จีนคาดว่า ภายใน ๓ — ๕ ปีข้างหน้า เงินหยวนจะถูกใช้เป็นสกุลเงินหลัก ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศอย่างแพร่หลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 17, 2011 13:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ผู้นำรัฐบาลและเอกชนของจีนมีความเห็นพ้องกันว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภายใน ๓ — ๕ ปีข้างหน้า เงินหยวนจะถูกนำมาใช้เพื่อทำธุรกรรมการค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกยังออกมาแสดงความเห็นอีกว่า ในอนาคตอันใกล้เงินหยวนอาจกลายเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนทั่วโลกยอมรับ และอาจกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศที่มีความสำคัญเทียบเท่าสกุลเงินดอลล่าร์เลยทีเดียว

ปัจจุบันรัฐบาลจีนกระตุ้นและส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนใช้เงินหยวนสำหรับธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น โดยในปี ๒๕๕๒ รัฐบาลจีนได้จัดให้มีโครงการนำร่องเพื่อใช้เงินหยวนสำหรับการแลกเปลี่ยนใน ๔ มณฑลครอบคลุมถึง ๒๐ เมืองหลักของจีน ทำให้ภายในช่วง ๔ เดือนแรกของปีนี้ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบถึง ๕๓๐ พันล้านหยวน (ประมาณ ๘๑.๕ พันล้านดอลล่าร์) ผู้บริหารอาวุธโสของธนาคารชาติจีนคาดว่า โครงการนำร่องเพื่อใช้เงินหยวนสำหรับการค้าและการลงทุนจะเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วประเทศ ทั้งยังจะถูกนำมาใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนโดยตรงในวงการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา นักธุรกิจมณฑลยูนนานได้ใช้เงินหยวนเป็นสกุลหลักในการทำธุรกรรมการค้าด่านชายแดนของมณฑลยูนนาน ในด้านปริมาณการชำระเงิน ขอบเขตการชำระเงิน หรือรูปแบบการชำระเงินทางการค้า ล้วนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ธนาคารชาติจีนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก ๕ หน่วยงาน ออกประกาศแจ้งให้มณฑลยูนนานทดลองใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินทางการค้าข้ามเขตแดนอย่างเป็นทางการ สถาบันการเงินต่างๆ ของมณฑลยูนนานก็ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการผลักดันและส่งเสริมให้นักธุรกิจใช้เงินหยวนสำหรับธุรกรรมต่างๆ ที่ได้กระทำ ณ ชายแดนมณฑลยูนนาน จะเห็นได้ชัดว่าในปี ๒๕๕๓ ธุรกรรมที่ใช้เงินหยวนชำระเงินทางการค้าข้ามเขตแดนของมณฑลยูนนานมีด้วยกันทั้งสิ้นจำนวน ๗,๓๔๑ รายการ คิดเป็นมูลค่า๘,๓๑๒ ล้านหยวน

กล่าวโดยสรุป การใช้เงินหยวนชำระเงินทางการค้าชายแดนของมณฑลยูนนาน มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า—ส่งออกสามารถลดต้นทุนและลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการใช้สกุลเงินที่สาม (เงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ) ช่วยประหยัดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินและค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเผชิญหน้าต่อวิกฤตการณ์ด้านการเงินโลกต่อไปได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ