คู่มือการประกอบการค้าและการลงทุนในต่างประเทศโรมาเนีย (Romania)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2011 15:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลพื้นฐาน

          1.1 สภาพภูมิประเทศ          ตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป และทางทิศเหนือของคาบสมุทรบอลข่าน
              พื้นที่                   238,391 ตารางกิโลเมตร
          1.2 สภาพภูมิอากาศ           เขตอบอุ่น  & แบบภาคพื้นทวีป
          1.3 เมืองหลวง              บูคาเรสต์
              เมืองสำคัญ              Iasi, Constanta, Cluj-Napoca, Timisoara, Galati, Craiova Brasov

1.4 การแบ่งเขตการปกครอง 42 มณฑล(รวมเมืองหลวง)

          1.5 ระบบการปกครอง         แบบสาธารณรัฐ (ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา)
              ผู้นำประเทศ             Traian Basescu
              นายกรัฐมนตรี            Emil Boc (PDL)
          1.6 ประชากร               21.9 ล้านคน
          1.7 ภาษาราชการ            ภาษาโรมาเนีย
              ศาสนา                 ออร์ทอดอกซ์ 86.7% คาทอลิก  4.7% โปรเตสแตนท์ 3.7%
              สมาชิก                 NATO (2004), EU (2007), WTO
          1.8 สกุลเงิน                รอน RON
          1.9 เวลา                  GMT + 2 ชั่วโมง

http://en.wikipedia.org/wiki/Romania

1.10 วันหยุดประจำปี

  • New year - 1 และ 2 มกราคม
  • Easter Monday — 2 วัน
  • Labour Day / May Day — 1 พฤษภาคม
  • The first and the second day of Pentecost ? อาทิตย์ที่เจ็ดหลังจาก Easter และวันต่อมา
  • St. Mary — 15 สิงหาคม
  • National Day — 1 ธันวาคม
  • Christmas — 25 และ 26 ธันวาคม

1.11 เส้นทางคมนาคม ทางอากาศ

ในบูคาเรสต์ประกอบด้วยสนามบินสองแห่งคือ Henri Coanda ซึ่งเป็นการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ TAROM Baneasa คือสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ และเป็นเที่ยวบินแบบประหยัด (budget flight) นอกจากนี้ยังมีสนามบินอื่นๆ ในเมืองต่างๆ อีก 14 สนามบิน บางสนามบินมีการบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ และสามารถเชื่อมต่อไปยังบูคาเรสต์โดยสายการบินภายในประเทศได้ทุกเส้นทาง

สายการบินโรมาเนีย TAROM เป็นสายการบินที่ให้บริการการบินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ตลอดจนให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างจุดสำคัญในโรมาเนีย

ทางถนน

เส้นทางหลวงของโรมาเนียกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ให้ได้มาตรฐานและทันสมัยมากขึ้นประกอบด้วยทางหลวงพิเศษ 6 สายหลัก และถนนเลี่ยงเมือง 6 สายเช่นกัน บูคาเรสต์ คือจุดศูนย์กลางและเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางสู่เมืองต่างๆ ตลอดจนประเทศใกล้เคียงเช่น ฮังการี บัลแกเรีย และยูเครน

ทางรถไฟ

บูคาเรสต์เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรถไฟระดับชาติของโรมาเนียที่ดำเนินการโดย Caile Ferate Romane สถานีรถไฟหลักคือ Gara de Nord หรือสถานีสายเหนือ ที่ให้บริการการเชื่อมต่อกับทุกเมืองใหญ่ในโรมาเนีย และปลายทางต่างประเทศ นอกจากนี้เมืองบูคาเรสต์ยังมีห้าสถานีรถไฟสำคัญอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดย CFR คือ Basarab, Obor, Baneasa, Progresu และ Ilfov

ทางเรือ

ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโรมาเนียทางฝั่งทะเลดำคือ Constanta สามารถรองรับเรือหนักมากกว่า 150,000 ตัน Mangalia และ Sulina เป็นท่าเรือปลอดภาษี นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออีกหลายแห่งทางฝั่งแม่น้ำดานูบ เช่นTurnu Severin Giurgiu Calarasi Cernavoda Orsova Turnu Magurele และ Oltenita Braila Galati และ Tulcea เป็นท่าเรือเชื่อมต่อระหว่างทางฝั่งทะเลและแม่น้ำ

1.12 ระบบการเงิน การธนาคาร

ระบบการธนาคารในโรมาเนียมีสองระดับ ระดับแรกคือธนาคารแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นธนาคารกลาง กำหนดและดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระ ระดับที่สองคือธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่ให้บริการทางด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน และการชำระเงิน ในปัจจุบันการจัดตั้งธนาคารต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อย 37 ล้านรอน (ประมาณ 10 ล้านยูโร)

ธนาคารส่วนใหญ่ได้แปรรูปเป็นบริษัทเอกชน ยกเว้นธนาคารเดียวคือ CEC (Romanian Savings Bank) ซึ่งยังเป็นของรัฐบาล ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ BCR (Romanian Commerce Bank), BRD-Societe Generale และ Raiffeisen

2. เศรษฐกิจการค้า

2.1 ภาวะเศรษฐกิจ

ก่อนที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลก เศรษฐกิจโรมาเนียเติบโตอย่างมั่นคงตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการอย่างเหนียวแน่นของตลาดยุโรป การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้บัญชีขาดดุลของประเทศปรับตัวสูงตามภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ในปี 2008 เศรษฐกิจโรมาเนียเติบโตเร็วที่สุดในยุโรปเนื่องจากการขยายตัวอย่างมากของการปล่อยสินเชื่อ แต่ในปี 2009โรมาเนียต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำ (GDP ตกลงมากกว่า ร้อยละ 7) ทางรัฐบาลจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission และ ธนาคารโลก World Bank Group โดยได้รับเงินสนับสนุนทั้งสิ้นจำนวน 19.95 พันล้านยูโร ระหว่างปี 2009-2010 ถึงแม้ว่ามาตรการทางการเงินที่เข้มงวดได้นำมาใช้ตลอดปี 2010 แต่ GDP ยังคงมีอัตราลดลง จนถึง -8.9% ภายในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานทางการเงิน ณ ขณะนี้ ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการเติบโตในปี 2011นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP จะโตขึ้น 1.5% ในปี 2011 และตามด้วย 4.4 %ในปี 2012

2.2 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

                                       2007      2008      2009      2010       2011
Indicator                                                                       forecast
GDP per head (Euro)                    5,938     6,501     5,611     5,903      6,400
GDP per head ($ at PPP)                9,927     12,001    11,013    11,203     11,700
Economic Growth (% GDP change)         6.3       7.3       -7.1      -1.9       1.5
Government consumption (% of GDP)      12.3      12,3      12,3      12.9       N/A
Budget balance (% of GDP)              -2.5      -3.9      -8,3      -7.8       -6.4
Consumer prices (% change per year)    4.84      4.16      5.6       5.9        5.2
Public debt (% of GDP)                 21.8      13.4      23.9      40.1       40
Labour costs per hour (USD)            3.2       3.8       4.2       4.7        N/A
Recorded unemployment (%)              4.3       3.9       6.3       9          7.5
Current-account balance (% GDP)        -13.9     -10       -4.4      -5.5       -6
Foreign-exchange reserves (mUS$)       39,956    39,468    28,300    324,300    N/A

2.3 นโยบายเศรษฐกิจการค้า

1.2 Objectives and Priorities of the Government

  • ส่งเสริมการแข่งขัน โดยใช้กลยุทธ์สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีพแก่พนักงานในสาขาอาชีพต่างๆ
  • ยกเลิกกฎหมายและการจัดการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและก๊าซ
  • เสริมสร้างศักยภาพและปรับปรุงประสิทธิภาพของ RD & I ( Research ,Development & Innovation)โดยการใช้ระบบการจัดหาเงินทุนรูปแบบใหม่
  • จัดลำดับความสำคัญของการลงทุนในภาครัฐเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแข่งขัน
  • ดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนโดยการเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
  • พัฒนาความร่วมมือภาค RD & I ของสหภาพยุโรป โดยการส่งเสริมแผนยุทธศาสตร์ด้าน R & D

2.4 การค้าระหว่างประเทศ

ในปี 2010 การค้าระหว่างประเทศของโรมาเนียกับทั่วโลก เป็นการส่งออกมูลค่า 49.38 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 61.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การค้าขาดดุล 12.57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ยานยนต์และอุปกรณ์ ยา เลนส์ และพลาสติก เป็นต้น

ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก คือ เยอรมนี (18.04%) อิตาลี (13.71%) ฝรั่งเศส (8.33%) ตุรกี (6.81%) ฮังการี (4.79%) ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 58 ของโรมาเนีย (0.06%)

สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ ผลิตภัณฑ์ยา ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องกล และพลาสติก เป็นต้น แหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ เยอรมนี (16.71%) อิตาลี (11.48%) ฮังการี (8.68%) ฝรั่งเศส (5.92%) จีน (5.43%) ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 37 ของโรมาเนีย (0.21%)

2.5 การค้ากับประเทศไทย

2.6 กฎระเบียบการนำเข้า

  • หลังจากที่เข้าร่วมสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 โรมาเนียได้ใช้กฏระเบียบของสหภาพยุโรป ระบบ GSP ระบบ Harmonized system และข้อตกลงสองฝ่ายระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศที่สาม
  • การค้าระหว่างอียู และประเทศที่สามทำได้อย่างเสรี โดยสินค้านำเข้าจากเขตอียู ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศุลกากร แต่สินค้าจากประเทศที่สามต้องผ่านด่านศุลกากร
  • ใบรับรองสินค้ายังคงต้องใช้สำหรับสินค้าบางประเภท
  • สินค้าประเภทน้ำมัน ผลิตภัณฑ์เคมีบางอย่าง และอาวุธยุทโธปกรณ์ ต้องขออนุญาตการนำเข้า
  • รัฐบาลสามารถกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) ในกรณีที่สินค้านำเข้าสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมในประเทศของผู้นำเข้า

2.7 โอกาสทางการค้า

  • ด้วยประชากรมากกว่า 21 ล้านคน จึงทำให้โรมาเนียเป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่เป็นอันดับสองในเขตยุโรปกลางและตะวันออก
  • เขตภูมิประเทศสามารถเข้าถึงตลาดยุโรปตะวันออก บอลข่าน และตะวันออกกลางได้ง่าย
  • โรมาเนียได้กองทุนจากสหภาพยุโรปเพื่อพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเกษตรกรรม เป็นจำนวน 31 พันล้านยูโร ระหว่างปี 2007-2013 สาขาหลักที่มุ่งเน้นคือ พลังงานทดแทน การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และยานยนต์

ปัญหาและอุปสรรค

  • โครงร่างกฎหมายในโรมาเนีย ยังไม่สมบูรณ์พอต่อการประยุกต์ใช้ในแต่ละสาขา และบ่อยครั้งเกิดความขัดแย้งกันเอง จากการที่โรมาเนียเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ปัญหานี้จึงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงและต้องแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นการมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย การเงินและภาษี จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อการทำธุรกิจในโรมาเนีย
  • การจะได้รับสิทธิ์กู้ยืมและการสนับสนุนทางการเงินยังค่อนข้างลำบาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ส่งผลให้สถาบันการเงินเข้มงวดในด้านการปล่อยสินเชื่อ สถานการณ์อาจดีขึ้นแต่คงต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของดัชนีทางเศรษฐกิจหลัก เช่น ความมั่นคงของการส่งออก การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินกองทุน EU Fund ให้มากขึ้น (ระหว่างปี 2007-2009 สามารถนำเงินกองทุนมาใช้ได้เพียง 10%)
  • ความลังเล และไม่แน่ใจต่อนักลงทุนที่ต้องการจะขยายธุรกิจในโรมาเนีย ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น
  • แรงกดดันจากเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นหลายระดับชั้น อย่างฉุกเฉินและบ่อยครั้งจากรัฐบาลโรมาเนีย
  • การลดค่าใช้จ่ายในภาครัฐ ส่งผลให้ปริมาณการจัดซื้อ จัดจ้างลดลง
  • การยืดระยะเวลาชำระเงิน ในส่วนของการทำสัญญาจากภาครัฐ
  • สภาพโครงสร้างพื้นฐานที่ด้อยมาตรฐานในบางพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุนระบบการบริหารที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ขาดความโปร่งใส และคอรัปชั่น ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก ที่ทางรัฐบาลจะต้องดำเนินการกำจัดให้หมดไปอย่างเร่งด่วน

2.8 ระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า

ท่าเรือและคลังสินค้า

Constanta, Agigea and Mangalia คือท่าเรือหลักทางชายฝั่งทะเลดำ ส่วนทางฝั่งแม่น้ำดานูบ ประกอบด้วยท่าเรือขนาดใหญ่เช่นกัน (Galati, Cernavoda and Braila) Constanta เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย และคลังสินค้าที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดีที่สุดในโรมาเนีย บริเวณท่าเรือเป็นเขตการค้าเสรี สินค้าส่งออกจากไทยสามารถใช้บริการผ่านทางท่าเรือนี้ เพราะเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด และมีการให้บริการขนส่งสินค้าโดยตรงจากเอเชีย

2.9 เกร็ดอื่นๆ ที่ผู้ส่งออกควรทราบ

เงื่อนไขการชำระเงิน

โดยทั่วไปแล้ว เงื่อนไขในการทำธุรกรรมต่างๆ การชำระเงิน และการประกันภัยสามารถทำได้ตามปกติ เช่น การโอนเงิน ตราสารเครดิต เอกสารชำระเงิน ตั๋วแลกเงิน การทำสัญญา และหนังสือค้ำประกัน

โรมาเนียมีระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ผสมผสานกันเป็นอย่างดี การค้าในโรมาเนียมากกว่าร้อยละ 70 เป็นการค้าระหว่างกลุ่มสมาชิกยุโรป และใช้มาตรฐานการชำระเงินในแบบยูโร (SEPA-single euro payments area)

เงื่อนไขการชำระเงินของสัญญาการค้า ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและข้อกำหนดในแต่ละสัญญา การเจรจาต่อรองระหว่างคู่ค้าอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป 15-45 วันถึง 180 วัน

การส่งออกสินค้าไปยังโรมาเนีย

หลังจากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 2007 โรมาเนียได้นำมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของสหภาพยุโรปมาใช้ การที่จะส่งสินค้ามาทำตลาดในโรมาเนียนั้น ควรจะหาพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่น ที่มีความสามารถในการจัดจำหน่ายและเชี่ยวชาญการทำธุรกิจในท้องถิ่น ในปัจจุบันการให้ใบอนุญาต (Licensing) และแฟรนไชส์ (franchising) กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น

3. รายงานตลาดสินค้าที่น่าสนใจ

อาหารกระป๋อง และแปรรูป (Canned & preserved food)

ในปี 2010 เป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในโรมาเนีย ประชากรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้และสูญเสียงาน อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่งของกำลังซื้อในช่วงปี 2006-2009 ได้ทำให้นิสัยการบริโภคและการดำเนินชีวิตของชาวโรมาเนียเปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมากที่สุดคือพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เมื่อเศรษฐกิจถดถอยผู้บริโภคต้องลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน (Durable goods) และการปรับปรุงที่อยู่อาศัย

แต่สำหรับชีวิตในบูคาเรสต์และเมืองใหญ่ๆ แล้ว นอกจากไลฟ์สไตล์ยังคงเหมือนเดิม (ท่องเที่ยว พักผ่อน และช็อปปิ้งในวันสุดสัปดาห์) ลูกจ้างที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ (professional employees) ถูกกำหนดให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากมีเวลาเตรียมอาหารน้อยลง ความต้องการอาหารแบบพร้อมทาน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ซุป ซอส และเครื่องปรุงอาหารต่างๆ จึงสูงขึ้น การนำเสนอสินค้าที่ให้ความสะดวกสบาย ลดขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนในการปรุงหรือรับประทาน จะเป็นทางเลือก และสนองความต้องการการบริโภคที่แท้จริงในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

4. การลงทุน

4.1 การลงทุนจากต่างประเทศ

จากรายงานตัวเลขของธนาคารแห่งชาติ โรมาเนียยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งของการลงทุนจากต่างชาติในเขตยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2010 การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติมีจำนวน 2.6 พันล้านยูโร ลดลง 25.5% เมื่อเทียบกับปี 2009 รายงานจากธนาคาร Erste ประเทศออสเตรีย แสดงให้เห็นว่า FDI ในโรมาเนียจะปรับดีขึ้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร พลังงานทดแทน และ IT & C จะเป็นโอกาสและช่องทางธุรกิจที่โดดเด่นต่อนักลงทุน เช่นเดียวกับบริษัท Merrill Lynch ที่มีรายงานออกมาว่า ในปี 2012 โรมาเนียจะกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจที่สุดในการลงทุนทั้งในเขตยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้วยค่าเฉลี่ยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2010-2019 และต้นทุนการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง

4.2 สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน

  • ตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งระหว่างสหภาพยุโรปถึง 3 เส้นทาง (สายที่ 4 สายที่7 และสายที่ 9)
  • แรงงานมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยี IT และวิศวกรรม และได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี
  • แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น ที่ดินเพาะปลูก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

4.3 กฏระเบียบการลงทุน

การลงทุนของต่างชาติ สามารถทำได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ หรือร่วมทุน (Joint venture) ก็ได้ โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนการขออนุมัติการลงทุนเป็นไปตามระเบียบทางกฏหมาย ยกเว้นกรณีที่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของชาติ จะต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลก่อนดำเนินการ

พลเมืองโรมาเนีย และบริษัท (โดยไม่คำนึงว่าผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารในบริษัทจะถือสัญชาติโรมาเนียหรือไม่) มีสิทธิในการครอบครองและเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

4.4 นโยบายส่งเสริมการลงทุน

  • State Aid

นักลงทุนเอกชนในโรมาเนียอาจได้รับผลประโยชน์จากการช่วยเหลือทางธุรกิจ ทั้งจากชาติโรมาเนียและอียู ภายในวงเงินช่วยเหลือที่ได้รับอนุญาตตามกฎระเบียบของรัฐ รวมถึงความช่วยเหลือในด้านกิจกรรมต่างๆ โดยไม่รวมถึง การจ้างงาน การฝึกอบรม การลงทุนในกิจกรรมการประมวลผล R&D การพลังงาน การท่องเที่ยว และการเกษตรกรรม

โครงการความช่วยเหลือของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นใจในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แยกการลงทุนเป็น 4 ประเภทคือ

  • เงินลงทุนเริ่มต้นเกินกว่า 30 ล้านยูโร และการสร้างงานใหม่อย่างน้อย 300 ตำแหน่ง
  • เงินลงทุนเริ่มต้นเกินกว่า 20 ล้านยูโร และการสร้างงานใหม่อย่างน้อย 200 ตำแหน่ง
  • เงินลงทุนเริ่มต้นเกินกว่า 10 ล้านยูโร และการสร้างงานใหม่อย่างน้อย 100 ตำแหน่ง
  • เงินลงทุนเริ่มต้นระหว่าง 5-10 ล้านยูโร และการสร้างงานใหม่อย่างน้อย 50 ตำแหน่ง
  • One Stop Shop Service หน่วยงานที่ให้บริการด้านการลงทุน ( A Romanian Investment Agency ) หรือ RIA ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การบริการแบบครบวงจรสำหรับทั้งชาวโรมาเนียและนักลงทุน ทั้งในด้านระเบียบการ การขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล (state aid) รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ในการลงทุน
  • Local incentives รัฐบาลท้องถิ่นสนับสนุนการลงทุนด้วยการเสนอเงื่อนไขต่างๆ เช่น
  • การยกเว้นภาษีสิ่งก่อสร้าง ซึ่งปกติจะอยู่ระหว่าง 0.25% - 1.5% ของราคาตามบัญชีสุทธิของ สินทรัพย์ (net book value) แต่โดยส่วนมากแล้วจะอยู่ที่ 1.5%
  • การให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในด้านภาษีที่ดิน
  • การยกเว้นภาษีในกรณีการลงทุนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมเป็นของนิคมอุตสาหกรรมนั้น เป็นต้น
  • โรมาเนียมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจาก EU เป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป และเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจภายในประเทศ ถึงแม้ว่ากระบวนการของการยื่นขอและการบริหารกองทุนของสหภาพยุโรปจะค่อนข้างซับซ้อน และต้องประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐของโรมาเนีย แต่ก็นับว่าเป็นแรงจูงใจที่สำคัญต่อผู้ประกอบการที่จะลงทุนในโรมาเนีย
  • นักลงทุนภาคเอกชนอาจได้รับเงินอุดหนุนการจ้างงาน และการช่วยเหลือจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ในกรณีที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค และมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านยูโร

4.5 รูปแบบของธุรกิจ

  • Limited liability company (SRL)
  • Joint stock company (SA)
  • General partnership (SNC)
  • Limited partnership (SCS)
  • Limited partnership on shares (SCA)
  • Branches and Subsidiaries of a foreign company

รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ คือ Limited liability Company (SRL) และ Joint stock Company (SA)

4.6 ต้นทุนการจัดตั้งธุรกิจ

การจัดตั้งบริษัทในรูป SRL ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ 200 รอน (ประมาณ 50 ยูโร) โดยจัดสรรหุ้นส่วนและมีมูลค่าหุ้นขั้นต่ำอยู่ที่หุ้นละ 10 RON และต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 คน มากที่สุด 50 คน ความรับผิดของผู้ถือหุ้นแต่ละราย จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ร่วมถือหุ้นในทุนจดทะเบียนบริษัทจำกัด (SRL) การถือหุ้นสามารถทำได้ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนการจัดตั้งบริษัทในรูป SA ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ 90,000 รอน และต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน

4.7 ภาษี

  • ภาษีรายได้นิติบุคคล (corporate tax) 16%
  • ภาษีธุรกิจบริการไนท์คลับและการพนัน 5% ของรายได้รวม หรือ 16% ของผลกำไร
  • ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ( personal income tax) 16%
  • รายได้ทั้งหมดที่ได้รับ (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 16 ยกเว้นเงินรายได้ จากกิจกรรมที่ดำเนินการในต่างประเทศ
  • ชาวต่างชาติ (รวมถึงชาวโรมาเนียที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกประเทศ) ต้องเสียภาษีในกรณีที่แหล่งที่มาของรายได้เกิดขึ้นในโรมาเนีย
  • รายได้อื่นๆ เช่นการได้รับรางวัล ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 16 %
  • ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารโรมาเนียไม่ต้องเสียภาษี
  • นายจ้างต้องจ่ายค่าประกันสังคม ในอัตราร้อยละ 28-39.2 ของยอดเงินเดือนรวม
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 24 % (ยกเว้น ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ หนังสือ หนังสือพิมพ์ การบริการด้านโรงแรม และสินค้าด้านวัฒนธรรม ร้อยละ 9)
  • ภาษีศุลกากร

โรมาเนียใช้กฎระเบียบและพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านอกเขตอียูตามกฎของสหภาพฯ ภาษีศุลกากรจะคิดตามอัตราราคาสินค้าหรือมูลค่าของสินค้านำเข้า

  • ภาษีสรรพสามิต

สินค้าที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตประกอบด้วย

  • สินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามระบบฮาร์โมไนส์ของ EU (harmonized excisable products) ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์ เบียร์ ยาสูบ เครื่องดื่มให้กำลังงาน สินค้าที่ให้พลังงานและพลังงานไฟฟ้า
  • สินค้านอกเหนือระบบฮาร์โมไนส์ “non-harmonized” เช่น กาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนสัตว์ธรรมชาติ เครื่องประดับ (ทองคำหรือทองคำขาว) น้ำหอม ปืนล่าสัตว์ และปืนส่วนบุคคล เรือยอชท์ และเรือยนต์ที่ใช้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ
  • คลังสินค้าสำหรับการผลิตและเพื่อจัดเก็บสินค้า
  • ภาษีท้องถิ่น
  • ภาษีสิ่งก่อสร้าง 0.1% ของราคาสิ่งปลูกสร้าง
  • ภาษียานยนต์ คิดตามอัตราความแรงของเครื่องยนต์
  • ภาษีอื่นๆ เช่น การใช้เส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า การโฆษณา การจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้า เป็นต้น
  • ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม
  • การปล่อยสารมลพิษทางอากาศในบริเวณที่ควบคุม
  • การจำหน่ายของเสียจากเหล็กและอโลหะ การจำหน่ายไม้ยืนต้น เป็นต้น
  • ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก สินค้าทางด้านอิเลกทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเคมี

4.7 รายชื่อนักลงทุนไทย

ยังไม่มีนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในประเทศโรมาเนีย

4.8 หลักเกณฑ์การนำเงินกลับประเทศ

ตามกฏข้อบังคับ การทำธุรกรรมทางการเงินและเงินลงทุนระหว่างผู้อยู่อาศัย และผู้ที่ไม่ได้อยู่อาศัยสามารถทำได้ทั้งในรูปของเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศ โดยกฎทั่วไปแล้ว การจ่ายเงินระหว่างผู้ที่พำนักอาศัยในประเทศที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าและบริการ ต้องใช้เงินสกุลรอน ในบางสถานการณ์สามารถกระทำได้ในสกุลเงินต่างประเทศเช่น

  • นิติบุคคล ที่มีการจ่ายเงินสดจากการค้าข้ามพรมแดนทั้งสินค้าและบริการ
  • บุคคลหรือนิติบุคคล ผู้ที่ทำการค้าภายในท่าเรือ สนามบิน ศุลกากรหรือบนเส้นทางภายนอกจากต่างประเทศ รถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน
  • บุคคลหรือนิติบุคคล สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือการให้บริการข้ามพรมแดน
  • บุคคลหรือนิติบุคคล สำหรับการทำงานในต่างประเทศ

ทั้งผู้พำนักและไม่ได้พำนักอาศัยในประเทศสามารถถือสินทรัพย์ทางการเงินได้ทั้งในรูปเงินตราต่างประเทศและรอน สำหรับผู้ไม่ได้พำนักอาศัยในประเทศสามารถส่งเงิน หรือโอนรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศโรมาเนียกลับสู่ถิ่นฐานเดิมได้อย่างอิสระ ธนาคารแห่งชาติโรมาเนียจะดำเนินมาตรการปกป้องต่อการทำธุรกรรม ในกรณีที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นระยะเวลาอันสั้น และปริมาณมากเป็นพิเศษ ที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สภาพคล่องและการจัดการนโยบายทางการเงินของประเทศ

4.9 อื่นๆ

แรงงาน

แรงงานโรมาเนียมีทักษะและความรู้ความสามารถสูง โดยเฉพาะทางด้านวิศวกรรม และ IT ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 420 ยูโรต่อเดือน (170 ช.ม. ต่อเดือน) อัตราภาษีค่อนข้างสูง ในส่วนของนายจ้างต้องจ่ายภาษีรายได้และประกันสังคมประมาณร้อยละ 40 ของเงินเดือนพนักงาน

สาขาการลงทุนที่น่าสนใจ

  • การผลิตรถยนต์ และส่วนประกอบ
  • ธุรกิจการเงิน
  • การสื่อสาร
  • การค้า และการท่องเที่ยว
  • ไอที

5.ข้อมูลอื่นๆ

การจัดตั้งสำนักงานตัวแทน

การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนของบริษัทต่างชาติในโรมาเนีย เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในนามของบริษัทต้นสังกัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น การโฆษณา การทำวิจัยตลาด การจัดการทางธุรกิจ ทำสัญญาหรือติดต่อซัพพลายเออร์ ในการจัดตั้งต้องแจ้งความจำนงต่อ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ (Ministry of Economy, Commerce and Business Environment) และเสียค่าใช้จ่ายรายปีในการออกใบอนุญาตประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ

นอกเหนือจากเอกสารการอนุญาตแล้ว สำนักงานตัวแทนจะต้องลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง (Ministry of Public Finances) และหอการค้าโรมาเนีย (Romanian Chamber of Commerce) โดยจะต้องเสียภาษีรายได้นิติบุคคลประจำปี 4,000 ยูโรโดยประมาณ

การจัดตั้งบริษัทสาขา

บริษัทต่างชาติสามารถทำธุรกิจในโรมาเนียได้ทั้งในนามของบริษัทลูก (Subsidiaries) หรือสำนักงานสาขา (Branches) ในขณะที่บริษัทลูก มีสถานะทางกฎหมายและถือเป็นนิติบุคคลโรมาเนีย แต่สำนักงานสาขาถือเป็นเพียงการขยายธุรกิจจากบริษัทต้นสังกัด ดังนั้นจึงไม่มีสถานะทางกฎหมายและทางการเงิน ในโรมาเนียสาขาของบริษัทต่างชาติต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศที่บริษัทต้นสังกัดดำเนินการอยู่ บริษัทแม่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สิน พนักงาน และภาระผูกพันต่างๆ ที่กระทำขึ้นในนามของสาขานั้นๆ สำนักงานสาขาถือเป็นเพียงการทำธุรกิจในประเทศโรมาเนีย จึงไม่สามารถมีบทบาทหรือสถานะที่แยกออกไปจากบริษัทแม่ได้ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากบริษัทต้นสังกัดก่อน ซึ่งแตกต่างจากการเป็นบริษัทลูก ในโรมาเนียถือว่ามีสถานะเป็นนิติบุคคล ขึ้นอยู่กับกฎหมายโรมาเนีย ในทางปฏิบัติ บริษัทลูกจึงต้องปฏิบัติตามพิธีการเช่นเดียวกับการจดทะเบียนบริษัททั่วไปกับ Romanian Trade Registry Office และที่สำคัญการจัดตั้งบริษัทลูกจะต้องมีเงินทุนขั้นต่ำภายใต้กฎหมายบริษัทของโรมาเนียที่กำหนดไว้

การจดสิทธิบัตร

โรมาเนียได้เข้าร่วมในอนุสัญญากรุงปารีสปี 1883 ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม และอนุสัญญาสิทธิบัตรยุโรปปี 1973 ในการที่จะขอให้สิ่งประดิษฐ์ได้รับผลประโยชน์จากการคุ้มครองทางกฎหมายนั้น นักประดิษฐ์ต้องได้รับใบรับรองสิทธิบัตรที่ออกโดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (State Office for Inventions and Trademarks) หรือ OSIM สิทธิบัตรจะมีผลคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์เป็นระยะเวลา 20 ปี ขั้นตอนการลงทะเบียนสิทธิบัตร ตลอดจนสิทธิและภาระผูกพันอันเกิดจากสิทธิบัตรนั้น จะถูกกำหนดและควบคุมโดยกฎหมายฉบับที่ 64/1991

6. คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับการค้าการลงทุน FQA

อะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจในโรมาเนีย

ขึ้นอยู่กับประเภทของการทำธุรกิจ และการเน้นเป้าหมายตลาดภายในประเทศหรือส่งออก การจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายทำได้ง่ายสุด แต่ก็มีข้อจำกัดในการทำตลาด และเป็นเพียงการให้บริการเสริมในนามของบริษัทแม่เท่านั้น

การทำธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ เช่น บริษัทจำกัด (limited liability) กลุ่มบริษัทเพื่อร่วมหุ้น (joint stock companies) สำนักงานสาขา (branch offices) และบริษัทร่วมทุน (joint venture partnerships) การมีพันธมิตรท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อช่วยจัดการในส่วนต่างๆ เช่นระบบราชการในท้องถิ่น การจัดหาสำนักงาน เป็นต้น สำหรับผู้ที่เข้าสู่ตลาดโรมาเนียเป็นครั้งแรก การแต่งตั้งตัวแทนท้องถิ่นคือวิธีการเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด

งานแสดงสินค้า

งานแสดงสินค้าส่วนใหญ่จัดขึ้นที่ Romexpo Exhibition Center, Bucharest: www.romexpo.ro

งานที่สำคัญได้แก่

          ITP                   - International fair for textile and leather
          TIB                   - Bucharest International Technical Fair
          ALIMENTA              - International fair for food industry
          ROMHOTEL              - International Exhibition for the hotel industry and tourism
          C-B-S & BIJOUX        - Trade show gifts, art,antiques, jewelry, watches, cosmetics and perfumes
          IMM                   - Small and Medium-sized Enterprises
          MULTIMEDIA            - Exhibition for the audio-visual field, IT, printing houses, publishing

houses and advertising

          CONSTRUCT EXPO        - International fair for construction technologies, installation, equipment

and materials

          ROMTHERM              - International exhibition of heating, cooling and air conditioning

equipment

EXPO FLOWERS & GARDEN - International exhibition for flower business, landscape design,

horticulture and gardening

          KIDEX                 - The joyful fair for you and your children

7. หน่วยงานติดต่อสำคัญ

          Ministry of Justice (The National Trade Register Office)           www.onrc.ro
          Ministry of Public Finance of Romania                              www.mfinante.ro
          Ministry of Transports                                             www.mt.ro
          Romanian Agency for Foreign Investment                             www.arisinvest.ro
          National Bank of Romania                                           www.bnro.ro
          Romania Exhibition Center                                          www.romexpo.ro

National Office for Prevention and Control of Money Laundering www.onpcsb.ro

          National Institute of Statistics                                   www.insse.ro
          National Sanitary Veterinary and Food Safety Authority             www.ansv.ro
          Chamber of Tax Advisors                                            www.ccfiscali.ro

State Office for the Protection of Inventions and Trade Marks www.osim.ro

          ERNST & YOUNG SRL                                                  www.ey.com/ro
          DELOITTE ROMANIA                                                   www.Deloitte.ro
          PRICEWATERHOUSE COOPERS                                            www.pwc.com/ro
          KPMG in Romania                                                    www.kpmg.ro

สคร. ณ กรุงบูดาเปสต์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ