สหรัฐอเมริกาต่ออายุจีเอสพี (GSP)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 15:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามที่โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalize System of Preference) ของสหรัฐฯ ที่ให้สิทธิประเทศกำลังพัฒนา (รวมทั้งประเทศไทย) ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ โดยไม่เสียภาษีศุลกากรนำเข้า ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา และสหรัฐฯ ยังไม่ดำเนินการต่ออายุโครงการดังกล่าว

ความคืบหน้าดำเนินการ

Mr. Dave Camp ผู้แทนราษฏรพรรครีพับริกันเสนอร่างพระราชบัญญัติต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalize System of Preference) หรือ H.R.2832 และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House of Representative) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 โดยขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปนับแต่วันที่หมดอายุ (31 ธันวาคม 2553) และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ

วุฒิสภา (Senate) พิจารณาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 70 : 27 โดยให้เพิ่มหมวด Trade Adjustment Assistance (TAA) เข้าไปกับพระราชบัญญัติฉบับ H.R. 2833 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2554 และได้ส่งเรื่องคืนไปยังสภาผู้แทนพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอประธานาธิบดีลงนามให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สาระสำคัญของกฎหมาย

1. กฎหมายขยายระยะเวลาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจีเอสพี ออกไปเป็นระยะเวลาสองปีเจ็ดเดือน ไม่ตัดสิทธิ์หรือลดจำนวนประเทศกำลังพัฒนา ไม่มีการปรับลดจำนวนสินค้า หรือ ปรับเงื่อนไขในการได้รับสิทธิพิเศษ และประเทศไทยยังคงได้รับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเช่นเดิม

2. สหรัฐฯ จะคืนภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บไปในช่วงที่โครงการ GSP ไม่มีผลบังคับ ให้แก่ผู้นำเข้าแต่ไม่จ่ายดอกเบี้ย

3. พระราชบัญญัติกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมดำเนินการ (Merchandise Processing Fee) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จากผู้นำเข้าสินค้า

4. การเพิ่มเรื่อง TAA (Trade Adjustment Assistance) มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นเกราะคุ้มครองแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งต้องว่างงานลงเป็นผลจากผู้ประกอบการสหรัฐฯ ลดการผลิตในประเทศและหันไปนำเข้าสินค้ามาทดแทนการผลิต หรือแรงงานที่ต้องถูกปลด สืบเนื่องจากการทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า (ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการดำเนินการเจรจากับประเทศเกาหลี ปานามา และ โคลัมเบีย) โดยภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการฝึกฝนวิชาชีพใหม่ให้แก่แรงงานที่ว่างงานเหล่านั้น เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งหนึ่ง

ความเห็น/ข้อพิจารณา

ในปี 2553 สินค้าไทยได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐฯ มากที่สุด หรือคิดเป็นมูลค่า 3,611.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 15.90 ของสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย การต่ออายุจีเอสพี จะมีผลดีต่อสินค้าไทยที่ใช้สิทธิ์จีเอสพีสูงและมีมูลค่าการนำเข้าลดลงในช่วงที่จีเอสพีหมดอายุลงเช่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เตาอบไมโครเวฟ และ เลนซ์แว่นตา จะมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้นแล้ว การต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) จะเป็นผลดีต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากผู้ประกอบการสหรัฐฯ จำนวนมากต้องแสวงหาวัตถุดิบและเครื่องมือจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตสินค้า ดังนั้น สินค้านำเข้าปลอดภาษีจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสหรัฐฯ ช่วยให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น และจะเป็นผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคาที่ย่อมเยาลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นคชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ