ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น
ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นในปี 2553 (รวมมินิคาร์) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.5 หรือคิดเป็นจำนวนรวม 4.96 ล้านคัน นับเป็นปีที่มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน เหตุผลสำคัญคือนโยบายการสนับสนุนผู้บริโภคให้ซื้อรถยนต์ใหม่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุน หรือการลดหย่อนภาษีก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายรวมทั้งประเทศก็ยังต่ำกว่าระดับ 5 ล้านคัน/ปี เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ต่างกับตลาดรถยนต์ในประเทศสหรัฐฯซึ่งมีการเติบโตถึงร้อยละ 11.1 ในปี 2010 หรือคิดเป็นจำนวน 11.6 ล้านคัน ที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศจีนมียอดจำหน่ายรถยนต์ถึง 16.4 ล้านคันในระยะเวลาเพียง 11 เดือน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ 10 ลำดับแรกของประเทศจีนนั้นไม่มีรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นติดลำดับเลย (รถยนต์ซึ่งมียอดจำหน่าย Top 10 ในประเทศจีน 4 อันดับมาจากยุโรป 2 อันดับมาจากสหรัฐ และจากผู้ผลิตในประเทศจีน 1 อันดับ และจากประเทศอื่นๆ อีก 3 อันดับ) ส่งผลให้สัดส่วนการตลาดของรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศจีนมีเพียงร้อยละ 22.7 ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศจีน
จากการ หารือกันของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในปี 2010 คาดการณ์ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศจะเริ่มปรับตัวลดลงอีกครั้งในปีนี้หลังสิ้นสุดมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นในแต่ละปี ย่อมส่งผลให้จำนวนผู้ขับขี่รถยนต์ลดลงตามไปด้วย (ประชากรญี่ปุ่นลดลงประมาณ 1 แสนคน จากปี 2009) นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นก็ไม่ใคร่จะมีความสนใจที่จะขับขี่รถยนต์กันมากนัก แม้ว่าในโฆษณาโทรทัศน์จะพยายามใช้กลุ่มคนหนุ่มสาวมาดึงดูดผู้บริโภคใหม่ๆ แต่ในความเป็นจริงผู้ซื้อกลับเป็นคนกลุ่มวัยกลางคนหรือผู้มีอายุแล้วทั้งนั้น ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นจะต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการหรือยอดจำหน่ายรถยนต์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจใหม่ ส่วนการผลิตในประเทศจะต้องเน้นหนักในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่มาก หรือการผลิตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น อาทิ บริษัทนิสสันมอเตอร์ ย้ายการผลิตนิสสันมาร์ชไปยังประเทศไทย และใช้โรงงานที่ว่างนั้นในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าชนิดใหม่ ที่มีชื่อว่า LEAF ซึ่งเป็นการผลิตรถยนต์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย
จากปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สร้างแรงกดดันให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นจึงย้ายการลงทุนออกยังต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับเงินทุนที่ไหลออกจากประเทศญี่ปุ่น โดยในปีที่ผ่านมาส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงงานในประเทศคุ้นเคยกับระบบการทำงานแบบญี่ปุ่นอยู่แล้ว งานแสดงสินค้าเครื่องจักรกล Metalex ซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีผู้ประกอบการญี่ปุ่น และผู้ประกอบการที่ค้าขายกับญี่ปุ่น เข้าร่วมงานถึงร้อยละ 60 โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากโอซากา และเขตโอตะ กรุงโตเกียว
ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาค
ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศมาเลเซียในปี 2010 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 หรือคิดเป็นจำนวน 605,156 คัน นับเป็นสถิติจำหน่ายรถยนต์ที่สูงที่สุดของมาเลเซีย สาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียที่มีความมั่นคงและต่อเนื่อง ผู้จำหน่ายรถยนต์ในมาเลเซียที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่
- Perodua (ผู้ผลิตในประเทศ) มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 31.2
- Proton (ผู้ผลิตในประเทศ) มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 26
- Toyota (ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น) มีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 15.1
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นคร โอซากา
ที่มา: http://www.depthai.go.th