เงาะสดเวียดนามและมาเลเซียบุกตลาดสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2011 10:53 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานตรวจสอบพันธุ์พืชและสัตว์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (Animal and Plant Health Inspection Services: APHIS) ได้ดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านแมลง (Pest Risk Analysis) สินค้าเงาะสดของเวียดนามและมาเลเซีย และอนุญาตให้นำเข้าเงาะสด (Fresh Rambutan) จากประเทศมาเลเซียและเวีดดนาม มาจำหน่ายในสหรัฐฯ มีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นต้นไป

เงาะเป็นผลไม้สดชนิดที่สองที่เวียดนามได้รับอนุญาต ให้นำเข้าไปยังสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากผลแก้วมังกร แต่เป็นผลไม้สด รายการแรกของมาเลเซียในการนำเข้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ

ระเบียบข้อบังคับการนำเข้าเงาะสดจากเวียดนามและมาเลเซีย

ระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าเงาะสดจากประเทศประเทศเวียดนามและมาเลเซีย ดังนี้

1.ผลเงาะสดต้องได้รับการฆ่าแมลงตามระเบียบของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Services (APHIS) ด้วยวิธีการฉายรังสี (Irradiation) ระดับอย่างต่ำ 400 Gy.

2. ในกรณีที่การฉายรังสีกระทำนอกประเทศสหรัฐฯ การส่งมอบเงาะสดแต่ละครั้งจะต้องผ่านการตรวจ (Preclear) จากเจ้าหน้าที่ APHIS ที่ประจำในประเทศผู้ส่งออก (มาเลเซียและเวียดนาม) และต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดร่วมกันระหว่างหน่วยงาน NPPO ของประเทศ ผู้ส่งออก (มาเลเซียและเวียดนาม) และ เจ้าหน้าที่ APHIS

3. ต้องแนบเอกสารผ่านการตรวจสอบ (Phytosanitary Certificate: PC) ระบุว่าเงาะสดได้รับการฉายรังสี (Irradiated Treatment) ไปกับสินค้าทุกครั้ง

4. ในกรณีเงาะสดจากมาเลเซีย จะต้องได้รับการสุ่มตรวจทุกครั้งที่ส่งมอบ โดย หน่วยงาน National Plan Protection Organization (NPPO) ของประเทศมาเลเซีย ด้วยวิธีการตามที่ APHIS เห็นชอบ สินค้าเงาะสดมาเลเซียเพื่อตรวจสอบว่าปลอดเชื้อราชนิด Oidium Nephelii เพิ่มเติมไปจากเงาะสดจากประเทศเวียดนาม

5. อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อการค้าเท่านั้น (Commercial Consignment Only)

การผลิตและการนำเข้าเงาะสดของสหรัฐฯ

ปัจจุบัน เงาะสดมีจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตในประเทศสหรัฐฯ ในรัฐฮาวาย มีผลผลิตประมาณ 1,786.2 เมตริกตันต่อปี (เงาะสดฮาวายต้องได้รับการฉายรังสี ถ้าส่งไปจำหน่ายในแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ) และเงาะสดอีกส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีเม็กซิโกเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญที่สุด แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ฮอนดูรัส คอสตาริก้า และ กัวเตมาลา เป็นต้น หรือ ประมาณ 55 เมตริกตันต่อปี

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1.สินค้าผลไม้สดของไทย 6 ชนิด ได้แก่ มังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด และ สับปะรด ได้รับอนุญาตนำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2550 (โดยผ่านวิธีการฉายรังสี) และไม่ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากขาดการวางแผนการตลาดและโลจิสติกส์ สนันสนุนที่เหมาะสม จึงเป็นผลให้ต้นทุนการขนส่งสูง ราคาจำหน่ายสูงเกินไปที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ทั่วไปซื้อได้ สภาพผลไม้ที่ผ่านการฉายรังสี โดยเฉพาะเงาะสด จะมีลักษณะแห้งดำ ทำให้ไม่น่าบริโภค ประกอบกับ ปัจจุบันกระแสความต้องการสินค้าแนวธรรมชาติซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของสินค้าที่ผ่านการฉายรังสี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด และเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้บริโภค

2. การเผชิญการแข่งขันจากเงาะสดนำเข้าจากเม็กซิโกและอเมริกากลางในด้านต้นทุน กล่าวคือ เงาะสดของเม็กซิโกและอเมริกากลางไม่ต้องฉายรังสี (ผ่านการอบไอน้ำเท่านั้น) และมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นผลให้ราคาเงาะสดจากแห่งนำเข้าดังกล่าวต่ำกว่าแหล่งนำเข้าเอเซีย เป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของการนำเข้าเงาะสดจากประเทศกลุ่ม ASEAN ซึ่ง ทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันไปนำเข้าเงาะสดจากเม็กซิโกหรือจากกลุ่มประเทศอเมริกากลางมาจำหน่ายแทน

3. ผู้นำเข้าผัก/ผลไม้สดสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า เงาะเป็นผลไม้สดที่มีลู่ทางการขยายตัวในสหรัฐฯ เนื่องจาก ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความต้องการผลไม้ชนิดใหม่และหาได้ยากในท้องถิ่น เนื่องจากเห็นว่า เป็นผลไม้ชนิดพิเศษจากแดนไกล (Exotic Fruit) ประกอบกับรูปร่างผลเงาะที่มีรูปร่างแปลก จะช่วยดึงดูดความสนใจในการบริโภค

4. เงาะสดของทั้งเวียดนามและมาเลเซียต้องแข่งขันแย่งลูกค้ากันเองในสหรัฐฯ อีกทั้งอาจจะเผชิญปัญหาการขยายตลาดในสหรัฐฯ ทำนองเดียวกันกับเงาะสดของไทย อย่างไรก็ตาม ทั้งเวียดนามและมาเลเซียก็มั่นใจว่า สามารถเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรจะเฝ้าติดตามการดำเนินการตลาดกันต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จได้เพียงใด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ