รัฐบาลอิหร่านยกเลิกมาตรการอุดหนุนแก่ประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 17, 2011 14:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อิหร่านเป็นประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และทองแดง เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอิหร่านก็มีปัญหาจากสงครามอิรัก-อิหร่านที่ยืดเยื้อยาวนานหลายปี ท้าให้โรงงานปิโตรเคมีและโรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอิหร่านประสบปัญหาการคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ ทำให้อิหร่านมีสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การกดดันอย่างมาก นอกจากนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ภายในประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมโรงแรม เป็นต้น ทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก

ปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้เกิดอิหร่านมีอัตราการว่างงานร้อยละ 12-28 และมีปัญหาเงินเฟ้อกว่าร้อยละ 12-25 ส่งผลให้รัฐบาลอิหร่านจำเป็นต้องนำรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันไปอุดหนุนราคาสินค้าภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น ข้าว ขนมปัง น้ำมัน ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น รัฐบาลจึงต้องแบกรับภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนสินค้าอาหารและพลังงานถึงปีละ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้ กว่า 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการอุดหนุนราคาน้ำมัน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศแผนเป้าหมายมาตรการอุดหนุน หรือที่เรียกว่ากฏหมายปฎิรูปเศรษฐกิจ เพื่อทยอยยกเลิกมาตรการอุดหนุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรอิหร่านได้ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553 และประกาศบังคับใช้ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ธันวาคม 2553 โดยมีเป้าหมายดังต่อไปนี้

1. เพื่อลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

2. ให้ประชาชนอิหร่านลดค่าใช้จ่าย และลดการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน

3. ลดความสูญเสียและลดการบริโภคของผู้มีรายได้สูง ที่ได้รับการอุดหนุนเช่นเดียวกันกับคนยากจน

4. ลดปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเตหะราน

5. เพิ่มความเป็นธรรมในสังคม โดยการตั้งเป้าหมายอุดหนุนเฉพาะผู้ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น

6. สร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความสามารถในการแข่งขัน อันจะน้ำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอิหร่าน

รัฐบาลได้ประกาศองค์กรเพื่อบังคับใช้กฏหมายนี้ ชื่อว่า Targeting Subsidies Organizations ซึ่งมีเป้าหมายประหยัดงบประมาณของรัฐร้อยละ 30 จากเงินที่คำนวนจากราคาน้ำมันที่ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรียล โดยเงินอุดหนุนงบประมาณที่ประหยัดได้จะนำไปใช้ในกรณี ดังต่อไปนี้

  • ร้อยละ 50 แก่ประชาชนยากจนที่สุดในสังคม
  • ร้อยละ 20 ตามที่รัฐบาลเห็นสมควร
  • ร้อยละ 30 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสาธารณูปโภค การผลิตน้ำมัน พลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรมและการเกษตร

เพื่อให้การอุดหนุนตรงตามความต้องการของประชาชน รัฐบาลอิหร่านได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลรายได้ ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจ ครอบครัวชาวอิหร่านทั่วประเทศ โดยพยายามกลั่นกรองให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนค่าครองชีพเป็นผู้สมควรได้รับเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะเปิดบัญชีเงินฝากให้ชาวอิหร่าน 36 ล้าน คนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศเพื่อชดเชยราคาสินค้าที่แพงขึ้น จะโอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีให้ทุกๆ สองเดือน ครอบครัวละ 890,000 เรียล หรือประมาณ 89 เหรียญสหรัฐฯ และในจำนวนนี้ แบกเป็นค่าขนมปัง 80,000 เรียล

สินค้าที่ยกเลิกการอุดหนุน

รัฐบาลอิหร่านได้ประกาศสินค้าจำนวน 16 รายการที่จะยกเลิกเงินอุดหนุน และให้จำหน่ายขายในราคาตลาด ได้แก่ น้ำมันเบนซิน ดีเซล, แก๊ส, น้ำมัน, ไฟฟ้า, น้ำ, ข้าวสาลี, น้ำตาล, ข้าว, น้ำมันเบนซิน เชื้อเพลิง และ นม เป็นต้น

ตัวอย่างราคาสินค้าอาหาร

1. ราคาข้าวสาลีที่กระทรวงพาณิชย์แห่งอิหร่านขายให้กับโรงงานทำแป้ง โรงงานอุตสาหกรรมทำขนมหวาน ฯลฯ ราคากิโลกรัมละ 2,500 เรียล

2. สำหรับราคาแป้งสาลีที่ขายให้กับร้านทำขนมปังทั่วประเทศจะขึ้นอยู่กับอัตราร้อยละของร้านที่ผสมอยู่ ซึ่งอัตราจะอยู่ระหว่าง 2,800- 3,000 เรียล

3. ราคาขนมปังของแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับราคาข้าวสาลี แป้ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดและจะติดราคาที่กำหนดไว้ที่ร้านขายขนมปังทุกแห่ง

4. ในกรุงเตหะราน ราคาขนมปัง มีดังต่อไปนี้

  • ราคาขนมปังอย่างบางจากเดิม แผ่นละ 300 เรียล เพิ่มเป็นแผ่นละ 2,000 เรียล
  • ราคาขนมปัง babari จากเดิม แผ่นละ 1,000 เรียลเพิ่มเป็นแผ่นละ 3,000 เรียล
  • ราคาขมนปัง sangak จากเดิมแผ่นละ 2,000 เรียลเพิ่มเป็นแผ่นละ 4,000 เรียล
  • ราคาขนมปัง lavash (แผ่นบาง) จากเดิมแผ่นละ 200 เรียลเพิ่มเป็นแผ่นละ 1,000 เรียล

ทั้งนี้ราคาดังกล่าวจะเท่ากันหมดทุกแห่งในกรุงเตหะรานไม่ว่าจะเป็นร้านที่อยู่ทางเตหะรานตอนเหนือหรือเตหะรานตอนใต้ สำหรับราคาสินค้าอื่นๆ ทางรัฐบาลจะประกาศให้ทราบต่อไปเป็นระยะๆ

ข้อสังเกต

การกำหนดมาตรการอุดหนุนเฉพาะกับผู้มีความต้องการหรือคนยากจนในอิหร่าน และโอนเงินให้ประชาชนโดยตรง น่าจะทำให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนได้ไม่น้อย อย่างไรก็ดี การยกเลิกมาตรการอุดหนุนสินค้าอาหารและพลังงาน อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งทำให้ค่าครองชีพในอิหร่านเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ที่ได้รับการอุดหนุนก็ไม่สามารถดำรงชีวิตตามปรกติได้ ทั้งนี้ การบังคับใช้มาตรการนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อิหร่านถูกนานาชาติคว่ำบาตรอย่างเข้มงวด และเศรษฐกิจกำลังถดถอย มีอัตราการว่างงานสูงและอัตราเงินเฟ้อสูงจนทำให้ธุรกิจหลายแห่งได้ปิดกิจการลงเพราะไม่สามารถจ่ายค่าจ้าง ซ้ำยังขาดแคลนเงินลงทุน จึงนับเป็นการเพิ่มภาระให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยและปานกลางไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้ การทยอยยกเลิกมาตรการอุดหนุนแบบค่อยเป็นค่อยไป น่าจะลดปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การยกเลิกทันที ซึ่งจะทำให้ชนชั้นกลางลดลงหรือหายไป นอกจากนี้การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจต้องใช้แผนระยะยาวในการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทั้งนี้ สคร ณ กรุงเตหะราน คาดว่ารัฐบาลอิหร่านจะประเมินสถาณการณ์และปรับวิธีการอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนให้น้อยที่สุด

รายงานจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ