สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนี เดือนกันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 14:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ถึงแม้ว่าผลผลิตสินค้าเกษตรของเยอรมนีในปี 2553/2554 จะมีปริมาณลดน้อยลงจากปีก่อนหน้านี้มากก็ตาม โดยเฉพาะธัญพืชในบางท้องที่มีผลผลิตน้อยกว่าปีก่อนกว่าร้อยละ 15 แต่การผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2554 การจำหน่ายอาหารไปยังตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่า 13,045 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 14.2 และมีการส่งออกสินค้าอาหารทำจากเนื้อสัตว์และจากพืชเป็นมูลค่า 9,443 และ 13,144 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และ 15.4 ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญของเยอรมนียังคงเป็นประเทศอื่นๆ ในยุโรป และรัสเซีย

สินค้าส่งออกของไทย

จากการที่ตลาดเยอรมนีมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดเยอรมนียังคงมีแนวโน้มที่แจ่มใส สินค้าเกษตร กรรมส่งออกเป็นมูลค่า 248.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 ที่สำคัญได้แก่ ยางพารา ไก่แปรรูปแช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีการส่งออกเป็นมูลค่า 205.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ได้แก่ กุ้งกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และบะหมี่สำเร็จรูป

การที่น้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีราคาสูงอยู่ ส่งผลให้ต้นทุนด้านค่าขนส่งสูงขึ้น ราคาจำหน่ายสินค้าอาหารทั้งของไทยและที่นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ จึงเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ไม่ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดเยอรมนีลดลง ตรงกันข้ามยังคงสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในเยอรมนีมีแนวโน้มนิยมการบริโภคสินค้าพื้นเมืองมากขึ้น รวมทั้งอาหารประเภทเกษตรอินทรีย์ เฉพาะสินค้าที่ไม่สามารถเพาะปลูกเองได้ยังคงมีโอกาสตลาดสูง ซึ่งจะต้องเป็นสินค้าที่ปลอดภัย ปราศจากสารพิษ สารเคมีตกค้างที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คู่แข่งที่สำคัญๆ ของไทยได้แก่ เวียดนามที่สามารถส่งออกสินค้าอาหารที่ใกล้เคียงกับของไทยได้เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด แต่เนื่องจากยังคงมีคุณภาพที่ด้อยกว่าสินค้าไทยอยู่บ้าง จึงทำให้ตลาดยังนิยมสินค้าของไทย ผู้ผลิตและส่งออกอาหารของไทยจึงต้องระมัดระวัง หมั่นตรวจสอบ ดูแลกระบวนการผลิตให้สินค้าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาดัดแปลงผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในตลาดเยอรมนี เหล่านี้นอกจากจะทำให้สินค้าอาหารของไทยได้รับความสนใจ เป็นที่นิยมสืบต่อไปแล้ว ยังจะช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเพิ่มสูงยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ