รายงานการเยี่ยมพบผู้นำเข้า (Importer Visit) เดือน มกราคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 3, 2011 15:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลบริษัท (Company Profile)

๑.๑ ชื่อบริษัท (Company’s name)

A Furniture Place Inc.

๑.๒ ที่อยู่ ๓๓๗๕ Laird Road Unit #๑, Mississauga, ON

โทรศัพท์ (๔๑๖) ๖๐๗-๖๗๗๑ โทรสาร (๙๐๕) ๕๖๙-๗๗๕๕

www.afurnitureplace.ca

E-mail : afurnitureplace@yahoo.com

๑.๓ ประเภทของกิจการ (Type of Business)

Manufacturer , Wholesaler , Importer

๑.๔ ข้อมูลบริษัท (Company’s Detail)

ปีที่จัดตั้ง (Year Established): มี.ค. ๒๐๑๐ (เดิมเป็นโรงงานผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์กว่า ๔๐ ปี)

ยอดขาย (Turn Over): ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐-๕๐๐,๐๐๐ เหรียญฯ/ปี

จำนวนพนักงาน (No. of Employees): พนักงานประจำ ๕ คน

๑.๕ สินค้าหลักของบริษัท (Main Products):

เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในครัวเรือน (Residential Furniture) ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์โซฟาหนัง (Leather Sofa) และไม้ (Solid Wood) จำพวก โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ตู้ลิ้นชัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีการออกแบบดี คุณภาพสูง และราคาแพง

๑.๖ บุคคลที่เข้าพบ (Visited Person):

Mr. Shabbir KHAN ตำแหน่ง ประธานบริษัทฯ

๒. ข้อมูลที่ได้รับจากการเข้าพบ (Information Obtained)

๒.๑ ภาพรวมบริษัทและสินค้า (Company & Product Overviews) :

บริษัท A Furniture Place เคยเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ระดับ High-end มาก่อน โดยอยู่ในวงการผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของแคนาดามากว่า ๔๐ ปี ก่อนที่จะปิดโรงงานและมาเปิดเป็นโชว์รูมนำเข้าและขายส่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นสินค้าคุณภาพที่มีรูปแบบสวยหรู เหมาะสำหรับที่พักอาศัย (High End Residential Furniture) ของกลุ่มผู้บริโภครายได้สูงซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่

๒.๒ แหล่งที่มาของสินค้าและนำเข้าจากประเทศ (Source of Supplies and import from)

สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดเซีย โดยมีสินค้าเฟอร์นิเจอร์บางส่วนเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และบางส่วนเป็นสินค้าที่บริษัทประกอบ/ผลิตเอง โดยสั่งนำเข้าโครงไม้เพื่อนำมาประกอบ/ผลิตเบาะตามรูปแบบที่บริษัทต้องการ

สินค้านำเข้าหลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย โซฟาหนังแท้ (จีน) เก้าอี้ไม้/เหล็ก (อินโดนีเซีย/มาเลเซีย) และชุดเตียงนอน (จีน/เวียดนาม) ไม่มีการนำเข้าสินค้าจากไทย

๒.๓ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยในปัจจุบันและที่สนใจนำเข้าจากประเทศไทย (Products imported from Thailand/interested to import from Thailand)

บริษัทเคยนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ห้องนอนจากไทยเมือประมาณ ๖-๗ ปีก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันไม่ได้นำเข้าจากไทยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการสั่งซื้อสินค้าผ่านผู้แทนนำเข้ารายใหญ่ของแคนาดา ประมาณ ๕-๖ ราย ได้แก่กลุ่มบริษัท Shermag, Artage International, Dinec, VIA และ NCA เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการขยายยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งทางบริษัทมีความต้องการขยายไลน์สินค้าและมองหาสินค้าที่มีดีไซน์ที่ไม่ซ้ำกับสินค้าคู่แข่ง สินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น(ปัจจุบันคู่แข่งของบริษัทส่วนใหญ่นำเข้าจาก จีนที่มีรูปแบบดีไซน์เหมือนๆกัน ที่เน้นการแข่งขันตัดราคาสินค้าเป็นหลัก) และทางบริษัทต้องการลดต้นทุนสินค้าโดยนำเข้าโดยตรงจากผู้ส่งออกหรือผู้ผลิต

๓.สรุปผลการเข้าพบ (Summary)

ผู้นำเข้าให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสินค้าที่จำหน่ายในแคนาดาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าจาก จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนิเซีย ไทย ตามลำดับ โดยผู้นำเข้ามีความเห็นว่าสินค้าจากจีน มีคุณภาพต่ำ มีราคาที่ถูกกว่าจากแหล่งอื่น และไม่มีความหลากหลายในเรื่องของการดีไซน์รูปแบบสินค้า สินค้าที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจะเป็น สินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็ง (Solid Wood Furniture) จากเวียดนาม อาทิ เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะ เนื่องจากมีคุณภาพสินค้าระดับ กลาง-สูง ที่ใช้วัสดุ ไม้เนื้อแข็ง ไม้วีเนียร์ (veneer) ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) โดยจะไม่เน้นใช้วัสดุประเภท Particle Board (วัสดุที่ใช้เฟอร์นิเจอร์ระดับล่าง ที่มีน้ำหนักเบาและคุณภาพต่ำ) สินค้าจากเวียดนามจะมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ ยกเว้นจีน

ผู้นำเข้าให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระแสแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมในปี ๒๕๕๔ ได้แก่ สินค้าเฟอร์นิเจอร์โต๊ะที่พื้นผิวทำจากกระจก (Glass Tabletop) และสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ชิ้นส่วนทำด้วยโลหะ (Steel Furniture) รวมทั้งสินค้าที่มีการออกแบบดีไซน์ สไตล์โมเดิร์น (Modern Style) อย่างไรก็ตามสินค้าเฟอร์นิเจอร์ได้ที่มีการออกแบบประเภทร่วมสมัย (Contemporary Style) ที่ใช้ไม้เนื้อแข็งที่ใช้สีน้ำตาลเข้มอาทิ Espresso, Dark Brown, Dark Walnut ยังคงได้รับความนิยมอยู่เช่นกัน

ผู้นำเข้ายังมีความเห็นว่าสินค้าไทยเสียเปรียบในเรื่องของราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง หากสินค้าไทยต้องการแข่งขันกับคู่แข่งต้องปรับกลยุทธ์ได้แก่ การเน้นการออกแบบดีไซน์ที่ล้ำสมัยกว่าคู่แข่งตลอดเวลา ควบคู่กับการตั้งราคาสินค้าที่แข่งขันได้ (ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดประสบการณ์การส่งออกจะตั้งราคาจำหน่ายปลีกใกล้เคียงกับราคาส่งออก) อีกทั้งผู้นำเข้าให้ความเห็นว่า ผู้ส่งออกไทยควรมีการยืดยุ่นในการรับออเดอร์สั่งซื้อสินค้า โดยสามารถคละสินค้าในตู้ได้ (Consolidated Container) และให้บริการรวบรวมสินค้าจากผู้ผลิตหลายรายจากหลายแหล่งมารวมตู้สินค้าเพื่อเป็นการเพิ่ม Value Added ให้กับผู้ส่งออก

Mr. KHAN มีความสนใจเดินทางเข้าชมงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของไทย (TIFF ๒๐๑๑) ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อจัดหาสินค้ารายการใหม่ๆ และแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาดแคนาดาโดยเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพที่ดี และราคาที่ไม่สูงมากนัก สินค้าที่สนใจนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์หนังและเฟอร์นิเจอร์ไม้/เหล็กจากไทยเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม Mr. KHAN ให้ความเห็นว่าระยะเวลาการจัดงานแสดงสินค้าของไทยค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง เนื่องจากเป็นการจัดงานช่วงเดียวกันกับงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของจีน ทำให้ผู้นำเข้า ส่วนใหญ่สนใจที่จะเดินทางไปจีนมากกว่าไทย เนื่องจากเป็นงานใหญ่และมีสินค้าหลากหลายกว่าซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญงานดังกล่าวมากกว่าไทย จึงมีความเห็นว่า การจัดงาน TIFF ๒๕๕๕ ควรจัดให้เหลื่อมและไม่ทับซ้อนกับงานในประเทศจีน มาเลเซีย อินโดนิเซีย และอินเดีย เพื่อให้ผู้นำเข้า/ผู้ประกอบการสามารถเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่างๆ ได้ในคราวเดียวกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล   WHO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ