การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าของเล่นเด็กของสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2011 13:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

พระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าอุปโภคบริโภค ฉบับปรับปรุง ปี 2008 (The Consumer Product Safety Improvement Act of 2008) บังคับให้สินค้าของเล่นเด็ก (Children Toys) ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัย ตาม ASTM F963-08 และ สินค้าของเด็กเล่นต้องมีเอกสารรับรองการทดสอบความปลอดภัย โดยให้อำนาจคณะกรรมการดูแลความปลอดภัยสินค้า (The Consumer Product Safety Commission: CPSC) เป็นผู้กำกับดูแล

ปัจจุบัน คณะกรรมการ CPSC ประกาศเป็นทางการว่า สินค้าของเล่นเด็กที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ต้องได้รับ (1) ผ่านการทดสอบ (Testing) และ (2) มีเอกสารรับรองการทดสอบ (Certificate) ว่า

สินค้าได้มาตรฐานความปลอดภัย จาก Third Party Laboratories สำหรับสินค้าของเล่นเด็กที่ผลิตและนำเข้ามาจัดจำหน่ายแก่เด็กอายุ 12 ปี หรือ ต่ำกว่าในสหรัฐฯ มีผลบังคับนับในวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

คณะกรรมการ CPSC ให้ความสำคัญต่อจุดความปลอดภัยของสินค้าของเล่นเด็กที่ ควรได้รับการตรวจสอบมีจำนวน 28 จุด ได้แก่ การติดไฟ สารพิษ ความแหลมคม น๊อท/ตะปู เชือก/สายไฟ/สายรัด ชิ้นส่วนขนาดเล็ก ขอบหรือมุมของสินค่า วัตถุที่ใช้ทำเป็นนุ่น บรรจุภัณฑ์ใส่ของเล่นเป็นต้น (รายชื่อหัวข้อจุดความปลอด 28 จุด ปรากฎในตอนท้ายรายงาน)

อนึ่ง สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าของเล่นเด็กและเกมส์ (Toys & Games) ในปี 2553 เป็นมูลค่า 21,427.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 4.92 ประเทศจีนครองตลาดสินค้าของเด็กเล่นและเกมส์ในสหรัฐฯ หรือมีสัดส่วนตลาดนำเข้าร้อยละ 88 หรือคิดเป็นมูลค่านำเข้า

18,979,.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 3.23) เม็กซิโก (ร้อยละ 1.58) เดนมาร์ก (ร้อยละ 1.30) แคนาดา (ร้อยละ 1.12) และ อินโดนิเซีย (ร้อยละ 0.81)

สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าของเล่นเด็กและเกมส์จากประเทศไทยในปี 2553 เป็นมูลค่า 86.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 31.95 และมีสัดส่วนตลาดนำเข้าร้อยละ 0.40

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสินค้าของเด็กเล่นมีระยะเวลาเหลือเพียง 5 เดือน ในการเตรียมพร้อมปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบใหม่ของสินค้าเด็กเล่น สินค้าของเด็กเล่นไม่มีใบรับรองด้านความปลอดภัยจากห้องทดลองที่ได้รับการรับรองจาก CPSC จะไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ

2. ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่ต้องการทราบข้อมูลมาตรฐาน ASTM F963-08 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย American Society for Testing and Materials (ASTM) สามารถสั่งซื้อหนังสือมาตรฐานหรือดาวน์โหลดไฟล์ ในราคา 62 เหรียญสหรัฐฯ ได้จาก website สมาคม www.astm.org/Standards/F963.htm

3. ค้นหารายชื่อห้องทดสอบเอกชน (Third Party Laboratory) ซึ่ง CPSC รับรอง ได้จาก Website ของ CPSC: www.cpsc.gov/cgi-bin/labsearch ซึ่งมีห้องทดสอบจำนวน 4 แห่ง ในประเทศไทย คือ (1) Intertek Testing Service (2) Pro Application Services Co., Ltd, (3) SGS (Thailand) Limited และ (4) Testing Laboratory, Mattel Bangkok Ltd. รวมอยู่ด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ