วิเคราะห์ภาวะการค้าและการแข่งขันสินค้าไทยในตลาด แคนาดา ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2011 15:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วิเคราะห์ภาวะการค้าและการแข่งขันสินค้าไทยในตลาด แคนาดา ปี 2554

ตัวเลขฝ่ายไทย (ม.ค.-ส.ค.) เปรียบเทียบกับตัวเลขฝ่ายแคนาดา (ม.ค.-ก.ค.)

ภาพรวมภาวะการค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครแวนคูเวอร์ ขอรายงานสรุปภาวะการค้าและการแข่งขันสินค้าไทยในตลาดแคนาดา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-สิงหาคม : ตัวเลขฝ่ายไทย ) ซึ่งมี มูลค่าการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.34 (เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 26.07 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553)

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย-แคนาดา (สถิติฝ่ายไทย)

2. การส่งออกจากไทย ไปแคนาดา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-สิงหาคม) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.74 ของการส่งออก ทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ซึ่งมีสัดส่วนที่ ร้อยละ 0.73 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ+28.31 (เปรียบเทียบกับร้อยละ +13.29 ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2553)

          สินค้าส่งออกไทยไปแคนาดาที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 170.9 ล้านเหรียญฯ(เพิ่มขึ้น 28.58%) (2)  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 108.5 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 23.06%) (3) ยางพารา มูลค่า 107.9 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 110.35%)  (4) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 65.6 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 2,581.67%) (5) กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 64.4 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 17.94%) (6)  ข้าว มูลค่า 47.5 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 10.01%) (7)   เครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 43.5 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขื้น 14.21%)  (8)    เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ มูลค่า 42.4 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 33.92%) (9) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 38.0 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 26.15%)  และ (10) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 33.0 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 28.80 %)    ทั้งนี้ สินค้าส่งออกจากไทยที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นในร้อยละที่สูง 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้าส่งออก 30 อันดับแรกของไทยไปแคนาดาทุกประเภทสินค้า) ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ฯ (เพิ่มขึ้น 2,581.67% ) ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (เพิ่มขึ้น 266.77 %) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 123.25%)  ยางพารา (เพิ่มขึ้น 110.38%) และ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 94.64%)

ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเซียที่สำคัญ ที่แคนาดามีสัดส่วนต่อการนำเข้าสินค้ามาก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยในเดือน กรกฎาคม 2554 แคนาดานำเข้าจากประเทศไทยเป็นลำดับที่ 20 (สถิติฝ่ายแคนาดา)

3. การนำเข้าของไทยจากแคนาดา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 ( มกราคม-สิงหาคม ) คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 0.51 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงเล็กน้อยจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2553 (ร้อยละ 0.53) โดยมีอัตราขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าลดลง คือจากร้อยละ 50.50 เป็นร้อยละ 23.51 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 385.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ที่มีมูลค่าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช มูลค่า 134.6 ล้านเหรียญฯ ( เพิ่มขึ้น 133.53% ) (2) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ มูลค่า 125.7 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 46.48%) (3) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ มูลค่า 96.7 ล้านเหรีญฯ (เพิ่มขึ้น 13.70%) (4) เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มูลค่า 77.8 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 16.40%) (5) แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 63.4 ล้านเหรียญฯ ( เพิ่มขึ้น 11.08% ) (6) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 45.0 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 14.68%) (7) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 31.2 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 15.03 %) (8) เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินฯ มูลค่า 28.6 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 304.11%) (9) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 24.4 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 2.02%) และ (10) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 20.2 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 7.84%) ทั้งนี้ สินค้านำเข้าจากแคนาดามาไทย ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นในร้อยละที่สูง 5 อันดับแรก (พิจารณาจากสินค้านำเข้า 30 อันดับแรกของไทยจากแคนาดา ทุกหมวดประเภทสินค้า) ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินฯ (เพิ่มขึ้น 304.11%) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ( เพิ่มขึ้น 133.53% ) ถ่านหิน (เพิ่มขึ้น 109.78%) กล้อง เลนส์ และอุปกรณ์การถ่ายรูป (เพิ่มขึ้น 104.26%) และ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม และเภสัชกรรม (เพิ่มขึ้น 77.71%)

วิเคราะห์โครงสร้างสินค้าส่งออกสำคัญ ของไทยไปแคนาดา ตามกลุ่มสินค้า

ระหว่างปี 2551-2553 หมวดสินค้าส่งออกสำคัญ เรียงตามลำดับมูลค่าส่งออก ได้แก่ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม (เฉลี่ย ร้อยละ 56.45 ของมูลค่าส่งออกฯ) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (เฉลี่ยร้อยละ 22.37 ของมูลค่าส่งออกฯ) และ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ( กสิกรรม, ปศุสัตว์ และประมง เฉลี่ยร้อยละ 20.61 ของมูลค่าส่งออกฯ) ทั้งนี้ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ ได้แก่ ธุรกรรมพิเศษฯ มีการส่งออกมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังแคนาดาทั้งหมด

สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก ของปี 2554 (มกราคม-สิงหาคม ) นั้น พบว่า มูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดาทั้งสิ้น ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.31 (เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 13.29 ในระยะเวลาเดียวกันของปี 2553) โดยสินค้าทุกหมวดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากสูงสุดได้แก่หมวดสินค้าเกษตรกรรมซึ่งขยายตัวในอัตราร้อยละ 37.97 สินค้าที่มีการขยายตัวรองลงมาได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงซึ่งขยายตัว ในอัตราร้อยละ 33.47 สินค้าหมวดอุตสาหกรรมการเกษตร (ขยายตัวในอัตราร้อยละ 29.32) และ สินค้าอุตสาหกรรม (ขยายตัวในอัตราร้อยละ 24.23)

สรุปข้อคิดเห็น/ข้อสังเกต

1. ข้อสังเกตุเปรียบเทียบข้อมูลการค้า ระหว่างสถิติฝ่ายไทย (ม.ค. - ส.ค. 54) และ สถิติฝ่ายแคนาดา(ม.ค.-ก.ค. 54)

1.1 พิจารณาจากสินค้าส่งออกสำคัญ 30 อันดับแรก จากไทยไปแคนาดา (สถิติฝ่ายไทย : มกราคม-สิงหาคม 2554) มีข้อสังเกตุ ดังนี้

สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น สถิติการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดา 30 อันดับแรก แสดงอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออกสินค้าจำนวน 26 รายการ ที่สำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่สินค้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และเมื่อพิจารณาภาพรวมโครงสร้างสินค้าส่งออกสำคัญ จะพบว่า สินค้าทุกกลุ่ม มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม, ปศุสัตว์, ประมง ) ซึ่งมีการขยายตัวสูงสุดถึง ร้อยละ 37.97 และรองลงมาโดยลำดับ ได้แก่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง (ร้อยละ 33.47) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (ร้อยละ 29.32) และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม (ร้อยละ 24.23)

สินค้าที่มีการส่งออกลดลง สถิติการส่งออกจากไทยไปยังแคนาดา 30 อันดับแรก แสดงอัตราการขยายตัวลดลง ของมูลค่าส่งออกสินค้า 4 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเลนซ์ ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุ ดังนี้

สินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากแคนาดานำเข้าจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติการนำเข้าฝ่ายแคนาดา ระหว่างเดือน มกราคม-กรกฎาคม 2554 พบว่ามีการนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.78 แต่การนำเข้าจากไทยลดลง ร้อยละ 8.13 ทั้งนี้ ผู้ส่งออกรายสำคัญอื่นที่แคนาดานำเข้าลดลงเช่นเดียวกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์

สินค้าข้าว เนื่องจากมีการนำเข้าลดลงและประเทศคู่แข่งช่วงชิงตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติฝ่ายแคนาดาแสดงมูลค่านำเข้าโดยรวมระหว่าง มกราคม-กรกฎาคม 2554 พบว่ามีการนำเข้าลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 4.12 และนำเข้าจากไทยลดลง ร้อยละ 13.29 โดยประเทศคู่แข่งที่มีสัดส่วนการตลาดข้าวในแคนาดาเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน อิตาลี ออสเตรเลีย และศรีลังกา

สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ การส่งออกจากไทยไปยังแคนาดาลดลงเล็กน้อย (ร้อยละ 2.14) เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ

สินค้าเลนซ์ เนื่องจากมีการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาสถิติฝ่ายแคนาดาระหว่างเดือน มกราคม-กรกฎาคม 2554 แสดงการนำเข้าโดยรวม(รวมพิกัด9002 ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.25 และนำเข้าจากไทยลดลง ร้อยละ 8.93 สินค้าจากประเทศคู่แข่งที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไต้หวัน เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส สำหรับประเทศผู้ส่งออกหลักที่มีสัดส่วนตลาดลดลงได้แก่ ญี่ปุ่น (ส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 60.97 เหลือ ร้อยละ 59.39) สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย

1.2 เปรียบเทียบกับสถิติการค้า ตัวเลขฝ่ายแคนาดา (Statistics Canada) สรุปภาพรวมการค้าระหว่างแคนาดา-ไทย ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2554 (มกราคม-กรกฎาคม) โดยเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปี 2553 ได้ดังนี้

  • มูลค่าการค้าระหว่างแคนาดา-ไทย มีมูลค่ารวม 2,136.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.85 สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 25.81)
  • การส่งออกของแคนาดามาไทย มีมูลค่า 571.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.54 โดยแคนาดาเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับไทยมูลค่า 994.47 ล้านเหรียญฯ
  • การนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย มีมูลค่า 1,565.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.22 สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 18.12) โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น (พิจารณาจากสินค้านำเข้าสำคัญ 30 อันดับแรก )ที่แคนาดานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น มีจำนวนถึง 25 รายการ โดยเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ที่สำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขฯ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์(พิกัด 8517) เครื่องรับสำหรับวิทยุ โทรศัพท์ วิทยุโทรเลขหรือวิทยุกระจายเสียงฯ (พิกัด 8527) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว ทำด้วยโลหะมีค่า หรือทำด้วยโลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า (พิกัด 7113) เครื่องส่งสำหรับวิทยุ โทรศัพท์ โทรเลข หรือโทรทัศน์ รวมทั้งกล้องถ่ายโทรทัศน์ วีดีโอ ฯลฯ(พิกัด 8525) วงจรรวมสำหรับใช้ในทางอีเล็กทรอนิกส์ (พิกัด 8542) ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่ใช้สำหรับพาหนะต่างๆ (พิกัด 4011) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องใช้สำนักงานฯ (พิกัด 8473) รถจักยานยนต์ ฯ (พิกัด 8711) เครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบกับเครื่องแต่งกาย ฯ (พิกัด 4015) และ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (พิกัด 8415)

สำหรับสินค้ากลุ่มอื่นๆ (เกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร) ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพาราธรรมชาติ ฯ (พิกัด 4001) กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง (พิกัด 0306.13 ) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณธ์ข้าวสาลีและธัญญพืชแปรรูป ซอส สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำผัก ผลไม้กระป๋อง)

สินค้าที่แคนาดานำเข้าจากไทยลดลง (พิจารณาจากสินค้านำเข้าสำคัญ 30 อันดับแรกที่แคนาดานำเข้าจากไทย) มีสินค้าจำนวน 5 รายการ ที่แสดงตัวเลขการนำเข้าลดลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (พิกัด 8471) ข้าว (พิกัด 1006) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับใช้เฉพาะหรือส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องจักรสำนักงานฯ (พิกัด 8473) รองเท้า(พิกัด 6403) และเลนซ์ (พิกัด 9002)

2. โอกาสสินค้าไทยในตลาดแคนาดา

2.1 สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดแคนาดา โดยรวมแล้ว สินค้าส่งออกที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีลู่ทางการขยายตลาดส่งออกไปยังแคนาดา ได้แก่ สินค้าอาหาร (อาหารแปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผัก-ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป อาหารReady to Eat อาหารประเภทของขบเคี้ยว อาหารสุขภาพ ซ็อส สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น) สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ( อาทิเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ฯ) อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดส่งออกแต่ละช่วงเวลาจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและภาวะการแข่งขันของผู้ส่งออกที่เป็นคู่แข่งด้วย

2.2 เศรษฐกิจแคนาดายังคงมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ การชะลอตัวเศรษฐกิจของแคนาดา ในปี 2554 และ 2555 แต่อัตราการเติบโตของ GDP น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เนื่องจากแคนาดาได้ดำเนินทุกวิถีทางในการกระจายความเสี่ยงด้านการค้าไปยังตลาดอื่น อาทิ จีน อินเดีย เอเซีย(รวมทั้งประเทศไทย) ลาตินอเมริกา เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐ และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีวินัย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแคนาดา ยังคงต้องขึ้นอยู่กับหลายประเทศ โดยสถานการณ์หลักๆ ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างมากได้แก่ วิกฤตการณ์หนี้ของยุโรป การฟี้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเศรษฐกิจของจีน

2.3 ความเห็นสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของหน่วยงาน Statistics Canada ได้ประเมินสถานการณ์ทาง เศรษฐกิจแคนาดา ในภาพรวมล่าสุด ดังนี้

  • Real GDP: +0.3 % (กรกฎาคม 2554) เทียบกับ เดือน มิถุนายน 2554
  • Unemployment Rate : 7.3 % (สิงหาคม 2554) เปรียบเทียบกับ 7.2 % ในเดือน กรกฎาคม 2554
  • Merchandise Import : + 0.5 % (กรกฎาคม 2554) เปรียบเทียบกับ เดือน มิถุนายน 2554
  • Merchandise Export : + 2.2 % (กรกฎาคม 2554) เปรียบเทียบกับ มิถุนายน 2554
  • Inflation Rate : 3.1% ( สิงหาคม 2554) เปรียบเทียบกับ 2.7 % ในเดือน กรกฎาคม 2554

2.4 ความเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวด้านภาคธุรกิจของแคนาดา

ปัจจัยหลักที่มีผลบวกต่อเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. 2554 (+0.3 %)

ปัจจัยบวกเป็นผลจาก : ภาคการผลิตสินค้า, ธุรกิจค้าส่ง, และบริการด้านขนส่ง

  • ภาคการผลิตสินค้า ขยายตัว 1.4% หลังจากลดลงต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยเป็นการเพิ่มการผลิตกลุ่มสินค้า Durable (+2.1%) และ Non-Durable (+0.5%) ซึ่งเน้นการผลิตเครื่องจักร รถยนต์ อะหลั่ย เหล็กกล้า และกลุ่มเคมีภัณฑ์เป็นหลัก
  • ธุรกิจค้าส่ง: เพิ่มขึ้น 1.5% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทรถยนต์และอะหลั่ย, เครื่องจักร รวมทั้งสินค้าใช้สอยในครัวเรือนและส่วนตัว
  • ธุรกิจขนส่งและอาคารสินค้า : ขยายตัว 1.8% เนื่องมาจากการดำเนินกิจการตามปกติ หลังจากเหตุการณ์ประท้วงของหน่วยงานไปรษีณ์ย์ รวมทั้งปริมาณการขนส่งทางอากาศ รถไฟ ทางบก เพิ่มขึ้น

ปัจจัยลบเป็นผลจาก: ภาคการผลิตน้ำมัน เหมืองแร่ และก๊าซธรรมชาติ, ภาคการก่อสร้าง, และภาคการเงินและประกันภัย

  • ภาคการก่อสร้าง : ลดลง 0.3% ในส่วนของอาคารมิใช่สำหรับพักอาศัย , งานวิศวกรรมก่อสร้างและงานต่อเติม ซ่อมแซมอาหารต่างๆ
  • ภาคการผลิตน้ำมัน เหมืองแร่ และก๊าซธรรมชาติ : ลดลง 0.3% โดยเป็นการลดลงในส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างมาก แต่ในส่วนของการผลิตน้ำมันดิบ และเหมืองแร่ยังขยายตัว
  • ภาคการเงินและประกันภัย : ลดลง 0.3% ซึ่งมาจากปริมาณซื้อ-ขายหุ้นในตลาดปรับตัวลดลง

4. โอกาสการขยายการส่งออกสินค้าไทย แคนาดาจัดว่าเป็นตลาดที่กีดกันการนำเข้าน้อยมาก หากผู้ส่งออกไทยสามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐาน ข้อกำหนด กฎระเบียบของทางการแคนาดา และมีการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ ให้สอดคล้องกับรสนิยมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และให้ความสำคัญในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคู่แข่ง และให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและการกระจายตัวของผู้บริโภคที่มีระยะห่างไกล การปรับกลยุทธด้านการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพตลาด โดยการพัฒนาช่องทางการค้าอีเลคทรอนิกส์ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ส่งออกไทย นอกจากนั้น การให้ความสำคัญกับการติดต่อ/สื่อสารให้ทันต่อเหตุการณ์ และทำการตลาดเชิงรุกในการหาพันธมิตรทางการค้าที่มีเครือข่ายกว้างขวางเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สามารถขยายตลาดส่งออกไปยังแคนาดาได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

5. นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ การค้าของแคนาดาฝั่งตะวันตก รัฐบาลกลางได้ให้ความสำคัญในการขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า ไปยังภูมิภาคเอเซียมากขึ้น โดยดำเนินการผ่านหน่วยงาน Western Economic Diversification Canada (WD) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาวะการแข่งขัน ด้านการค้า ของแคนาดาฝั่งตะวันตก (British Columbia, Alberta , Saskatchewan และ Manitoba) และได้ปรับบทบาทให้ Trade Commissioner Service , Foreign Affairs and International Trade Canada ในแต่ละภูมิภาค ดำเนินนโยบายเชิงรุกในการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กับประเทศแถบเอเซียมากขึ้น แทนการให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว โดยได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการค้า โดยเฉพาะการจัดคณะผู้แทนการค้า Inbound/Outbound ไปสร้างความสัมพันธ์เพื่อโอกาสด้านการค้า การลงทุนกับคู่ค้าในต่างประเทศ ในโครงการต่อเนื่อง 4 ปี เพื่อเสริมสร้างความแข่งแกร่งกิจกรรมด้านเศรษฐกิจเชิงรุกแก่ผู้ประกอบการแคนาดา

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ