM พร้อมเอกสารต่างๆ ดังนี้

1. หนังสือคำแถลงของสมาคมบริษัทต่างประเทศที่เป็นตัวแทน

2. หนังสือแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจากบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารบริษัทตัวแทนในต่างประเทศ

3. สำเนาหนังสือเดินทาง (คนต่างชาติ) หรือสำเนาบัตรประจำตัว (คนอินโดนีเซีย) ผู้ซึ่งจะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารของบริษัทตัวแทนในต่างประเทศ

4. จดหมายยืนยันความตั้งใจในการพักอาศัย และการทำงานในตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารของบริษัทตัวแทนในต่างประเทศ โดยมีข้อจำกัดว่าจะไม่ทำงาน/ธุรกิจอื่นใดในประเทศอินโดนีเซีย

5. กรณีที่ผู้บริหารของบริษัทต่างประเทศมิได้ยื่นคำขอเองจะต้องมอบอำนาจให้กับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ (Power Attorney) เป็นผู้ดำเนินการลงลายมือชื่อในคำขอ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ