สรุปสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-สเปน ปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปนและแนวโน้มการส่งออกของไทย

ปี 2553 เป็นปีที่เศรษฐกิจของสเปนมีความผันผวนมาก โดยมีสัญญาณว่าเริ่มจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก แต่ในที่สุดก็กลับแผ่วลงในช่วงหลังเนื่องจากการปรับงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและปัญหาวิกฤติหนี้ที่ส่งผลร้ายกับประเทศต่างๆที่ใช้เงินสกุลยูโร

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มจากกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆที่เป็นหัวใจของนโยบายเศรษฐกิจ ได้แก่ การเงินและตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับลดงบประมาณ ถึงแม้ว่าจะยังดำเนินการได้ไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่ารัฐบาลได้เริ่มจุดประกายการปฏิรูปอย่างรอบด้านที่จะช่วยสร้างความมั่นใจกลับมา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตและสร้างงานต่อไป

ปี 2554 นับว่าเป็นปีแห่งความท้าทาย ความทุ่มเท และความหวัง โดยต้องพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจและทำการปฏิรูปต่างๆให้แล้วเสร็จเพื่อเรียกความเชื่อมั่นทางการเงินระหว่างประเทศกลับคืนมา ทั้งนี้ สเปนเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดท่ามกลางกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงท้ายของปี 2553 และต่อเนื่องมาถึงตอนต้นปี 2554 อันทำให้เกิดความคลุมเครือในยุโรปว่าจะสามารถฟันฝ่าวิกฤติหนี้ท่วมทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนไปได้หรือไม่ ดังนั้น มาตรการเร่งรัดปรับลดอัตราการขาดดุลการคลังให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งดำเนินการปฏิรูประบบการเงิน ปฏิรูประบบสวัสดิการให้ลุล่วงในปีนี้ให้ได้

จากภาคส่วนต่างๆของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐนั้น จะเห็นว่าภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดซึ่งปริมาณรายได้ที่มีไว้สำหรับใช้จ่ายก็หดตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2553 เนื่องมาจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการปรับลดเงินเดือนข้าราชการหรือการไม่ขึ้นเงินเดือนของภาคเอกชน และปัญหาการว่างงานที่สูงมาก ในปี 2554 ผู้ที่ตกงานก็จะได้รับเงินช่วยเหลือลดลงไปอีก โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะไม่ได้เงินช่วยเหลือจำนวน 426 ยูโรต่อเดือนอีกต่อไป เงินช่วยเหลือจากการมีบุตรก็ถูกระงับ รวมทั้งส่วนลดภาษีจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ก็ถูกยกเลิก มาตรการเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดต่ำลง ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่มาจากการขึ้นภาษีและราคาเชื้อเพลิงก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าส่วนเพิ่มของรายได้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบต่อการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศทั้งสิ้น

ภาคธุรกิจก็ต้องเร่งพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาการบริหารผลผลิต คิดค้นนวัตกรรม และขยายตลาดในต่างประเทศ ทั้งนี้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้นเนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงมาก ด้วยเหตุนี้ ช่องทางการขยายตลาดในต่างประเทศดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ยามนี้ที่ไม่สามารถพึ่งพาความต้องการในประเทศได้ ส่วนภาครัฐก็จำเป็นต้องควบคุมรายจ่ายให้ได้ตามเป้าหมายตามนโยบายการสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

หากมาตรการต่างๆสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้และสามารถเรียกคืนความมั่นใจจากต่างชาติกลับมาได้ คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2554 จะเติบโตได้ร้อยละ 1.3 และ อีกเกือบร้อยละ 2 ในปีถัดไป ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างงานและลดปัญหาการว่างงานเรื้อรังได้

จากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสเปนที่ยังประสบปัญหาภายในหลายประการจากวิกฤติหนี้สาธารณะ การเร่งปรับลดการขาดดุลการคลัง และปัญหาการว่างงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขในระยะยาว นอกจากนั้น ยังมีความไม่แน่นอนอื่นๆจากปัจจัยภายนอกที่อาจจะส่งผลกระทบซ้ำเติมได้ทุกขณะ จึงทำให้ความต้องการภายในประเทศยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคยังคงต้องรัดเข็มขัดต่อไปโดยคำนึงถึงระดับราคาสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น สินค้าที่มีโอกาสคือ สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในระดับราคาที่ประหยัด

สินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งมายังสเปน 4 ลำดับแรก ประกอบด้วย เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ยางพารา รถยนต์/อุปกรณ์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง

สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรวมทั้งสินค้าแฟชั่นอื่นๆยังคงมีความต้องการสินค้าระดับราคาต่ำ-ปานกลางจากแหล่งผลิตในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อทดแทนสินค้าราคาแพงจากกลุ่มประเทศในยุโรปด้วยกัน ขณะที่ สินค้าที่มีลักษณะคงทน อย่างเช่น เครื่องปรับอากาศและรถยนต์ อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ที่ขยายตัวค่อนข้างสูงในปีที่ผ่านมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมทั้งผลจากการประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่เป็นตัวเร่งการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค ดังนั้น ความต้องการในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวลดลง

สินค้ายางพารา ก็คาดว่าจะยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น รวมทั้งระดับราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย ขณะที่สินค้ากุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป จะยังคงขยายตัวได้ดี แต่ก็มีการปรับตัวขึ้นลงตามฤดูกาลและต้องจับตาดูความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่งอื่นๆด้วยซึ่งในปีที่ผ่านมาด้วย โดยเฉพาะสินค้ากุ้งจากแถบละตินอเมริกาที่ประสบปัญหาโรคกุ้งระบาด

โดยสรุปในปี 2554 คาดว่าการส่งออกของไทยในสเปนจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 7-10 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะได้ดุลการค้าประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สเปน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ