สรุปภาวะตลาดข้าวไทยในเยอรมนีเดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2011 14:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ชนิดของข้าวในตลาดเยอรมนี

1.1 เมล็ดพันธุ์ข้าว พิกัด H.S. 1006 10 (Paddy rice)

               1.2  ข้าวกล้อง        พิกัด   H.S.  1006 20   (Husked rice)

1.3 ข้าวขาว ข้าวนึ่ง พิกัด H.S. 1006 30 (Milled rice, parboiled rice)

               1.4  ข้าวหัก          พิกัด   H.S.  1006 40   (Broken rice)

2. ในเยอรมนีไม่มีการเพาะปลูกข้าวในเชิงการค้า ในแต่ละปีจะมีการนำเข้าข้าวชนิดต่างๆ จากต่างประเทศเป็นปริมาณโดยเฉลี่ยปีละกว่า 330,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เป็นทั้งชาวเยอรมันและชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ สำหรับชาวต่างชาติจากประเทศในแถบเอเชียมีจำนวนประมาณ 300,000 คน ที่สำคัญๆ ได้แก่ เวียตนาม จีน และไทย

3. ผู้บริโภคชาวเยอรมันนิยมการบริโภคผลิตตภัณฑ์ทำจากข้าวสาลี เช่น ขนมปังต่างๆ ปิซซา และมันฝรั่ง โดยเฉลี่ยมีการบริโภคขนมปังปีละ 80 กิโลกรัม มันฝรั่งปีละ 30 - 50 ก.ก./คน/ปี สำหรับข้าวบริโภคปีละประมาณ 3 ก.ก./คน/ปี เป็นการบริโภคโดยคนเอเชียและชาวต่างชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี และตามร้านอาหารไทย โรงครัว โรงอาหารขนาดใหญ่ ที่จะมีอยู่ในสถานที่ทำงานส่วนราชการ บริษัท ห้างร้านใหญ่ๆ รวมทั้งในภัตตาคารตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งบางครั้งจะมีรายการอาหารที่ใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบด้วย

4. อาหารหลักของเยอรมนีจะเป็นมันฝรั่งและผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวสาลี ผู้ที่บริโภคข้าวเป็นประจำในตลาดเยอรมนีจะเป็นชาวเอเชียและชาวต่างชาติที่รู้จักประเทศไทย เนื่องจากรสชาติที่จัดของอาหารไทย เหล่านี้จึงทำให้ปริมาณการบริโภคข้าวในเยอรมนีมีอัตราต่ำ นอกจากนี้วิธีการหุงข้าวก็ยังไม่เป็นที่สันทัดของชาวเยอรมัน ผู้ค้าและผู้นำเข้าเยอรมันจำนวนมากจึงนำเสนอข้าวที่สะดวกในการหุง โดยบรรจุถุงพลาสติกขนาด 125 กรัมหรือ 250 กรัม เพียงใส่ในน้ำต้มเดือดนาน 15 - 20 นาทีก็จะได้ข้าวที่ไม่ดิบหรือแฉะเกินไป ข้าวประเภทนี้จะมีทั้งข้าวขาวข้าวบาสมาตี และข้าวหอมมะลิ

5. ร้านค้าที่จำหน่ายข้าวประกอบด้วย Supermarket ต่างๆ ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าของชำอาหารเอเชีย โดยตาม Supermarket จะเป็นข้าวบรรจุกล่อง ถุงขนาดเล็ก หนัก 500 กรัม - 1 กิโลกรัม ในขณะที่ร้านค้าชาวเอเชียจะมีขนาดบรรจุตั้งแต่ 1 กิโลกรัมไปจนถึง 20 กิโลกรัม

6. ในอดีตอัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวไทยที่วางจำหน่ายในตลาดเยอรมนีมีราคาสูง เดิมภาษีนำเข้าข้าวขาว ข้าวหอมมะลิจากไทย (พิกัด 1006 30) ตันละกว่า 600 ยูโร ปัจจุบันลดลงเหลือตันละ 145 ยูโร จึงทำให้ข้าวไทยมีราคาไม่แตกต่างกับข้าวที่นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ เท่าใดนัก รวมทั้งข้าวที่ผลิตในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป เช่น สเปน และอิตาลี เป็นต้น กล่าวคือ เมื่อ 3 - 5 ปีก่อนหน้านี้ราคาจำหน่ายต่ำสุดของข้าวไทยจะมีราคาโดยเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละกว่า 2.00 ยูโร แต่ในปัจจุบันราคาจำหน่ายของข้าวหอมมะลิ หรือข้าวขาวของไทยจะมีราคาโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ ระหว่าง 1.00 - 1.50 ยูโร (ประมาณ 40 - 60 บาท) สำหรับข้าวขาวทั่วๆ ไปมีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ 0.89 ยูโรขึ้นไป

7. ราคาของสินค้าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าของผู้ค้าและผู้นำเข้าในเยอรมนี และปัจจุบัน ผู้ค้าในเยอรมนียังคงมีสินค้าในสต๊อกมากเพียงพอสำหรับการจำหน่ายไปจนถึงปลายปี 2554 นี้ แต่จากการที่รัฐบาลไทยประกาศรับซื้อข้าวเปลือกในราคาตันละ 15,000 บาท ผู้นำเข้าในเยอรมนีเชื่อว่าจะทำให้ราคาข้าวที่ไทยส่งออกสูงกว่าข้าวจากแหล่งอื่นๆ ประมาณ 50 - 100 ยูโรต่อตัน หากเป็นเช่นนี้จริงผู้นำเข้าอาจจะไปนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทย เช่น จากเวียดนาม และโดยเฉพาะจากอินเดีย ที่มีข่าวว่าจะเริ่มส่งออกข้าวอีกครั้งในช่วงปลายปี 2554 นี้ หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ส่วนแบ่งของข้าวที่เยอรมนีนำเข้าโดยตรงจากไทยที่มีประมาณร้อยละ 12 จะลดน้อยลงไปได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ