ปัจจุบันราคาข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดต่ำลงโดยในปี 2553 ราคาข้าวที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 โดยราคาเฉลี่ยของข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่น ณ ปลายปี 2553 อยู่ที่ 12,781 เยน (ประมาณ 4,800 บาท) ต่อ 60 กิโลกรัมลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียวกัน ซึ่งต่างจากราคาข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และจีนเพียง 2,000 เยน/ 60 กก.จากเดิมที่เคยแตกต่างกันถึง 4,000 เยน/60 กก. เมื่อปี 2552 ทำให้ราคาขายปลีกของข้าวที่ผลิตในประเทศสูงกว่าข้าวที่นำเข้าเพียง 170 เยน (64 บาท)/5 กก. ขณะเดียวกัน ราคาข้าวในตลาดโลกก็ สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกทำให้เอกชนที่เคยพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น บริษัทผู้ค้าสินค้าอาหาร และ Ryokan (Japanese Traditional Inn) หันกลับมาใช้ข้าวที่ผลิตในประเทศ และส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าข้าวปลอดภาษี ภายใต้ความตกลง WTO ของญี่ปุ่นลดลงเหลือ เพียง 3,152 ตัน (11 เดือนแรกของปี 2553) ลดลง 94 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การลดลงของราคาข้าวที่ผลิตภายในประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสินค้านำเข้าราคาถูก หากรัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง Trans Pacific Partnership (TPP) สินค้าเกือบทั้งหมดจะต้องถูกยกเลิกภาษีในที่สุด ดังนั้น ปริมาณความต้องการและราคาของข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และหันมามุ่งส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งปกป้องสินค้านำเข้าและรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดี นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตโดยยึดหลัก Greater economy of scale ให้เงินสนับสนุนเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 20,000 เยนต่อการขยายพื้นที่การเกษตร 0.1 เฮกเตอร์ (1,000 ตารางเมตร) เนื่องจาก การปลูกข้าวบนพื้นที่ขนาดใหญ่มีประสิทธิผลมากกว่า และเมื่อชาวนาที่ปลูกข้าวด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่มีจำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิผลสูงขึ้นก็จะสามารถรับมือกับราคาข้าวที่ต่ำลงได้ดีกว่า พร้อมทั้งสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกได้
ในขณะที่การส่งออกข้าวญี่ปุ่นไปยังตลาดต่างประเทศก็ขยายตัวขึ้นอย่างน่าพอใจ โดย 9 เดือนแรกของปี 2553 ญี่ปุ่นส่งออกข้าว 1,228 ตัน เพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี ปริมาณดังกล่าวยังเป็นเพียงส่วนน้อยของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ใน 1 ปีของญี่ปุ่น (ปี 2553 ญี่ปุ่นผลิตข้าวได้ 8.48 ล้านตัน) รัฐมนตรีช่วยอาวุโสกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง Mr.Nobutaka Tsutsui ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไปยังจีน 200,000 ตัน และจะขยายให้ถึง 1,000,000 ตันในที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาข้าวญี่ปุ่นที่นำเข้าในประเทศจีนสูงกว่าราคาข้าวท้องถิ่น 500-600 เท่าตัว แต่หากราคาข้าวญี่ปุ่นลดต่ำลงเรื่อยๆ ก็จะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกเพื่อจับเป้าหมายตลาดระดับบนของจีน
ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์
การส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2553 เพิ่มขึ้น 10.5 เปอร์เซ็นต์ (การส่งออกไปยังเอเชียเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์) โดยมีมูลค่า 492 พันล้านเยน ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินเยนแข็งตัว รวมทั้งโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ระบาดอย่างรุนแรงในวัวและสุกร จนทำให้ไม่สามารถส่งออกเนื้อวัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าเกษตรสูงถึง 1 พันล้านล้านเยน ภายในปี 2560
ถึงแม้ว่าสินค้าญี่ปุ่นจะมีราคาสูง แต่ด้วยคุณภาพและกระแสความนิยมอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะในเอเชีย ทำให้การส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นยังคงมีศักยภาพสูง สิ่งที่ต้องจับตามองคือแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่นในประเทศไทยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันโอกาสที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรบางชนิดของญี่ปุ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยรวมถึงข้าวเมล็ดพันธุ์สั้น (จาโปนิกา) ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนญี่ปุ่นบางราย แสดงความสนใจที่จะใช้ไทยหรือเวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการในเอเชียแล้ว
แหล่งข้อมูล :
1. “Lower prices help domestic rice exports target gourmet Chinese”, The Nikkei Weekly, 31 Jan 2011
2. “Farm, forestry, fishery exports jump 10.5%”, The Nikkei Weekly, 14 Feb 2011
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th