แนวโน้มของฮิสแปนิกในสหรัฐ ฯ (Hispanic Trend)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 14, 2011 14:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

"ฮิสแปนิก" คือ คนที่พูดภาษาสเปน (Spanish) มี 21 ประเทศทั่วโลก ที่พูดภาษาสเปนเป็นหลัก

          ในยุโรป         มี 1 ประเทศ คือ ประเทศ Spain
          ในอัฟริกา        มี 1 ประเทศ คือ ประเทศ Equatorial Guinea

ในอเมริกาเหนือ มี 1 ประเทศ คือ ประเทศ Mexico

ในอเมริกากลาง มี 6 ประเทศ คือ ประเทศ Guatemala, Honduras, El Salvador,

Nicaragua, Costa Rica และ Panama

ในอเมริกาใต้ มี 9 ประเทศ คือ Venezuela, Colombia, Ecuador, Peru, Bolivia,

Uruguay, Paraguay, Chile และ Argentina

ในแคริบเบียน มี 3 ประเทศ คือ ประเทศ Cuba, Dominican Republic และ Puerto Rico

แต่ที่จะกล่าวในที่นี่ จะเน้นเฉพาะฮิสแปนิกในสหรัฐฯ ซึ่งได้ซึมเข้ามาเป็นประชากรของสหรัฐ ฯ มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากการย้ายถิ่นฐาน (Immigration) และการเกิดใหม่ (Born) ของประชากร ฮิสแปนิกที่พ่อแม่เป็นฮิสแปนิก ซึ่งทั้งนักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจและนักการตลาดได้เล็งเห็นมานานแล้ว ถึงแนวโน้มของตลาดฮิสแปนิกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเห็นการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐ ฯ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านอย่างสำคัญ เช่น การได้ยินภาษาสเปนต่อจากภาษาอังกฤษในโทรศัพท์ (Customer Service) ของธนาคาร หรือในตู้กดเงิน (ATM) ตลอดจนห้างร้าน และหน่วยงานต่าง ๆ จะมีภาษาสเปนเป็นภาษาที่ 2

Mr. Juan Tornoe นักพูดระดับนานาชาติของสหรัฐฯ ได้เป็น Speaker ให้กับ Greater Miami Chamber of Commerce เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2554 ในหัวข้อ "แนวโน้มของฮิสแปนิก"

สาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ Mr. Juan Tornoe ได้กล่าวถึง คือ

1. การขยายตัวของประชากรฮิสแปนิกในสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นคนเข้าเมืองมาสหรัฐฯ (Immigration) หรือผู้ที่เกิดในสหรัฐ ฯ จากพ่อ แม่ที่เป็นฮิสแปนิก โดยปี 2553 มีอัตราส่วน Immigration 36% และ US Born 64 %

2. อัตราการเกิด (Growth Rate) ของชาวฮีสแปนิกในสหรัฐฯ 2.73 (อัตราโดยเกิดทั่วไป 2.10) ปี 2553 มีประชากรฮิสแปนิกในสหรัฐฯ 50.5 ล้านคน (หรือ 16 % ของประชากรสหรัฐฯ) ในปี 2593 (คศ. 2050) คาดว่าจะมีชาวฮิสแปนิกในสหรัฐฯ 132.8 ล้านคน (หรือ 30.3 % ของประชากรสหรัฐฯ)

3. รัฐที่มีชาวฮิสแปนิก 4 อันแรก คือ Arizono, California, Corolado และ Florida

เพื่อความเข้าใจตลาดฮิสแปนิกในสหรัฐ ฯ และเป็นการเตรียมพร้อม Mr. Juan Tornoe ได้เน้นว่า

1. พฤติกรรมของชาวฮิสแปนิกในสหรัฐ ฯ จะไม่เหมือนกับฮิสแปนิกใน 21 ประเทศข้างต้น ทั้งนี้ เพราะได้ดูดซึมเอาวัฒนธรรมของความเป็นอเมริกัน เช่น การฉลองวันขอบคุณพระเจ้า (Thanks Giving ) มีการกินไก่งวง การทำอาหารกินกันด้วยเตาย่าง (Barbeque ) การพูดเรื่องกีฬา การแต่งชุดกีฬาในทีมที่ชอบ เป็นต้น

2. ชาวฮิสแปนิก ให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก (ไม่เหมือนคนอเมริกัน เมื่ออายุ 18 ปี จะละจาก ครอบครัว ไปเรียนรู้โลกภายนอก) ฉะนั้น ชาวฮิสแปนิกจึงยังอยู่กันเหนียวแน่นเป็นครอบครัวใหญ่ ให้ความสำคัญในเรื่องการกิน การอยู่รวมตัวกัน การสังสรรค์ของครอบครัว (Family Reunion ) มีสถิติ กล่าวว่าชาวฮิสแปนิกมีการสังสรรค์ของครอบครัว คิดเป็น 72.2 % ขณะที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิก (Non Hispanic) มีเพียง 9.3 %

3. ชาวฮิสแปนิก เป็นคนที่พูดมาก ได้มีการสำรวจการใช้โทรศัพท์ (Customer Service) ในคนขาว (White) จะพูดเฉลี่ย 6 นาที แต่ชาวฮิสแปนิก จะพูดยาว โดยเฉลี่ยถึง 34 นาที หรือ 7 เท่ากว่าของคนขาว เรียกว่าหูชากันทีเดียว

4. วัฒนธรรมในการกอด (Hugs) การจับมือ (Hand Shakes) การหอมแก้ม หรือเอาแก้มมาชนกัน(Kisses) ฉะนั้น ผู้ที่ประสงค์จะทำการค้าหรือจะเป็นเพื่อนกับชาวฮิสแปนิกจะต้องมีความพร้อม (Have to be Ready) ไม่ควรเคอะเขิน เพราะถ้าเราเคอะเขิน เขาก็จะรู้สึกอึดอัด ไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาคุ้นเคย

5. ชาวฮิสแปนิก จะให้ความเคารพ หรือเกรงใจผู้มีตำแหน่ง หรือผู้มีอำนาจ คล้าย ๆ คนเอเซีย

การจะเข้าถึงตลาดฮิสแปนิก Mr. Juan Tornoe ได้ให้ความเห็นว่า "กลุ่มตลาดฮิสแปนิกหลากหลาย" ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เน้นย้ำว่า "ชาวฮิสแปนิกในสหรัฐ ฯ ไม่เหมือนชาวฮิสแปนิกจาก 21 ประเทศ" มีความเป็นอเมริกันผสมอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เกิดในสหรัฐ ฯ เป็นตลาดที่มีความสำคัญยิ่ง ด้วยจำนวนประชากรฮิสแปนิกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอำนาจการซื้อ (Buying Power) ที่เพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้ทั่วโลกต่างมุ่งให้ความสนใจตลาดนี้อย่างยิ่ง

ฉะนั้น ผู้ค้าควรให้ความสำคัญกับภาษาสเปน (Spanish) ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดเพื่อการสื่อสารอย่างเข้าใจ และทำเอกสารประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นภาษาสเปน ก็จะช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดฮิสแปนิกได้ง่ายขึ้น ขอเน้นย้ำว่า "ตลาดฮิสแปนิกในสหรัฐฯ เป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่ง"ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

Mr. Juan Tornoe ทำงานด้าน Media มากว่า 12 ปี เป็นเจ้าของ Blog "Hispanic Trending" เป็นนักพูดระดับนานาชาติ และมีสื่อที่ลงผลงานของเขามากมาย เช่น The New York Times, USA Today, Reuters,CNN, Los Angeles Times, BBC จบการศึกษา MBA จากประเทศกัวเตมาลา

ผอ.สคต. ไมอามี

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ