อินเดียมีพรรคการเมืองมากมายทั้งในระดับชาติ มลรัฐ และระดับท้องถิ่น โดยมีพรรคระดับชาติที่สำคัญ ได้แก่ พรรคคองเกรส (Congress) พรรคภารติยะ ชนตะ (Bhartiya Janata Party: BJP) พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(Communist Party of India) พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียมาร์คซิส (Communist Party of India-Marxist) และพรรคชนตะดาล (Janata Dal)ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 พรรคคองเกรสมีจำนวนผู้แทนที่ได้รับเลือกเข้าสู่โลกสภามากที่สุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้ชื่อพันธมิตรแห่งความก้าวหน้าหนึ่งเดียว (United ProgressiveAlliance: UPA) ชนะกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA) ซึ่งเคยรวมตัวกันเป็นรัฐบาลชุดก่อนของอินเดียนำโดยพรรค BJP โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนายมานโมฮาน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่14 ของอินเดีย และเป็นผู้นำเชื้อสายซิกข์คนแรกของประเทศ รวมทั้งได้รับการขนานนามว่า เป็นสถาปนิกแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดีย รัฐบาลผสมได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาชาติ (National Common Minimum Programme) เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ ลดปัญหาความรุนแรงในสังคมและความขัดแย้งระหว่างชนชั้นวรรณะ (ศาสนาซิกข์ไม่เชื่อในเรื่องวรรณะ และไม่เชื่อในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา) พัฒนาและส่งเสริมบทบาทของประชาชน ส่งเสริมการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล เพื่อสร้างธรรมาภิบาล ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส รวมทั้งปรับปรุงความสัมพันธ์กับปากีสถาน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศอื่นๆ ที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม แต่ในช่วงรัฐบาลซิงห์ 1กลับพบกับแรงกดดันของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคร่วมรัฐบาลที่เฝ้าตรวจสอบและโจมตีนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศตลอดเวลาทำให้บางโครงการต้องสะดุดลง แม้ว่าพรรคBJP เป็นแกนนำฝ่ายค้านกลับไม่มีบทบาทในการกดดันรัฐบาลมากนัก ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานเสียงในรัฐเบงกอลตะวันตก และรัฐเกรละ ได้โจมตีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการค้าปลีก กิจการประกันภัย กิจการธนาคาร และการปรับปรุงท่าอากาศยาน นอกจากนี้ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโจมตีและคัดค้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอนเอียงเข้ากับสหรัฐอเมริกาอันเกินควร รวมทั้งการทำข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศ และข้อตกลงนี้ทำให้อินเดียเสียเปรียบ รวมทั้งขาดเสรีภาพในการสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซจากอิหร่าน โดยบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 และยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลชนะการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจอย่างหวุดหวิดโดยได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายพรรคเล็กและสมาชิกผู้แทนราษฎรอิสระให้อยู่บริหารประเทศจนครบวาระ
ผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา) ครั้งที่ 15 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2552 ปรากฏว่า พันธมิตรแนวร่วมก้าวหน้า (UPA) นำโดยพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (INC) หรือพรรคคองเกรสของนายมันโมฮาน ซิงห์ กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งและจัดตั้งรัฐบาลซิงห์ 2 มีคะแนนนำเหนือพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ภายใต้การนำของพรรคภารติยะ ชนะตะ(BJP) แกนนำฝ่ายค้านอย่างขาดลอย โดยพรรคคองเกรสและพันธมิตรซึ่งมีคะแนนเสียงรวมกัน 260 คะแนน ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมอื่นอีกเพียงเล็กน้อย (เช่น พรรค DMK, Dravida Munnettra Kazhagam) เพื่อให้มีคะแนนเกิน 272 จากทั้งหมด 543 ที่นั่งในสภาในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้การเลือกตั้งโลกสภาที่มีขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกและส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำพาเศรษฐกิจอินเดียมูลค่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากจีน และญี่ปุ่น ให้มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อที่จะลดปัญหาความยากจนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่นั่งในรัฐสภาของพรรคคองเกรสที่เพิ่มขึ้นถึง 60 ที่นั่ง สวนทางกับพรรคคอมมิวนิสต์ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีแนวทางต่อต้านการลงทุนของต่างชาติที่มีคะแนนเสียงลดลงจาก 43 เหลือ 16 ที่นั่ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อ เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลชุดใหม่มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการผ่านกฎหมายถือครองทรัพย์สินของต่างชาติและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคการลงทุนของต่างชาติในอินเดียมาโดยตลอด
ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคคองเกรสในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้รัฐบาลชิงห์ 2 มีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น สิ่งสำคัญประการแรกที่รัฐบาลอินเดียได้เร่งดำเนินการผลักดันให้เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 8 ต่อปีเพื่อขจัดปัญหาความยากจนในประเทศ โดยรัฐบาลอินเดียกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากตลาดในประเทศชะลอตัวอย่างมาก การกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งของพรรคคองเกรสด้วยคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนจะช่วยเปิดโอกาสการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในอินเดียโดยเฉพาะในแง่ของการเปิดเสรีสาขาการลงทุนและการผ่อนคลายข้อจำกัดการถือครองทรัพย์สินของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ความต่อเนื่องของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแนวโน้มที่รัฐบาลอินเดียจะกู้เงินเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศและการสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนโดยเฉพาะในชนบทน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับการลงทุนในภาคก่อสร้างและการส่งออกสินค้าของไทย
นายไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน กล่าวว่า ปัจจุบันคนอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้น มีเศรษฐีใหม่คนชั้นกลางกว่า 300 ล้านคน อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้าน IT และยานยนต์ จึงเป็นโอกาสดีที่สินค้าไทยไทยจะสามารถเจาะตลาดได้มากขึ้น โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าอาหาร ชิ้นส่วนยานยต์ รองเท้า/ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์หนังฟอก ผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลง ลิฟต์ บันไดเลื่อน สิ่งปรุงแต่งรสอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ไม้อัด ไม้ยางพารา ไฟเบอร์บอร์ด กระดาษ ของเล่น/เฟอร์นิเจอร์/ของใช้เด็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เมลามีน ยาง/ผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียม และทองรูปพรรณ (อินเดียบริโภคทองคำมากที่สุดในโลก)
ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ทำให้สินค้าส่งออกหลายรายการมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดอินเดียได้มากขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
FTA ไทย-อินเดีย ไทยและอินเดียได้ตกลงลดภาษีระหว่างกันในรายการสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme) จำนวน 82 รายการ โดยทั้ง 82 รายการมีอัตราภาษี 0% ปัจจุบัน ไทย-อินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการเปิดเสรีสินค้าในส่วนที่เหลือ สินค้าที่มีศักยภาพส่งออกไปอินเดียภายใต้ FTA ไทย — อินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ อะลูมิเนียมเจือ เครื่องประดับเพชรพลอย โพลิคาร์บอเนต ชิ้นส่วนยายนยนต์ พัดลม และเครื่องจักรกลการเกษตร ตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก FTA ไทย — อินเดีย(TIFTA)ได้ที่ http://www.dft.go.th/level4Frame.asp?sPage=the_files/$$12/level3/fta_ind.htm&level3=1068
FTA อาเซียน-อินเดีย มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ครอบคลุมสินค้ากว่า 4,800 รายการ โดยสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ กรดเทเรฟทาลิก เครื่องยนต์ดีเซล เอทิลีน ผ้าใบยางรถยนต์ ถังเชื้อเพลิง ยางสังเคราะห์ และเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น ตรวจสอบข้อมูลสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก FTA อาเซียน — อินเดีย(AIFTA) ได้ที่ http://www.dft.go.th/level4Frame.asp?sPage=the_files/$$12/level3/Asean_India.htm&level3=1236
ดร. ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน
ที่มา: http://www.depthai.go.th