สรุปสถานการณ์การค้า ไทย-สเปน เดือนมกราคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 15:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตารางแสดงมูลค่าการค้าไทย-สเปน เดือน ม.ค. 2554

ม.ค. 2554

                              มูลค่า (Mil. US$)     เพิ่ม/ลด (%)         เพิ่ม/ลด (%)

ช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อน

          ส่งออก                   103.38          +30.03              -6.69
          นำเข้า                    38.80          +33.00             +28.07
          การค้ารวม                142.18          +30.83              -1.39
          ดุลการค้า                 +64.58          +28.39             -16.56

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในเดือนมกราคม 2554 ไทยกับสเปนมีมูลค่าการค้ารวม 142.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเป็นฝ่ายส่งออกมาสเปน 103.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ -6.69 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ขณะที่นำเข้าจากสเปน 38.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.07 จากเดือนที่ผ่านมา โดยไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก 64.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 16.56 จากเดือนที่ผ่านมา

ตารางแสดงโครงสร้างการส่งออกของไทยมายังสเปนแบ่งตามหมวดสินค้า ในเดือน มกราคม 2554

             หมวดสินค้า                       มูลค่า (Mil. US$)     เพิ่ม/ลด(%) จากปีก่อน     สัดส่วน (%)
          สินค้าเกษตรกรรม(กสิกรรม/ปศุสัตว์/ประมง)      27.2                +80.21           26.32
          สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร                   5.6                +68.88            5.40
          สินค้าอุตสาหกรรม                          70.6                +15.53           68.28
          สินค้าแรและเชื้อเพลิง                          -                     -               -
          รวม                                   103.4                +30.03          100.00

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ณ สิ้นเดือนมกราคม 2554 สินค้าส่งออกของไทยมายังสเปนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหลังจากช่วงเทศกาลจับจ่ายตอนปลายปีที่ผ่านมาท่ามกลางปัญหาภาวะเศรษฐกิจเรื้อรังภายในประเทศ โดยหมวดสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกลดลงแต่ก็ยังครองส่วนแบ่งส่วนมากไว้ได้เกือบร้อยละ 70 และมีมูลค่าเติบโตขึ้นร้อยละ 15.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวสินค้าหลักหลายตัวได้ปรับตัวลดลงอีกครั้ง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (-17.64%) เครื่องนุ่งห่ม (-9.19%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (-29.59%) และผลิตภัณฑยาง (-16.84%) หมวดรองลงมาได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26.32 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียางพาราเป็นตัวนำ เนื่องจากความต้องการและระดับราคาในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก และหมวดสุดท้ายคือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนัก แต่สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 68.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินค้าหลักได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ตารางแสดงมูลค่การส่งออกสินค้าไทยมายังสเปน 10 อันดับแรก เดือน ม.ค. 2554

          ที่           สินค้า                  มูลค่า (Mil. USD)     สัดส่วน (%)      เปลี่ยนแปลง (%)
          1   ยางพารา                            23.1           22.33             +79.45
          2   เสื้อผ้าสำเร็จรูป                       15.3           14.76              +3.71
          3   เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ          11.5           11.17             -31.41
          4   รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ             4.9            4.78            +277.88
          5   เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ          3.4            3.27             +47.24
          6   ผลิตภัณฑ์ยาง                           3.4            3.26             +28.78
          7   ผลไม้กระป๋องและแปรรูป                  3.1            2.97             +47.32
          8   ปูนซีเมนต์                             3.1            2.96                n/a
          9   เลนส์                                3.0            2.93             +14.23
          10  เคมีภัณฑ์                              2.9            2.81            +118.67

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสเปนจะเป็นมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบัน แต่ผลการส่งออกของไทยมายังสเปนตลอดปี 2553 ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 41.08 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกหลักของไทยแทบทุกรายการในตลาดนี้ปรับตัวสูงขึ้นจนมาถึงเดือนมกราคม 2554 ก็ยังขยายตัวต่อไปได้อีกร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยสินค้ายางพาราได้ขยับขึ้นสู่อันดับหนึ่งโดยมีสัดส่วนร้อยละ 22.33 แซงสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตกลงไปอยู่ในอันดับสองและมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.76 พร้อมกับเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเช่นกัน

ในช่วงเดือนเดียวกันไทยนำเข้าสินค้าจากสเปน เป็นมูลค่า 38.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 33 โดยมีรายละเอียดการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด ดังนี้

ตารางแสดงมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปน 5 อันดับแรก เดือน ม.ค. 2554

                    สินค้า                    มูลค่า (Mil. USD)       สัดส่วน (%)      เปลี่ยนแปลง (%)
          เคมีภัณฑ์                                  5.7             14.61             -25.99
          เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ                4.3             11.06            +116.03
          สัตว์น้ำสดแช่เย็น/แช่แข็ง/แปรรูป/กึ่งสำเร็จรูป      4.3             11.04                n/a
          เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ                  3.7              9.52             -24.49
          ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม                2.9              7.44             +38.31

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ตลอดปี 2553 สเปนยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและยังมีอัตราการว่างงานที่สูงมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถขจัดปัญหานี้ได้ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนั้นสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของสหภาพยุโรปยังมีสภาพเปราะบางกับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังในอัตราสูง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงใดๆของโลกที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหวังว่าสเปนจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและมี GDP เป็นบวกได้ในปี 2554

ประเมินสถานการณ;ทางเศรษฐกิจของราชอาณาจักรสเปน

ภาคการเงินและภาคเอกชนได้พยากรณ์ไว้ว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสเปนจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2554 หลังจากที่ประสบภาวะวิกฤติในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในอัตราร้อยละ 0.7-0.8 ซึ่งต่ำกว่าจากที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 1.3

ผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา อาทิเช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้างที่หดตัวอย่างรุนแรง สิ่งปลูกสร้างล้นตลาด และการหดตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไขต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาสำคัญที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ การลุกลามของปัญหาด้านการเงินจากภาวะหนี้ท่วมของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ที่เริ่มจากประเทศกรีซ ตามมาด้วยไอร์แลนด์ ที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากเงินกองทุนรักษาเสถียรภาพด้านการเงินของสหภาพยุโรป และ IMF ทั้งนี้ โปรตุเกส เป็นประเทศในลำดับต่อไปที่คาดว่าจะต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินในระยะเวลาไม่ช้าก็เร็ว และหลังจากนั้นก็จะถึงคิวของประเทศสเปน แต่มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า เนื่องจากสเปนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในลำดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร จึงทำให้ประเทศพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างเช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ที่จะพยุงฐานะทางการเงินของสเปนให้อยู่รอดให้ได้ มิฉะนั้น จะหมายถึงการล้มสลายของเงินสกุลยูโรทีเดียว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มปรากฏแรงต้านจากพลเมืองของเยอรมนีที่ออกมาค้านและแสดงความไม่เห็นด้วยที่ผู้นำของประเทศดำเนินนโยบายรับภาระคอยอุ้มดูแลให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆที่มีปัญหาด้านการเงินตลอดเวลา อันอาจจะส่งผลกระทบกับความนิยมของรัฐบาลและผลการเลือกตั้งในครั้งต่อไปได้

ส่วนผลกระทบจากภายนอก เช่น ความไม่สงบทางการเมืองและการที่ประชาชนออกมาขับไล่ผู้นำที่ลุกลามไปในกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ผนวกกับปัญหาเงินเฟือและราคาสินค้าอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก จะยิ่งซ้ำเติมให้ชาวสเปนต้องหันมารัดเข็มขัดเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ ผู้บริโภคก็พยายามตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเลือกซื้อสินค้าที่มีระดับราคาต่ำอยู่แล้ว

จากประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สินค้าเกษตรกรรมของไทยจะมีโอกาสในการจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะยางพาราที่มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลก รวมทั้งธัญพืชต่างๆ ที่จะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานได้ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมต้องพยายามบริหารและควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเน้นการนำเสนอสินค้าในระดับคุณภาพและราคาปานกลาง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ