สรุปภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยในเยอรมนีเดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 9, 2011 16:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อุตสาหกรรมอาหารในประเทศ

ผลผลิตสินค้าเกษตรในยุโรปรวมทั้งของเยอรมนีในปี 2553/2554 มีปริมาณลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และจากการซื้อขายเพื่อการเก็งกำไรในตลาด ทำให้สินค้าอาหารสำคัญๆ มีราคาเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ในด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2554 มียอดการจำหน่ายอาหารของโรงงานผลิตที่มีคนงานเกิน 50 คนเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 73,247 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เป็นการจำหน่ายในประเทศ 58,023 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และในตลาดต่างประเทศเป็นมูลค่า 15,225 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 13.8

ในด้านการส่งออก สินค้าอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์มีการส่งออกเป็นมูลค่า 11,171 ล้านยูโร มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 และอาหารทำจากพืชมูลค่า 15,175 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ตลาดส่งออกสำคัญของเยอรมนียังคงเป็นประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะรัสเซีย (เนื้อสุกร เนยและอาหารสำเร็จรูปต่างๆ)

สินค้าส่งออกของไทย

ตลาดเยอรมนียังคงมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดเยอรมนียังคงมีแนวโน้มที่แจ่มใส ยกเว้น ผักสดและอาหารทะเลกระป๋องที่มีไทยปัญหาในการผลิต ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2554 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปเยอรมนีเป็นมูลค่า 272.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 ที่สำคัญๆ ได้แก่ ไก่แปรรูปแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง และข้าว สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกเป็นมูลค่า 205.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ได้แก่ กุ้งกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง และบะหมี่สำเร็จรูป

คู่แข่งที่สำคัญๆ ของไทยได้แก่ เวียดนาม (สินค้าสำคัญที่เยอรมนีนำเข้า ได้แก่ กาแฟ ปลาแช่แข็ง พริกไทย และกุ้งต้มสุกแช่แข็ง)สำหรับพืชผักสดมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สำหรับกัมพูชาเริ่มมีการนำเข้าข้าวสาร ข้าวหอมมะลิและเสนอขายในราคา 22 ยูโร (ขนาดบรรจุ 18 กก.) ในขณะที่ของไทยมีราคา 26 - 32 ยูโร ปัจจุบันสินค้าจากไทยยังได้เปรียบในด้านปริมาณที่มีมากกว่าและมีคุณภาพสูงกว่าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ จึงทำให้ตลาดยังนิยมสินค้าของไทย โอกาสตลาดของสินค้าอาหารไทยในเยอรมนียังคงมีอยู่อีกมาก การพัฒนาผลิตเป็นสินค้าที่ทันสมัยตามกาลเวลา เช่น อาหารประเภท Ready to eat ที่ปราศจากสารเคมี ไม่ใช้ผงชูรส หรือเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ และที่สำคัญต้องมีรสชาดที่เหมาะสมกับคนเยอรมัน เหล่านี้เป็นต้น จะเพิ่มโอกาสตลาดสินค้าของไทยให้สูงมากยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้ การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้สดให้สามารถส่งออกได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว คือ ระหว่างเดือนตุลาคม - มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็น มีสินค้าผักและผลไม้สดเสนอขายน้อยชนิด จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ