รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2011 14:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑. เศรษฐกิจของกรีซยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซได้เปิดเผยว่า ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในปี ๒๕๕๔ จะหดตัวค่อนข้างมากและเลวร้ายกว่าที่คาดไว้คือมากกว่า -๔.๕% และย้ำว่ารัฐบาลจะไม่ออกมาตรการรัดเข็มขัดใหม่เพิ่มเติมอีก เนื่องจากการใช้มาตรการตัดลดเงินเดือนและการเก็บภาษีสูง ได้ส่งผลให้มีการประท้วงของประชาชนและทำให้เศรษฐกิจประเทศถดถอยและนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ ๔๐ ปี โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังกรีซได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจหดตัวลงระหว่าง ๓.๘ - ๓.๙ % นอกจากนี้ ELSTAT ได้รายงานข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจกรีซดังนี้

๑.๑ ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเหลือ ๒.๔% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ (ที่เท่ากับ ๓.๓%) ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มลดลง -๐.๕% เสื้อผ้า/รองเท้าลดลง -๑๓.๖% สินค้าคงทนลดลง -๒.๑% และราคายาและเวชภัณฑ์ลดลง -๐.๘% ส่วนราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้น +๐.๕%

๑.๒. GDP ในไตรมาสสองของปี ๒๕๕๔ ลดลง -๖.๙% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการภายในประเทศลดลง (รายจ่ายผู้บริโภคและรายได้ต่อหัวลดลง) แม้ว่าจะมีการดุลการค้าต่างประเทศดีขึ้นแต่ส่งผลเพียงเล็กน้อย

๑.๓ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ ลดลง -๑๓.๑% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และลดลง -๘.๘% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงดัชนีภาคอุตสาหกรรมดังนี้

          ดัชนีภาคอุตสาหกรรม         เปรียบเทียบกับเดือน   เปรียบเทียบกับช่วง ๖

เดียวกันปีก่อน เดือนแรกของปีก่อน

๑. การผลิตด้านเหมืองแร่และถ่านหิน           -๒๒.๓%               -๓.๓%
๒. การผลิตด้านโรงงานอุตสาหกรรม           -๑๒.๒%               -๙.๕%
๓. การผลิตด้านไฟฟ้า                      -๑๕.๗%               -๙.๐%
๔. การผลิตด้านประปา                      -๔.๖%               -๔.๖%

๑.๔ ยอดรถยนต์จดทะเบียน ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (มกราคม - กรกฎาคม) ยอดรถยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง ๒๕.๒% ในขณะที่ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์รวม ๓๒.๓๔๕ คันหรือลดลง ๑๒.๕% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือลดลง ๒๒.๕% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ ที่มียอดจดทะเบียน ๔๑.๗๑๔ คัน

๑.๕ การว่างงาน ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ที่เท่ากับ ๑๕.๘% เป็น ๑๖.๖% และ ๑๒% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนคนว่างงาน ๘๒๒,๗๑๙ คน และจำนวนคนที่อยู่ระหว่างรองานอีก ๔,๓๘๓,๓๗๔ คน (จำนวนคนมีงานทำ ๔,๑๓๑,๕๒๘ คน)

๑.๖ การค้าปลีก ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ปริมาณการค้าปลีกปรับตัวลดลง ๑๐.๙% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน โดยยอดขายสินค้าที่ลดลงมาได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ - เครื่องใช้ไฟฟ้า - อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน (-๑๔.๘%) น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันเครื่อง (-๑๒.๓%) ซุปเปอร์มาร์เก็ต (-๗.๖%) และร้านขายหนังสือ (-๑.๔%) ในทางกลับกันสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นคือ เวชภัณฑ์- เครื่องสำอางค์ (+๑.๔%) ทั้งนี้ดัชนีมูลค่าการค้าปลีก (ราคาปัจจุบัน) รวมน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง -๘.๐% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓

สำหรับในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ ปริมาณการค้าปลีกปรับตัวลดลง ๑๑.๔% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และดัชนีปริมาณการค้าปลีก (รวมน้ำมันรถยนต์) ลดลง -๑๑.๔% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ และ ๔.๕%เ เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ส่วนดัชนีมูลค่าการค้าปลีก (ราคาปัจจุบัน) รวมน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง -๘.๒% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓

๒. ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ กรีซขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ๑๕.๕๑๓ พันล้านยูโร (ต่ำกว่าเป้าหมายเดิม ๑๖.๔๖๕ พันล้านยูโร) โดยจัดเก็บงบประมาณรายได้สุทธิได้รวมทั้งสิ้น ๒๖.๘๔๗ พันล้านยูโรลดลง ๖.๔% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าที่คาดไว้ และเป็นผลจากรายได้ที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ซ้ำจากปี ๒๕๕๓ รวมถึงรายได้จากภาษีเงินได้ลดลงที่เป็นผลจากการออกมาตรการเก็บภาษีและเงินรายได้ที่ลดลง และการขอคืนภาษีที่มีมูลค่าสูงขึ้น รายได้จากโครงการการลงทุนของภาครัฐลดลง -๘.๑% หรือ ๑๐๓ ล้านยูโร

ในส่วนของการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น ๗.๑% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเพิ่มเงินกองทุนบำนาญ รายจ่ายสำหรับคนว่างงานและรายจ่ายของหนี้สินของโรงพยาบาลรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น

๓. Mr. Haris Kastanidis รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยกรีซได้เสนอมาตรการปฏิรูปทางการเงินของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งประสบความลำบากทางการเงินได้แก่ การรีไฟแนนซ์จากกองทุนเงินกู้ การขยายเวลาจ่ายชำระหนี้คืนสูงสุดถึง ๒๕ ปี และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จาก ๑๑.๕% เป็น ๕.๙% โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะต้องลดต้นทุนเงินเดือนลงโดยการโอนถ่ายพนักงานไปให้หน่วยงาน/องค์กรสาธารณะอื่นๆ ที่มีความจำเป็น

ทั้งนี้หน่วยงานท้องถิ่นที่มีภาวะหนี้เกินตัวมีจำนวนไม่เกิน ๑๕ แห่ง มีจำนวนเงินกู้รวมกันราว ๑.๙ พันล้านยูโร (๑.๑ พันล้านยูโรเป็นหนี้กองทุนเงินกู้และ ๘๐๐ ล้านยูโรเป็นหนี้ธนาคารเอกชน)

๔. ธนาคารแห่งชาติกรีซรายงานว่า ในช่วง ๓ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง -๕.๒% ในขณะที่ตลอดปี ๒๕๕๓ ราคาอาพาร์ทเม้นท์ลดลง -๔๗% ทั้งนี้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในกรีซมีสัดส่วน๑ ใน ๔ ของการลงทุนทั้งหมด โดยจากสถิติพบว่า อาพาร์ทเม้นท์เก่า (อายุเกิน ๕ ปี) ได้รับผลกระทบจากความกดดันด้านราคาอย่างหนักโดยราคาตกลงไป ๕.๕% ในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๕๔ (หลังจากที่ราคาตกลงไปแล้ว ๕.๐% ในปี ๒๕๕๓)ส่วนราคาอาพาร์ทเม้นท์สร้างใหม่ราคาตกลงไป ๓% โดยในกรุงเอเธนส์มีราคาน้อยกว่าในเมือง Thoessaloniki ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองอยู่ ๖.๗%

๕. จากผลการสำรวจของ ICAP ซึ่งเปิดเผยว่า ในปี ๒๕๕๓ บริษัทต่างๆ ในทุกภาคอุตสาหกรรมของกรีซแจ้งว่ามีผลประกอบการโดยเฉลี่ยขาดทุน โดยการศึกษาจากรายงานทางการเงินของบริษัทจำนวน ๒๕,๖๑๖ บริษัท (บริษัทด้านอุตสาหกรรม ๕,๑๗๖ บริษัท บริษัทด้านการเงิน ๖,๘๗๑ บริษัท และบริษัทด้านการท่องเที่ยว ๓,๓๔๑ บริษัท) พบว่า ยอดขายโดยรวมลดลง -๓๓% แต่ไม่ได้หักต้นทุนการขาย ซึ่งส่งผลให้ลดกำไรสุทธิลงอย่างเห็นได้ชัด (-๑๑.๖%) และรายได้จากการประกอบการลดลง ๗๘% (เท่ากับ ๓.๗ พันล้านยูโร) จากรายงานดังกล่าวทำให้เห็นภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจขาลงอย่างเห็นได้ชัดและแสดงให้เห็นว่า กำไรของภาคเอกชนลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

๖. สถานทูตกรีซในประเทศต่างๆ ได้รายงานดังนี้

๖.๑ สถานทูตกรีซในกรุง Nicosia ประเทศไซปรัส ได้รายงานว่า ในช่วง ๒๐ เดือนที่ผ่านมาบริษัทที่มีเจ้าของเป็นกรีซจำนวนกว่า ๑,๕๐๐ บริษัทได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่ไซปรัส โดยเฉพาะในภาคการเงิน การค้าและการก่อสร้าง เนื่องจากผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในกรีซ ทั้งนี้ไซปรัสถือเป็นสถานที่น่าสนใจของคนกรีกในการหางานทำ จากสถิติของธนาคารกลางในไซปรัสรายงานว่า ในปี ๒๕๕๓ มูลค่าการลงทุนของกรีซในไซปรัสมีมูลค่าทั้งสิ้น ๗๑๐.๒ ล้านยูโร

๖.๒ สถานทูตกรีซในลอนดอน ประเทศอังกฤษ รายงานว่า กรีซเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมที่สุดของชาวอังกฤษ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว ๒.๕ ล้านคนต่อปี ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศกรีซและอังกฤษในส่วนการท่องเที่ยวและการขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้นและทำให้กรีซได้ดุลการค้า

๖.๓ สถานทูตกรีซในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน รายงานว่า ดุลการค้าระหว่างกรีซและจีนในปี ๒๕๕๓ มีมูลค่า ๒.๗ พันล้านยูโร โดยในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ มีมูลค่า ๙๗๔ ล้านยูโร ทั้งนี้ในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (มกราคม - พฤษภาคม) สินค้ากลุ่มอาหารมีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค +๕๕.๕% น้ำมันเชื้อเพลิง +๘๗.๓% อาหาร +๑๗% และเครื่องดื่ม +๔๑๗% ทั้งนี้หินอ่อน เหมืองแร่และพลาสติกเพิ่มมากกว่า ๕๐% ในขณะที่หนังดิบและขนสัตวร์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ -๗๓.๓% และ ๓๒.๖% ตามลำดับ

๗. Mr. Alexandos Fourlas รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า คณะกรรมการร่างกฎหมายกำลังจะออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความง่ายต่อการทำธุรกิจในกรีซ กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างภาวะแวดล้อมให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจในกรีซและการให้บริการที่ดีขึ้นของภาครัฐ ด้วยการขจัดอุปสรรคด้านการจัดการของภาครัฐและระบบราชการ

๘. บริษัทโคคาโคล่ากรีซ (Coca-Cola Hellenic : CCH) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลมโคคาโคล่าใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รายงานว่า เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำตาลและอลูมิเนียมส่งผลกระทบต่อกำไรในไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๕๔ ซึ่งมีผลกำไรที่ ๑๔๗ ล้านยูโร (คาดการณ์ไว้ที่ ๑๕๕.๒ ล้านยูโร)

ทั้งนี้บริษัท CCH จะซื้อน้ำเชื่อมเข้มข้นจากบริษัท Coca Cola Co. เพื่อนำไปบรรจุขวดและกระจายสินค้าน้ำอัดลมยี่ห้อ โคคาโคล่า สไปรท์ และแฟนต้า โดยมีลูกค้ากว่า ๕๖๐ ล้านคนใน ๒๘ ประเทศ รวมถึงรัสเซีย ไนจีเรีย และอิตาลี ยอดขายของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้น ๔% หรือมีปริมาณ ๖๐๒.๕ ล้านหน่วย ซึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย (คาดไว้ ๕๙๕.๖ ล้านหน่วย) ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๕๔ บริษัท CCH รายงานว่าผลกำไรลดลง ๒๘% มีมูลค่า ๑๔๖ ล้านยูโรเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า ๒๐๒ ล้านยูโร ทั้งนี้ผู้บริหารของบริษัทแจ้งว่า ยังไม่มีแผนขยายโรงงานใหม่ในอนาคต

๙. สมาคมการท่องเที่ยวของกรีซ (SETE) รายงานว่าในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนกรีซจำนวน ๖,๔๕๘,๖๑๒ คน เพิ่มขึ้น ๑๒.๖% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (จำนวน ๕,๘๗๔,๑๔๔ คน) แม้ว่ากรีซจะเสียส่วนแบ่งตลาดดั้งเดิมในระดับสูงไปคือ เยอรมันและอังกฤษ เนื่องจากวิกฤตทางการเงิน แต่กลับมีนักท่องเที่ยวจากประเทศบอลข่านและรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนในเศรษฐกิจกรีซ ๑๖% หรือ ๒๓๐ พันล้านยูโร และทำให้เกิดการจ้างงาน ๑ ใน ๕ ของประชากร ขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกรีซกำลังได้รับประโยชน์จากความไม่สงบทางการเมืองในอาฟริกาเหนือ

๑๐. บริษัทปิโตรเลียมกรีซ (Hellenic Petroleum) ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศในแถบบอลข่านรายงานว่า มีกำไรสุทธิ ๖๐ ล้านยูโร เพิ่มขึ้น ๑๖ ล้านยูโรจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ถึง ๒ เท่า ทั้งนี้รัฐบาลกรีซวางแผนที่จะขายกิจการทั้งหมดหรือ ๓๕.๕% ของหุ้นในกรีซ บริษัทได้ดำเนินการตัดค่าใช่จ่ายและลงทุนเพิ่มในส่วนโรงกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มรายได้เนื่องจากประเทศกำลังต่อสู้กับการตัดลดรายจ่ายของภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การลดค่าจ้าง การสูญเสียตำแหน่งงานและบริษัทปิดกิจการส่งผลต่อการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในกรีซอย่างน้อย ๑ ใน ๑๐ อย่างไรก็ดี บริษัทได้รับการชดเชยจากผลกำไรที่ลดลงในไตรมาสที่ ๒ ด้วยการช่วยลดภาษีเงินได้ เพิ่มอัตราการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ และเพิ่มยอดขายจากแผนกไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ

๑๑. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของกรีซ

      รายการ               มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)              อัตราขยายตัว (ฑ%)
                      ปี๒๕๕๓      ปี ๒๕๕๓       ปี๒๕๕๔        ปี๕๓/๕๒       ปี๕๔/๕๓

(ม.ค. - พ.ค.) (ม.ค.- พ.ค.) (ม.ค.-พ.ค.) (ม.ค.-พ.ค.)

ดุลการค้า           -๔๒,๒๐๑       -๑๙,๕๔๘       -๑๑,๓๔๐       +๔.๕๒%       -๔๑.๙๙%
(Trade balance)
การส่งออก           ๒๑,๕๙๘         ๘,๑๗๑        ๑๑,๖๘๘       +๓.๗๐%       +๔๓.๐๔%
(Export)
การนำเข้า           ๖๓,๗๙๙        ๒๗,๗๑๙        ๒๓,๐๒๘       +๔.๒๘%       -๑๖.๙๒%
(Import)
หมายเหตุ ข้อมูลล่าสุดจาก World Trade Atlas

๑๑.๑ ปี ๒๕๕๔ (มกราคม - พฤษภาคม) กรีซมีมูลค่าการค้ารวม ๓๔,๗๑๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลง -๕๐.๘๓% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ๗๐,๖๐๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกมูลค่า ๑๑,๖๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า ๒๓,๐๒๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้กรีซขาดดุล -๑๑,๓๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๑๑.๒ การส่งออก กรีซส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเกือบ ๕๐% โดยมีประเทศที่กรีซส่งออกสำคัญได้แก่ อิตาลี (สัดส่วน ๑๐.๗๐%) เยอรมัน (๘.๒๐%) ตุรกี (๗.๖๘%) ไซปรัส (๖.๑๗%) บัลแกเรีย (๕.๕๘%) สหรัฐอเมริกา (๔.๗๖%) สหราชอาณาจักร (๔.๔๖%) ฝรั่งเศส(๓.๓๔%) และโรมาเนีย(๒.๘๕%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่และน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยา อะลูมิเนียม พลาสติก เครื่องจักรไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูป เครื่องจักร และเหล็ก

๑๑.๓ การนำเข้า กรีซยังคงนำเข้าสินค้าจากประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก โดยมีประเทศที่กรีซนำเข้าสินค้าได้แก่ เยอรมนี (สัดส่วน ๑๑.๖๘%) อิตาลี (๑๐.๐๙%) รัสเซีย (๘.๕๒%) จีน(๖.๔๒%) เนเธอร์แลนด์(๕.๗๕%) ฝรั่งเศส (๕.๖๖%) เบลเยี่ยม(๓.๙๖%) สเปน (๓.๕๐%) สหราชอาณาจักร (๓.๐๗%) และตุรกี (๒.๘๐%)

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรีซนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ ๔ (ไทยอันดับที่ ๔๔) และมีประเทศคู่แข่งของไทยที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย (อันดับที่ ๒๔ สัดส่วน ๐.๙๗) อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๔๑ สัดส่วน ๐.๓๔) ไต้หวัน (อันดับที่ ๔๒ สัดส่วน ๐.๓๓) และมาเลเซีย (อันดับที่ ๕๐ สัดส่วน ๐.๒๒)

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา เรือ เครื่องจักร เครื่องเรือจักร เครื่องจักรไฟฟ้า สินแร่และน้ำมัน ยานพาหนะ พลาสติก และเหล็ก

๑๑.๔ สำนักงานสถิติแห่งชาติกรีซ (ELSTAT) ได้รายงานว่า

  • ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ กรีซขาดดุลการค้าลดลง ๓๖.๔% และในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ (มกราคม - มีนาคม) ขาดดุลลดลง ๓๓.๔% ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และการนำเข้าที่ลดลงเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคลดลงดังนี้ - การขาดดุลการค้าในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๔ (ยกเว้นน้ำมัน) มีมูลค่า ๔,๖๐๙.๕ ล้านยูโร เมื่อเทียบกับการขาดดุลการค้าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า ๖,๙๑๗.๕ ล้านยูโร กรีซขาดดุลดลง ๓๓.๔%
  • การส่งออกในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ กรีซส่งออกมีมูลค่า ๑,๙๓๘.๑ ล้านยูโร เพิ่มขึ้น ๓๕.๘% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่า ๑,๔๒๗.๐ ล้านยูโร โดยมูลค่าการส่งออก (ยกเว้นน้ำมัน) กรีซส่งออกเพิ่มขึ้น ๑๓.๕% - การนำเข้าในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ กรีซนำเข้า (ไม่รวมน้ำมัน) มีมูลค่า ๓,๐๐๗.๘ ล้านยูโร ลดลง ๑๐.๗% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่า ๓,๓๖๘.๖ ล้านยูโร โดยมูลค่าการส่งออก (ยกเว้นน้ำมัน) กรีซส่งออกเพิ่มขึ้น ๑๓.๕% และลดลง ๑๔% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

๑๒. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจกรีซ ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔

                                        จำนวน          % เปลี่ยนแปลงเมื่อ        % เปลี่ยนแปลง
                                        (ราย)           เทียบกับเดือนก่อน/       เมื่อเทียบกับช่วง
                                                          ไตรมาสก่อน           เดียวกันปีก่อน
๑. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (มิ.ย. ๒๕๕๔)                            +๒%                   -๑๓.๑%
๒. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (มิ.ย. ๒๕๕๔)                         -๕.๕%                    -๕.๕%
๓. การบริโภค (มิ.ย.  ๒๕๕๔)                                  +๓.๔%                    -๘.๒%
๔. ภาวะเงินเฟ้อ (ก.ค. ๒๕๕๔)                                 -๑.๔%                    +๒.๔%
๕. อัตราการว่างงาน (พ.ค. ๒๕๕๔)            ๑๖.๖%             +๐.๘%                    +๔.๖%
(จำนวนคนว่างงาน)                       ๘๒๒,๗๑๙ คน
๖. จำนวนคนที่ได้รับการจ้างงาน(พค. ๒๕๕๔)   ๔,๑๓๑,๕๒๘ คน             -                       -
๗. GDP (ไตรมาสสองปี ๕๔/ล้านยูโร)          ๔๐,๙๐๘             +๘.๕%                    -๖.๙%
ที่มา : Hellenic statistical Authority

๑๓. การค้าไทย-กรีซ

๑๓.๑ ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค.- ก.ค.) ไทยส่งออกสินค้าไปกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๑๐๖.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -๒๒.๗๔% ซึ่งส่งออกมูลค่า ๑๓๘.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมูลค่า ๑๒.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๓๕.๒๒%) เม็ดพลาสติกมูลค่า ๑๑.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๓๑๒.๐๘%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่า ๑๐.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๑๘.๑๕%) รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบมูลค่า ๗.๗ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๘๕.๒๑%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มูลค่า ๖.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๕๘.๘๑%)

สินค้าที่มีการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และและส่วนประกอบ (-๘๕.๒๑%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-๕๐.๘๙%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (-๔๘.๒๔%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-๓๕.๒๒%) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-๒๑.๑๗%)

สินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (+๒,๘๔๔,๐๐๐%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+๑,๑๐๕.๑๘%) เม็ดพลาสติก (+๓๑๒.๐๘%) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+๗๑.๓๕%)

๑๓.๒ ในช่วง ๗ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ (ม.ค. - ก.ค.) ไทยนำเข้าสินค้าจากกรีซทั้งสิ้นมูลค่า ๒๓.๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งนำเข้ามูลค่า ๒๐.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น +๑๒.๗๗%

สินค้านำเข้าสำคัญ ๕ อันดับแรกได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ มูลค่า ๑๔.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔๐.๔๒%) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า ๒.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๘๗.๖๘%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า ๒.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-๕๔.๖๖%) แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ มูลค่า ๑.๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๒๖๓.๕๑%) และเคมีภัณฑ์มูลค่า ๐.๘ ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+๔.๓๓%)

สินค้านำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-๖๘.๖๙%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม (-๕๔.๘๖%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-๕๔.๖๖%) เครื่องเพชรพลอย อัญมณีเงินแท่งและทองคำ (-๔๙.๖๕%) และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ (-๔๒.๖๘%)

๑๓.๓ คาดว่าในช่วง ๕ เดือนหลังของปี ๒๕๕๔ การส่งออกสินค้าไทยไปกรีซจะชะลอตัวลง โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น ๑๘๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ที่ ๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -๑๐ เนื่องจากการที่รัฐบาลยังคงใช้มาตรการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณต่อไป (แม้ว่ากรีซจะได้รับอนุมัติเงินกู้งวดที่ ๒ วงเงิน ๑๐๙ พันล้านยูโรและ IMF แล้วก็ตาม) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และความต้องการบริโภคของประชาชนลดลง สินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดีได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ