สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และสถานการณ์การนำเข้าจากไทย เดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 16, 2010 10:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

1.1 ประมาณการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ของสหราชอาณาจักรทั้งปี 2553 โดย Office of Budget Responsibility ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระตั้งโดยกระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เทียบกับปี 2552 ที่เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวติดลบที่ร้อยละ -5.0

1.2 สำหรับปี 2554 คาดว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยจะมีการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก เป็นตัวช่วยหลัก ซึ่งการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในปี 2553 และการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อไป

1.3 อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคาดการณ์ดังกล่าวของภาครัฐ เนื่องจากในปีหน้าจะมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ตกงานจะยังมีจำนวนสูงมาก ประกอบกับภาครัฐจะเริ่มตัดการใช้จ่ายในปีหน้า นอกจากนี้ การส่งออกไม่น่าจะดีขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญของสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ และที่สำคัญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงที่จะกระทบหลายประเทศ เริ่มจากโปรตุเกศ และอาจลามไปยังสเปน และอิตาลี

1.4 ในส่วนของเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังคงเปราะบาง เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยอัตราการว่างงานในปี 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.0 เทียบกับร้อยละ 7.9 ในปี 2553 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2554 และที่สำคัญ หนี้สาธารณะ (government debt) ต่อ GDP คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 69.1 ในปี 2554 จากร้อยละ 66.3 ในปี 2553 แม้ว่ารัฐบาลจะตัดงบประมาณรายจ่ายลงก็ตาม

1.5 สำหรับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศทบทวนการจัดสรรงบประมาณภาครัฐครั้งใหญ่ประจำฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ (Autumn’s Comprehensive Spending Review) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ซึ่งมีรายละเอียดของแนวทางการปรับลดรายจ่ายภาครัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้าลงจำนวน 81 พันล้านปอนด์ โดยจะเน้นไปที่การปรับลดสวัสดิการสังคมของภาครัฐ การลดสิทธิประโยชน์ของผู้มีรายได้สูงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้มีรายได้น้อย เช่น การลดสิทธิประโยชน์ในการเลี้ยงดูบุตรของผู้มีรายได้สูง การลดเงินช่วยเหลือค่าเชื้อเพลิงในช่วงฤดูหนาว/ค่าเดินทาง/ค่าใบอนุญาตโทรทัศน์สำหรับผู้เกษียญอายุที่มีรายได้สูง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเน้นถึงการลดขนาดรายจ่ายของภาครัฐรายกระทรวงควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยราชการ เช่น การปรับลดรายจ่ายงบประมาณของหน่วยราชการในสาขาต่างๆลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 19

1.6 ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ มีมติให้คงนโยบายรับซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน จานวน 200 พันล้านปอนด์ตามมาตรการ Quantitative Easing : QE ไว้ตามเดิม ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังอยู่ในระดับสูง เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี

2. สถานการณ์นำเข้าโดยรวมจากประเทศไทย

2.1 จากตัวเลขทางการล่าสุด ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 สหราชอาณาจักร นำเข้าจากเยอรมันในอันดับ 1 ตามด้วยสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวร์ เบลเยี่ยม ตามลำดับ

2.2 การนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ด้วยมูลค่า 3,033.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.25 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย 10 อันดับแรก คือ

(1) เนื้อไก่/เนื้อปลา/กุ้งแปรรูป มูลค่า 400.1 ล้าน US$ (+17.11%)

(2) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 248.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 255.10

(3) เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 188.70ล้าน US$ (+68.39%)

(4) อัญมณีและเครื่องประดับ 183.60 ล้าน US$ (+3.24%)

(5) แผงวงจรไฟฟ้า 149.60 ล้านเหรียญสหรัฐ (+48.19%)

(6) เสื้อผ้าสำเร็จรูป 134.60 ล้าน US$ (-1.70%)

(7) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 128.70 ล้าน US$ (+14.65%)

(8) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 121.5 ล้านปอนด์ (+65.08%)

(9) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 92.50 ล้าน US$ (-1.43%)

(10) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 82.60 ล้าน US$ (+139.15%)

3. โอกาสทางการค้าของไทย

3.1 อาหารไทยและร้านอาหารไทย

แม้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะเป็นไปอย่างช้าๆและยังคงมีความเปราะบาง แต่การนำเข้าจากประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 นี้ มีอัตราการขยายตัวเป็นบวกแทบทุกรายการ โดยสินค้าอาหารยังคงเป็นรายการนำเข้าอันดับ 1 จากประเทศไทย ซึ่งรายการหลักๆ ได้แก่ ไก่และกุ้งแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็ง ข้าว เป็นต้น ดังนั้น อาหารไทยและร้านอาหารไทยจึงยังมีโอกาสขยายตัวสูงในตลาดนี้

3.2 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

3.3 สินค้าที่เน้นประโยชน์ด้านสุขภาพ (healthy) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco friendly) และมีลักษณะเป็นสินค้า Fair Trade ยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง

3.4 บริการนวดแผนไทยผลิตภัณฑ์สปา สบู่ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

3.5 Creative Business ตลาด computer games ของสหราชอาณาจักรมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในยุโรป คิดเป็นร้อยละ 26 ของตลาดยุโรปโดยรวม โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่เป็น games developers และ publishers มากที่สุดในยุโรป มีบริษัทเกมส์ข้ามชาติจำนวนมากที่เข้ามาตั้ง สำนักงานใหญ่สำหรับภูมิภาคยุโรป นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรเป็นตลาด games console ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีขนาดใหญ่กว่าตลาดฝรั่งเศส (ที่ 2) และเยอรมนี (ที่ 3) รวมกัน อนึ่ง Publishers เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของ value chain ในการพัฒนา computer games เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุน และเป็นผู้รับผิดชอบด้านการตลาด การผลิต และการขาย บริษัท games developers ในสหราชอาณาจักรมัก outsource งานบางส่วนออกไปเพื่อลดต้นทุน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ที่มีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และคอมพิวเตอร์เกมส์

3.6 ตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬา ของที่ระลึก และการเชื่อมโยงการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการร่วมกับธุรกิจการกีฬา จากการที่สหราชอาณาจักรจะการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ทำให้กระแสความนิยมเรื่องกีฬา และ จะทวีบทบาทในวงการธุรกิจทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมากขึ้น ดังนั้น น่าจะเป็นโอกาสที่จะเจาะตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬา ของที่ระลึก และการเชื่อมโยงการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการร่วมกับธุรกิจการกีฬาน่าจะช่วยขยายตลาดการส่งออกได้อีกทางหนึ่ง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ