เสน่ห์สินค้าไทยในงาน IMPORT SHOP BERLIN 2011

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2011 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

IMPORT SHOP BERLIN เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติในแบบ Consumer Exibitions จัดแสดงสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะขายปลีกโดยตรงให้แก่ผู้เข้าร่วมชมงาน และมีผู้ชมงานที่เป็นร้านค้าปลีก มาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้าด้วย งานในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2554 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ Messe Berlin

ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมชมงาน IMPORT SHOP BERLIN กว่า 40,000 ราย โดยร้อยละ 90 ของผู้ชมงาน ได้ซื้อหาสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านนานาชาติ อัญมณี เครื่องประดับแฟชั่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ (หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ตลอดจนของขวัญ และของประดับตกแต่งบ้านสำหรับเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง ซึ่งผู้จัดงานได้มีการประเมินผลของงานแล้ว พบว่าผู้ซื้อเหล่านี้ ใช้จ่ายภายในงานโดยเฉลี่ย คนละ 141 ยูโร จึงทำให้ยอดขายรวมทั้งสิ้นภายในงาน เป็นจำนวนเงินประมาณมากกว่า 5.8 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นชัดเจนว่างาน IMPORT SHOP BERLIN สามารถดึงดูดผู้บริโภคจำนวนมากให้มาจับจ่ายใช้สอยภายในงานได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ประกอบการ จำนวน 550 ราย ที่จัดแสดงสินค้าในงานในปีนี้ มาจาก 58 ประเทศทั่วโลก และมีประเทศโมร๊อคโค เป็นประเทศเจ้าภาพร่วม ด้วยวัตถุประสงค์ของการมาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ คือ การสร้างและขยายสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของตน ทั้งกับประเทศผู้จัดงานอย่างเยอรมนีเอง ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโมร๊อคโค และกับธุรกิจจากนานาประเทศ สินค้าที่โมร๊อคโค นำมาจัดแสดง ได้แก่ อัญมณีเครื่องประดับ สินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ พรม ของใช้ในบ้านประเภทแจกัน หม้อ ไหดินปั้น โคมไฟทำจากเหล็ก โคมไฟจากหนังแพะ ของประดับตกแต่งบ้านประเภทไม้แกะสลัก กระเบื้องโมเสคหลากสีสันกว่า 300 รูปแบบ สิ่งทอลวดลายพื้นเมือง และเครื่องหนังที่วาดลวดลายด้วยสีเฮนน่า ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวเยอรมันได้เป็นอย่างดี เพราะตลาดเยอรมันในปัจจุบันให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ และใช้วิธีการทางธรรมชาติในกระบวนการผลิตเป็นอย่างมาก

ผู้ประกอบการไทย จำนวน 3 กิจการ ได้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน IMPORT SHOP BERLIN ครั้งนี้ และยังมีผู้ประกอบการชาวเยอรมันหลายราย ที่ได้นำสินค้าหัตถกรรมไทยมาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานด้วย สินค้าจากประเทศไทยที่เด่นๆ ได้แก่ เครื่องประดับแฟชั่น เครื่องประดับเงิน ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย(ผ้าพันคอ) ผ้าทอมือของไทย สินค้าหัตถกรรมจากกลุ่มชาวเขา ของขวัญ และของใช้ภายในบ้านทำจากเซรามิกส์ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักที่เป็นของใช้และตกแต่งบ้าน เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยกลุ่มนี้ เคยเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP BERLIN มาแล้ว หลายครั้ง และมองว่าตลาดค้าปลีกสินค้าหัตถกรรมดังกล่าวของไทย ยังคงมีอุปสงค์ในตลาดอยู่มาก สามารถทำรายได้ที่ดีจากการตั้งราคาขายปลีกในสกุลยูโร ที่ ณ ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 1 ยูโร ประมาณเท่ากับ 42 บาท และเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ เช่น ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ที่ไม่สูงมากนัก อยู่ในราคาเฉลี่ยราว 1,500 ยูโรต่อขนาดพื้นที่ 10 ตารางเมตร (รวม 5 วัน) และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาร่วมงาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยทุกรายเดินทางมาเยอรมนี และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง อิตาลี และฮังการี ฯลฯ ในคราวเดียวกัน เพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าประเภท Consumer Exhibition หรือแบบค้าปลีกนี้ มากกว่า 2-3 งานขึ้นไป เช่น ผู้ประกอบการบางรายเดินทางมาจากประเทศไทย เพื่อร่วมแสดงสินค้าในงาน INFA เมือง Hannover (จัดในช่วงกลางถึงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี) ต่อด้วยงาน IMPORT SHOP BERLIN (จัดต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) เดินทางต่อไปยังงานแสดงสินค้าหัตถกรรม ณ เมือง Budapest ประเทศ Hungary (จัดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน) และปิดท้ายด้วยงานแสดงสินค้า Heim+Handwerk ณ เมือง Munich เยอรมนี (เริ่มจัดปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี) จึงถือได้ว่าคุ้มค่าแก่เงินทุนค่าเดินทางออกมาจากประเทศไทย ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ นับว่าเป็นช่องทางการตลาด(ช่องทางการขาย) ประเภทที่ใช้ต้นทุนต่ำสุดในการนำเสนอสินค้าแก่ผู้บริโภคเป้าหมายที่คาดได้ว่าจะเป็นผู้ซื้อสินค้าของผู้ประกอบการแต่ละราย

อาคารจัดแสดงสินค้าในงาน IMPORT SHOP BERLIN รวม 7 Halls โดยผู้ประกอบการไทยทั้งหมดอยู่ที่ Hall หมายเลข 9 และ สคต.เบอร์ลิน ได้ไปเยี่ยมเยียนที่บูธของผู้ประกอบการไทย และต่างชาติที่จำหน่ายสินค้าไทย ซึ่งต่างก็ให้ข้อคิดเห็น และเล่าประสบการณ์ของตนเองในการเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP BERLIN ในหลายครั้งที่ผ่านมาจนถึงครั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการไทยอื่นๆที่สนใจจะนำสินค้าของตนมาทดลองตลาดขายปลีกในเยอรมนี ดังนี้

บริษัท Lailan Dcor Intertrade Co.,Ltd. นำผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแฟชั่นที่ทำจากแก้วมูลาโน่ Design ลวดลาย รูปแบบและให้สีสันสดใส ดึงดูดลูกค้าสตรีชาวเยอรมัน ตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ ได้มากเกินความคาดหมาย การเข้าร่วมงานในปีนี้ บริษัทได้ตั้งราคาขายปลีกสินค้า แต่ละชิ้นไว้สูงขึ้นจากงานปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เฉลี่ยที่ราคา 10 ยูโรต่อชิ้น ซึ่งไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไปสำหรับลูกค้าชาวเยอรมัน(ในกรุงเบอร์ลิน) สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สร้อยคอพร้อมจี้ ต่างหู กำไลข้อมือ และโดยเฉพาะแหวน ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบา สวมใส่ง่าย Free Size และสามารถปรับขนาดยืดหยุ่นได้ตามต้องการ ทำให้มีผู้ซื้อสำหรับเป็นของขวัญช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง และการตัดสินใจเดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าแบบค้าปลีกในเยอรมนีครั้งนี้ ของบริษัท เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งคือ ที่ตั้งบริษัทและโรงงานผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งร้ายแรงของประเทศไทย ทำให้ต้องปิดโรงงานและหยุดผลิตสินค้าเป็นการชั่วคราว ในระหว่างนี้จึงตัดสินใจนำสต๊อคสินค้าที่ยังมีอยู่ออกมานำเสนอและขายปลีกในตลาดเยอรมนีก่อน และได้รับผลสำเร็จเกินคาด ไม่เพียงเฉพาะแต่ยอดจำหน่ายปลีกที่ได้รับแล้ว บริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อจากธุรกิจร้านค้าผู้นำเข้าสินค้าเครื่องประดับ เพื่อมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเองในตลาดเยอรมนีจำนวนหนึ่งด้วย

เช่นเดียวกับบริษัท M-One International Co.,Ltd. ที่เดินทางมาเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP BERLIN ทุกปี และเลือกที่ตั้งบูธที่เดิมทุกครั้ง เพื่อความสะดวกของลูกค้าประจำ สินค้าหลักของ M-One International คือ เครื่องประดับเงินแท้ ที่ยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าสตรีชาวเยอรมัน วัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งนิยมใส่สร้อยคอพร้อมจี้ที่ทำจากเงินแท้ขนาดใหญ่ บางรายเลือกซื้อแหวน และเข็มกลัดติดหน้าอก สำหรับเป็นของขวัญของฝาก สินค้ารองที่นำมาร่วมวางขายเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้าเพิ่มเติม เป็นกลุ่มของใช้ ปลอกหมอนอิง ย่าม และผ้าปักตกแต่งฝาผนัง ที่ล้วนทำมาจากผ้าทอมือปักเลื่อมลวดลายไทย ซึ่งเรียกลูกค้าให้มาเข้าชมได้ดีเช่นกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ M-One เข้าร่วมแสดงสินค้าในงานนี้ คือบรรยากาศของงานแบบง่ายๆและเปิดกว้าง ไม่ได้วางกฏระเบียบหรือข้อจำกัดใดใดมากมายเหมือนกับงานแฟร์อื่นๆ รวมทั้งการได้ลูกค้าหน้าใหม่ทุกครั้งที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ ลูกค้าที่เข้ามาชมสินค้าทางร้าน มักจะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนารูปแบบสินค้า ให้เข้ากับความต้องการของตลาดอีกด้วย จึงเป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางหนึ่งที่ได้รับโดยตรงจากความคิดเห็นของลูกค้า

RPN Greenproducts Co.,Ltd. เป็นผู้ส่งออกและขายส่ง สินค้าหัตถกรรมไทย ประเภทสินค้าของขวัญ ผ้าพันคอผ้าไหม ผ้าทอมือ ดอกไม้ประดิษฐ์ ของประดับตกแต่งบ้าน กระเป๋าและเป้แฟชั่น เล่าให้ สคต.เบอร์ลิน ฟังถึงประสบการณ์การเข้าร่วมงาน เมื่อเทียบกับที่ผ่านมาในหลายๆปีว่า แม้ว่าบริษัทจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ตลาดขยายตัวมากขึ้นจากการเข้าร่วมงานในปีนี้ แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมๆทั้งที่ตลาดเยอรมนี และทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้ยอดขายที่ได้รับอาจไม่สูงมากไปกว่าในปีที่ผ่านมา หากแต่สิ่งที่ได้รับจากงานคือ ลูกค้าชาวเยอรมัน ต่างให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับสินค้าของตน (ผ้าพันคอทำจากไหมไทย) เป็นอย่างมาก ลูกค้าหลายราย มาสอบถามถึงผลิตภัณฑ์ผ้าไหม จากประเทศไทย ซึ่งบริษัทได้นำมาวางจำหน่ายในหลายระดับคุณภาพความหนาของเส้นไหม และมีราคาแตกต่างกันออกไป ซึ่งลูกค้าชาวเยอรมัน ส่วนใหญ่ต่างถามหาผ้าไหมไทยแท้ๆ แต่เน้นที่ราคาไม่สูงจนเกินไปนัก

ผู้แทนของ RPN Greenproduct เล่าด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยมีผู้ประกอบการ SMEs ไทยหน้าใหม่ หลายๆราย มาสอบถามตนเองถึงวิธีการบริหารจัดการในการนำสินค้ามาเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP BERLIN ซึ่งตนก็ได้ให้คำแนะนำพร้อมเล่าประสบการณ์จากการเข้าร่วมงานให้ฟังด้วยแล้ว และ สคต.เบอร์ลิน ได้ฝากแจ้งไปยังผู้ประกอบการไทยเหล่านั้นด้วยว่า ยินดีที่จะให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ส่งออกของไทยที่สนใจเช่นกัน (ผู้ประกอบการสามารถติดต่อ สคต.เบอร์ลิน ได้ที่ Email: thaicom.berlin@t-online.de)

จากการที่ลูกค้าให้ความสนใจสอบถามถึงคุณลักษณะของไหมไทย ทางบริษัท RPN Greenproduct มีความเห็นว่า การเข้าร่วมงานในคราวหน้า ควรต้องมีสื่อแสดงกรรมวิธี หรือขั้นตอนการผลิตสินค้าผ้าไหมของไทยให้ลูกค้าได้ชมในระหว่างการเลือกซื้อสินค้าด้วย เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าเป็นไหมไทยแท้ๆ ที่ทรงคุณค่า และมีเรื่องราวขั้นตอนการผลิตโดยใช้ Skill ของคนไทย ซึ่งสื่อดังกล่าวอาจเป็นในรูป DVD ฉายหน้าบูธ หรืออาจเป็นแผ่นพับที่จัดทำเป็นภาษาเยอรมัน และการใช้สื่อดังกล่าว จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกแยะสินค้าไหมไทยออกจาก สินค้าของจีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ (ที่เสนอขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าเรา) ได้อีกด้วย

พร้อมนี้ บริษัทได้เตรียมแนวคิดสำหรับการเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP BERLIN 2012 ให้เข้ากับ Theme "Silk Road เส้นทางสายไหม" ของงานในปีหน้าไว้ด้วยแล้ว

นอกจากบูธแสดงสินค้าไทยของผู้ประกอบการไทยแล้ว สคต.เบอร์ลิน ยังได้พบกับชาวเบอร์ลิน ที่นำสินค้าไทยพื้นเมืองทางเชียงใหม่ มาร่วมจัดแสดงด้วย เมื่อได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน คุณ Susanne Potapan เราจึงได้ทราบว่า เธอนำสินค้าหัตถกรรมจากเชียงใหม่ และสินค้าอื่นๆมาจากประเทศไทยเพื่อมาแสดงในงานนี้มากว่าสิบปีแล้ว เธอเป็นชาวเยอรมัน บ้านเกิดอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน แล้วไปใช้ชีวิตครอบครัวในประเทศไทย รักในศิลปะวัฒนธรรมไทย พูดภาษาไทย จึงคุ้นเคย และรู้จักสินค้าไทย ได้เท่าๆกับที่รู้จักความต้องการในตลาดเยอรมัน (และโดยเฉพาะตลาดเบอร์ลิน และรัฐบรานเด้นบัวร์ก บ้านเกิด) ประกอบกับแรงจูงใจด้านภาษี ที่เธอเป็นชาวเยอรมัน จึงไม่ต้องจ่ายภาษีในการมาเข้าร่วมงานแต่ละครั้ง จึงสามารถตั้งราคาสินค้าไทยในราคาต่ำมากกว่าผู้ค้ารายอื่นๆได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทผู้จัดงาน (Messe Berlin) ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ร่วมแสดงสินค้าจากต่างชาติ ด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเช่นกัน Exhibitors คนไทยก็สามารถเข้าร่วมงานได้โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำลง

สินค้าที่หลากหลาย ที่คุณ Susanne ตั้งราคาขายไว้ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง อาทิ เครื่องประดับและรูปแกะสลักทองเหลืองขนาดเล็ก ไม้แกะสลัก กรอบรูปไม้ กระเป๋าพื้นเมืองชาวเขา ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา และสินค้าตกแต่งบ้าน ยังคงดึงดูดความสนใจของลูกค้าชาวเบอร์ลิน และบรานเด้นบัวร์กได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณ Susanne มองว่า ลูกค้าที่นี่มักจะเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆได้ดี ทำให้สินค้าหัตถกรรมจากต่างชาติ โดยเฉพาะสินค้าไทย ได้รับความสนใจ และถึงแม้ลูกค้าชาวเยอรมันเหล่านี้ ยังคงคำนึงถึงราคาสินค้า แต่ต่างก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้น เพื่อซื้อคุณภาพของสินค้านั้นๆด้วยเช่นเดียวกัน

สคต.เบอร์ลิน ได้เยี่ยมพบบริษัทผู้นำเข้าสินค้าไทย ที่มาเข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงาน IMPORT SHOP ครั้งนี้ อีก 2 ราย ในกลุ่มสินค้าของใช้ภายในบ้านและของตกแต่งบ้าน ได้แก่ (1) บริษัท ART-CRAFT ของคุณ Michael Brueggentheis (www.art-craft.de) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม้แกะสลัก รูปปั้นทองเหลือง ของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องจักสานทำจากหวายและไม้ไผ่ เครื่องประดับสตรี สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน ทำจากวัสดุธรรมชาติ เครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยสินค้าทั้งหมดนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย อินเดีย และประเทศไทย ซึ่งสินค้าทั้งหมดนี้ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์จากเว็บไซต์ของบริษัทได้ด้วย

(2) บริษัท Morgenland Moebel & Accessoires (www.morgenland-moebel.de) มีเจ้าของบริษัท คุณ Mustafa Derya เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี นำเข้าสินค้าหลักๆคือเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องใช้ภายในบ้านและตกแต่งบ้าน เช่น หมอนอิง ไม้แกะสลัก โคมไฟ ฯลฯ โดยสินค้าต่างๆนำเข้ามาจาก จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และไทย คุณ Mustafa ยังได้ขอให้ สคต.เบอร์ลิน แนะนำผู้ผลิตสินค้าหมอนขวานของไทยให้ด้วย พร้อมตั้งใจที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมงานสินค้าของขวัญของแต่งบ้าน BIG & BIH ที่กรุงเทพในปีหน้าเพื่อเลือกซื้อสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านอีกด้วย

และจากการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้นำเข้าทั้งสองบริษัท เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคชาวเยอรมันที่มีต่อสินค้าของใช้ของตกแต่งบ้าน ผู้นำเข้าทั้งสองได้ให้ข้อสังเกตที่ตรงกันว่า ลูกค้าชาวเยอรมันชอบสินค้าที่นอกจากจะดูสวยงามแล้ว ยังต้องมีประโยชน์ใช้สอยควบคู่ไปด้วย สินค้าที่ขายดีส่วนมากเป็นกลุ่ม Functional-antique-look คือดูเก่าแก่ มีคุณค่า มีเรื่องราว ขณะเดียวกันต้องใช้งานได้ด้วย นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการของตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปสู่สินค้าที่มีส่วนของวัสดุ Recycle กันมากขึ้น อาทิ รูปปั้นที่ทำจากโลหะ ที่มีบางชิ้นส่วนเป็นโลหะที่เคยใช้งานแล้ว เป็นต้น

สินค้าที่โดดเด่นภายในงานของประเทศอื่นๆ ได้แก่ เครื่องประดับแฟชั่น และเครื่องประดับอัญมณีจากอินโดนีเซีย สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มจากอินเดีย เสื้อผ้าสำหรับหน้าหนาวที่ผลิตจากขน Alpaca จากกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ พรม ของตกแต่งบ้าน และเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของตุรกี สินค้าหัตถกรรมจากอิตาลี ตลอดจนสินค้าสำหรับประดับตกแต่งบ้านทำจากไม้ และเครื่องดนตรีพื้นเมืองของกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี Hall สำหรับจัดแสดงสินค้าและบริการในกลุ่ม Healthy and balanced life ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Ayurveda และผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ การนำเสนอเทคนิคสร้างความผ่อนคลายแบบเซน เครื่องสำอางธรรมชาติ แฟชั่นรักษ์สิ่งแวดล้อม อาหารและไวน์ออร์แกนิค เป็นต้น จึงเรียกได้ว่า IMPORT SHOP BERLIN เป็นช่องทางการตลาดอันหนึ่ง ที่จัดขึ้นสำหรับส่งเสริมการขายสินค้า Local ของประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มยอดขายในตลาด Global นั่นเอง

งาน IMPORT SHOP BERLIN 2012 ได้วาง Theme ของงานไว้เป็น "เส้นทางสายไหม หรือ Silk Road" กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7 - 11 พฤศจิกายน 2012 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจสมัครเข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงาน Import Shop Berlin สามารถติดต่อขอรับทราบรายละเอียด หรือสืบค้นข้อมูล ได้ที่ Messe Berlin GmbH (Project Manager : Ms.Brigitte Hahn ) Tel: +49 30 30 38 0, Fax:+49 30 3038 2130, Email: import@messe-berlin.de และ Web Site: www.importshop-berlin.de หรือ หากมีข้อสงสัยใดใดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของงาน ตลอดจน หากต้องการคำแนะนำในการมาเข้าร่วมงาน IMPORT SHOP ในกรุงเบอร์ลิน ผู้ประกอบการไทย สามารถสอบถามมาได้ที่ สคต.เบอร์ลิน Tel: +49 30 80 500 40 หรือ Email : thaicom.berlin@tonline.de และหากตัดสินใจเข้าร่วมงาน ขอให้ประสานกับ สคต.เบอร์ลิน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนลูกค้าให้มาเยี่ยมชมที่คูหาของผู้ประกอบการไทยได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ