รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ ๑-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 21, 2011 11:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. ภาวะเศรษฐกิจในช่วง ๒ สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ยังคงทรงตัวจากช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่ภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา โดย ISTAT ได้รายงานว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ ทำให้รายได้ต่อครอบครัวของคนอิตาลีลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา โดยความสามารถในการหารายได้ของประชากรอิตาลีลดลง ๒.๗% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ความสามารถในการหารายได้ของประชากรอิตาลีเพิ่มขึ้น ๓.๕% ทั้งนี้ความสามารถในการหารายได้ของประชากรที่ลดลงดังกล่าว พบว่าลดลงมากที่สุดในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ (ลดลง๔.๑%) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง ๓.๔% ทางตอนกลางลดลง ๑.๘% และทางตอนใต้ลดลง ๑.๒%

นอกจากนี้ ยังพบว่าระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๒ รายได้ภาคครัวเรือนของอิตาลีจะกระจุกตัวอยู่ในแถบทางตอนเหนือ (คิดเป็น ๕๓%) รองลงมาเป็นทางตอนใต้ (๒๖%) และทางตอนกลาง (๒๑%)

๒. GDP ISTAT ได้รายงานว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของอิตาลีในปี ๒๕๕๓ มีอัตราการขยายตัวที่ +๑.๑% ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๒ หดตัวลงที่ -๕.๑% การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ชะลดตัวลงในช่วงไตรมาสที่ ๔ ของปี ๒๕๕๓ โดยมีอัตราการขยายตัวเพียง +๐.๑% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและขยายตัวเพิ่มขึ้น +๐.๓% เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ ๔ ของปี ๕๓ ทำให้ในเดือนมค. ๕๔ GDP มีการขยายตัวเพียง ๐.๑% เมื่อเทียบกับไตรมาส ๔ ของปี ๕๓ และไตรมาส ๓ ของปี ๕๓ มีอัตราขยายตัว +๐.๓%

๓. ราคาผู้ผลิต (Producer Price) ISTAT ได้รายงานว่าราคาผู้ผลิตในเดือน ธค.๕๓ เพิ่มสูงขึ้น ๔.๕% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งสูงที่สุดนับแต่ กย.๒๕๕๑ และเพิ่มขึ้น ๐.๖% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ราคาผู้ผลิตเฉลี่ยในปี ๒๕๕๓ เท่ากับ ๓%

๔. อัตราเงินเฟ้อ ISTAT ได้รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อรายปี ณ เดือน มค.๕๔ เพิ่มสูงขึ้นถึง ๒.๑% สูงสุดนับแต่ ธค. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา และสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปได้ตั้งไว้เมื่อเดือน มค. ๕๔ ที่ ๒% โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาคขนส่ง (๔.๗%) ตามด้วยบ้านที่อยู่อาศัย น้ำประปา ไฟฟ้า และเชื้อเพลิง (๓.๙%)

ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉพาะเดือน มค. ๕๔ เท่ากับ ๐.๔% โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากในสินค้าน้ำมันและน้ำมันดีเซล (๓.๕% และ ๔%) น้ำมันดีเซลเพื่อใช้ทำความร้อนในบ้าน (๓.๓%) รวมทั้งราคาของสินค้าชนิดสดที่เพิ่มขึ้น (๑๒%) และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี ๒๕๕๔ จะเท่ากับ ๑.๒%

ทั้งนี้ ทุกปี ISTAT จะปรับเปลี่ยนรายการสินค้าที่จะนำมาใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี ๒๕๕๔ มีสินค้าที่ ISTAT ปรับออกจากรายการ คือ การเช่า DVD ส่วนสินค้าที่นับเข้ามาอยู่ในรายการเพื่อการคำนวณ ได้แก่ เครื่อง PC ต่างๆ (เช่น IPAD) อาหารจานด่วนของชาติต่างๆ (เช่น เคบับ ที่มีขายทั่วอิตาลี) ปลาแซลมอนรมควัน และค่าบัตรเข้าชมอุทยานแห่งชาติ สวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ เป็นต้น โดยมีจำนวนสินค้าที่นามาคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั้งสิ้น ๑,๓๗๗ รายการ (แบ่งกลุ่มการบริโภคเป็น ๓๑๙ กลุ่ม) และเก็บข้อมูลราคาจาก ๘๕ เมือง และในการคำนวณ ISTAT จะถ่วงน้ำหนักมากขึ้นในภาคการขนส่ง บ้านพักอาศัย น้ำประปา ไฟฟ้า เชื้อเพลิง สินค้าสุขภาพ การศึกษา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ส่วนสินค้าที่จะถ่วงน้ำหนักลดลง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน

๕. การว่างงาน ISTAT ได้รายงานว่าในเดือน ธค. ๕๓ อิตาลีมีการว่างงานของคนหนุ่มสาว (อายุ ๑๕-๒๔ ปี) สูงเป็นประวัติการณ์คือ ๒๙% ของกำลังแรงงาน (เพิ่มขึ้นจากเดือน พย. ๕๓ ที่เท่ากับ ๒๘.๙%) ในขณะที่อัตราการว่างงานทั้งหมดคงที่อยู่ที่ ๘.๖% และถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรปที่มีการว่างงานของคนหนุ่มสาวมากที่สุด ทำให้รัฐบาลอิตาลีโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเบอร์ลุสโกนี ต้องออกมากล่าวว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่รัฐบาลมีความกังวลอย่างมากและมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ดี นายเบอร์ลุสโกนีไม่ได้แจ้งถึงแผนดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเรียกได้ว่า “Lost Generation” แต่อย่างใด

๖. การจ้างงาน ISTAT ได้รายงานประมาณการอัตราการจ้างงานในเดือน ธค. ๕๓ เท่ากับ ๕๗% หรือคิดเป็นจำนวน ๒๒.๙ ล้านคน

๗. หน่วยงานตำรวจด้านภาษี ได้เปิดเผยว่ารายได้ที่ไม่เปิดเผย (undeclared income) ของคนอิตาเลี่ยนในปี ๒๕๕๓ เพิ่มสูงขึ้นถึง ๔๖% หรือมีมูลค่าเกือบ ๕๐ พันล้านยูโร โดยมีจำนวนผู้หลบเลี่ยงภาษี ๘,๘๕๐ ราย หรือเพิ่มขึ้น ๑๘%

๘. รายงานผลการสำรวจของสำนักงานสำรวจแห่งชาติ ณ เดือนมค. ๕๔ ปรากฎว่า เศรษฐกิจในเขตอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของบริษัทผู้ประกอบการหรือเพิ่มขึ้น ๑๖% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๕๓ ที่เท่ากับ ๑๕.๖% ส่งผลให้การส่งออกมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น และมองเห็นการฟื้นตัวที่ดีในอนาคต โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ ๑ ราย ใน ๔ รายคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น และมีเพียง ๗% ที่คาดว่าลดลง

๙. กระทรวงมหาดไทยอิตาลีได้เปิดให้มีการขอโควต้าการจ้างแรงงานต่างชาติ เมื่อเช้าวันที่ ๑ กพ. ๕๔ ซึ่งปรากฏว่ามีคำร้องขอจ้างแรงงานต่างชาติถึง ๒๙๓,๐๐๐ ราย เกินกว่าจำนวนโควต้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ ๕๒,๐๘๐ ราย ถึงเกือบ ๖เท่า

ขั้นตอนหลังจากนี้คือรัฐบาลจะกำหนดโควต้าแรงงานให้แต่ละจังหวัด และตำรวจท้องถิ่นจะทำหน้าที่พิจารณาจัดสรรให้แก่นายจ้างที่ร้องขอแบบ first come first-served ต่อไป

สำหรับโควต้าแรงงานจำนวน ๕๒,๐๘๐ ราย ดังกล่าวเป็นแรงงานที่มิใช่ตามฤดูกาล (non seasonal) ที่รัฐบาลอิตาลีจัดสรรให้แก่ประเทศที่มีความ ตกลงด้านความร่วมมือในการรับผู้อพยพกับอิตาลี ได้แก่ อัลบาเนีย มอลโดวา บังคลาเทศ ศรี-ลังกา อินเดีย โมรอคโค และเซเนกัล

จังหวัดที่มีการร้องขอโควต้าแรงงานต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ มิลาน (๓๗,๐๐๐ ราย) โรม (๒๒,๕๐๐ ราย) และเบรสเชีย (๑๘,๘๐๐๐ ราย) และแยกเป็นแรงงานรายประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ (๔๘,๐๐๐ คน) โมรอคโค (๔๔,๐๐๐ คน) และอินเดีย (๓๖,๐๐๐ คน) โดยผู้ประกอบการอิตาลีที่ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติมากที่สุดจะเป็นธุรกิจด้านการเกษตรและการก่อสร้าง

สำหรับแรงงานในประเทศ จะเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับครอบครัวชาวอิตาเลียนที่มีเด็กเล็กและคนชรา โดยกระทรวงมหาดไทยอิตาลีเปิดให้มีการจองโควต้าจำนวน ๓๐,๐๐๐ ราย ในวันที่ ๒ กพ. ๕๔

นอกจากนี้ ในวันที่ ๓ กพ. ๕๔ กระทรวงมหาดไทยอิตาลีได้เปิดให้ประชาชนจากประเทศนอกสหภาพยุโรป (non-EU) ยื่นขอรับอนุญาตการพำนักอาศัยในอิตาลี (residence permit) ได้เป็นจำนวน ๑๕,๐๐๐ ราย ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศของตน หรือได้เข้ามาอยู่ในอิตาลีเพื่อเรียนหนังสือ หรือมีประสบการณ์การทำงาน หรือได้รับอนุญาตทำงานตามฤดูกาลแล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ