ลิ้นจี่สดจากแอฟริกาใต้เตรียมตัวบุกตลาดสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศแอฟริกาใต้จะเป็นแหล่งนำเข้าลิ้นจี่สดอีกแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในไม่ช้านี้ ปัจจุบัน สำนักงานตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (Animal and Plant Health Inspection Services: APHIS) กำลังพิจารณาการอนุญาตให้นำเข้าลิ้นจี่สด (Fresh Litchi หรือ Lychee) จากประเทศแอฟริกาใต้มาจำหน่ายในสหรัฐฯ

ผลผลิตลิ้นจี่ของประเทศแอฟริกาใต้มีปริมาณ 6,200 — 6,500 ตันต่อปี ซึ่งนับว่ายังต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศผู้นำการผลิต เช่น จีน หรือ อินเดีย แต่เนื่องจาก ความต้องการบริโภคในประเทศไม่สูงมาก จึงผลิตเหลือเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ประมาณปีละ 2,200 ตัน และคาดว่าจะส่งลิ้นจี่สดไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ประมาณปี 2,500 -3,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจุบัน จีน อินเดีย ไต้หวันและ ไทย เป็นแหล่งผลิตอันดับที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ โดยมีผลผลิตลิ้นจี่รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85 ของโลก นอกเหนือไปจากประเทศผู้นำการผลิต 4 ราย และประเทศแอฟริกาใต้แล้ว แหล่งปลูกลิ้นจี่อื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาดากัสก้า มอร์ริเซียส และ สหรัฐอเมริกา

ระเบียบข้อบังคับการนำเข้าลิ้นจี่สดจากประเทศแอฟริกาใต้

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กำลังดำเนินการในด้านวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis) และจัดรับฟังความคิดเห็น (Public Comment) ซึ่งจะปิดรับภายในเดือนเมษายน 2554 และคาดว่าใช้เวลา 3-6 เดือน จึงจะประกาศผลให้ทราบต่อไป

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กำหนดระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าลิ้นจี่สดจากประเทศประเทศแอฟริกาใต้ ดังนี้

1. เป็นลิ้นจี่สดที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกปลอดแมลง (Pest-Free Area)

2. ได้รับการฆ่าแมลงตามระเบียบของหน่วยงาน Animal & Plant Health Inspection Services (APHIS) ด้วยวิธีการฉายรังสี (Irradiation)

3. ลิ้นจี่สดได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่สุขภาพพืชของรัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ว่าได้ดำเนินการตามข้อปฏิบัติที่ระบุใน Risk Analysis

4. ลิ้นจี่ต้องได้รับการตรวจสอบ (Inspection) ด้านการปลอดแมลงอีกครั้งหนึ่ง ณ ท่าเรือ/สนามบินซึ่งสินค้าถูกนำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ

5. อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อการค้าเท่านั้น (Commercial Consignment)

การผลิตและการนำเข้าลิ้นจี่สดของสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ไต้หวัน จีน เม็กซิโก และ อิสราเอล เป็นแหล่งนำเข้าสิ้นจี่สดของสหรัฐฯ โดยสิ้นจี่สดของไต้หวันครองตลาดสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 50 จีนมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 30 เม็กซิโกมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 15 และ อิสราเอลมีสัดส่วนตลาด ร้อยละ 5 ในขณะที่ สิ้นจี่สดของไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในตั้งแต่ปี 2550 (โดยผ่านวิธีการฉายรังสี) แต่ไม่ปรากฎมูลค่านำเข้าลิ้นจี่สดของสหรัฐฯ จากประเทศไทย

ประเทศ อินเดีย ซึ่งปลูกลิ้นจี่มากเป็นอันดับที่สองของโลก ยื่นเรื่องต่อกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ขออนุญาตนำเข้าสิ้นจี่สดตั้งแต่กลางปี 2552 ปัจจุบัน ยังไม่มีผลคืบหน้า ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ปลูกลิ้นจี่ในรัฐฮาวายและรัฐฟลอริด้า และมีผลผลิตรวมกันประมาณ 10,000 -12,000 ตัน ต่อปี

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ประเทศแอฟริกาใต้ ได้เปรียบคู่แข่งขันในเอเซียในด้านเวลาและระยะทางการขนส่งลิ้นจี่สดไปยังสหรัฐฯ เป็นผลให้ต้นทุนสินค้าอยู่ในระดับต่ำ และสามารถแข่งขันกับลิ้นจี่สดของคู่แข่งขันจากเอเซีย หรือ ลิ้นจี่ที่ปลูกในสหรัฐฯ ได้

2. ปัจจุบัน การขยายตัวการบริโภคลิ้นจี่สดในสหรัฐฯ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคเอเซีย และฮิสแปนิก แต่ได้ขยายเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคหลักของประเทศ (Mainstream Consumer) ซึ่งคุณค่าด้านโภชนาการของลิ้นจี่สด เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้บริโภคหลักของสหรัฐฯ หันมาบริโภค ลิ้นจี่สดมากขึ้นเป็นลำดับ นักโภชนาการเชื่อว่าลิ้นจี่จะเป็นผลไม้หลักของสหรัฐฯ ในอนาคต ดังเช่น มะม่วง หรือ สับปะรด

3. ผู้นำเข้า/จัดจำหน่ายผลไม้สดรายสำคัญในสหรัฐฯ ให้ข้อคิดเห็นว่า โลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตลาดผลไม้สดของไทย (มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด เงาะและ สับปะรด) ในสหรัฐฯ ประเทศไทย โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันศึกษาหาทางลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างศักยภาพให้ผลไม้สดไทยสามารถแข่งขันกับผลไม้สดชนิดเดียวกันจากคู่แข่งขัน เพื่อให้ผลไม้สดไทยมีราคาที่เหมาะสมที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ สามารถจับจ่ายได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ