สถานการณ์ตลาดไก่สด/แช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูปในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2011 13:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สินค้า :

ไก่สดแช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูป พิกัดศุลกากร (HS Code) : 0207 & 1602

2. ภาวะการค้า

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่นำเข้าและส่งออกต่อสินค้าไก่เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าใน 2 หมวดหลักเป็นมูลค่า600.8 ล้านเหรียญฯ ปริมาณรวม 355,523 ตัน และส่งออกต่อมูลค่า 110 ล้านเหรียญฯ ปริมาณ 40,115 ตัน โดยจำแนกได้ ดังนี้

  • สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง H.S. 0207 มูลค่า 513.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 334,371 ตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3

การส่งออกต่อมีมูลค่า 40 ล้านเหรียญฯ ปริมาณ 29,796 ตันมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2552

ประมาณร้อยละ 4.4 โดยประเทศที่ยูเออีส่งออกไปสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ โอมาน (9.7 ล้านเหรียญฯ) อิหร่าน (8.7 ล้านเหรียญฯ) จอร์แดน (4.0 ล้านเหรียญฯ) กาตาร์ (2.5 ล้านเหรียญฯ) และคูเวต (2.3 ล้านเหรียญฯ)

  • สินค้าไก่ปรุงสุก H.S. 160232 ยูเออี นำเข้ามูลค่า 87.7 ล้านเหรียญฯ ปริมาณ 21,152 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.6

การส่งออกต่อมีมูลค่า 70.4 ล้านเหรียญฯ ปริมาณ 10,320 ตัน มูลค่าสูงขึ้นจากปี 2552

ประมาณร้อยละ 2.83 โดยประเทศที่ยูเออีส่งออกไปสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (2.28 ล้านเหรียญฯ) จิบูติ (427,407 เหรียญฯ) บาห์เรน (411,691 เหรียญฯ) บราซิล (339,242 เหรียญฯ) และอัฟกานิสถาน (285,474 เหรียญฯ)

3. การผลิตในประเทศ

มีฟาร์มเลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ในประเทศจำนวน 12 โรงงาน มีกำลังการผลิตไก่ 30 ล้านตัวและไข่ไก่ 270 ล้านฟอง ต่อปี หรือประมาณร้อยละ 30-40 ของความต้องการใช้ในประเทศ แต่ฟาร์มเลี้ยงไก่เหล่านี้ขาดทุนติดต่อมากว่า 1 ปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหลายโรงงานอาจจะปิดตัวลง ทั้งนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ยูเออีไม่มีการเพาะปลูกพืชสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลืองและถั่วต่างๆ ต้องอาศัยนำเข้าทั้งสิ้น ซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้หากประเทศผู้ผลิต/ประเทศผู้ส่งออกผลิตไม่พอใช้ในประเทศหรือถูกห้ามส่งออกหรือขึ้นราคา ทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้เลี้ยงสัตว์ที่ต้องอาศัยสินค้านำเข้า บางรัฐในยูเออีขึ้นราคาค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงหนุนให้ต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน

แม้ว่าราคาวัตถุดิบและต้นสูงขยับสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตในยูเออีไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้เพราะหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค the Department of Consumer Protection ของรัฐบาลยูเออีควบคุมราคามาตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาเมื่อต้นปี 2554 ผู้ผลิตได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคาสินค้าได้อีก 20% แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือภาวะการขาดทุนของโดยเฉพาะฟาร์มไข่ไก่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตไข่ขณะนี้อยู่ที่โหลละ 1.80 เหรียญฯ แต่ราคาขายปลีกอยู่ที่ โหลละ 1.74 เหรียญฯ ส่วนราคาไก่สดกก.ละ 4.6 เหรียญฯและไก่แช่แข็งกก.ละ 2.75 เหรียญฯ

รัฐบาลกรุงอาบูดาบีให้เงินช่วยเหลือฟาร์มเลี้ยงไก่โดยให้เงินช่วยเหลือค่าอาหาร 30% ในขณะที่รัฐอื่นอีก 6 รัฐไม่มีเงินช่วยเหลือผู้เลี้ยงไก่ กอร์ปกับราคาค่าเช่าที่วางสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตขึ้นราคาทำให้ผู้เลี้ยงไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจ่ายเงินชดเชยค่าอาหารสัตว์ 70% นอกจากนั้นยังมีคู่แข่งขันอื่นๆ เช่น โอมาน บราซิล อาร์เจนตินาและตุรกี ส่งออกไปยูเออีในราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตได้ในยูเออี

เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมาฟาร์มเลี้ยงไก่รายสำคัญจำนวน 12 รายในยูเออีได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคม UAE Poultry Association เพื่อปกป้องผลผลิต ป้องการทุ่มราคาสินค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของสินค้านำเข้า ผนึกความมือเพื่อจะช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆที่อาจทำให้อุตสาหกรรมในประเทศเสียหาย ร่วมมือกันพัฒนาโรงเชือด ขบวนการผลิตและการจัดจำหน่ายแบบบูรณาการ

บริษัท Brasil Foods (BRF) ของบราซิลวางแผนที่จะลงทุนจำนวน 120 ล้านเหรียญฯเพื่อสร้างโรงงานครบวงจรผลิตไก่สด แช่แข็งและไก่แปรรูปสำหรับจำหน่ายในตะวันออกกลาง โดยจะใช้โรงงานในยูเออีเป็นฐานการผลิต การดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะลงทุน 95 ล้านเหรียญฯ และช่วงที่ 2 ประมาณ 25 ล้านเหรียญฯ โดยตั้งมีอัตราการผลิตประมาณ 80,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริมดำเนินการประมาณปลายปี 2555

ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดรองรับเนื้อไก่ที่สำคัญของบราซิล หรือคิดเป็นร้อยละ 31.8

หากมีการลงทุนผลิตเนื้อไก่แปรรูปถูกต้องตามหลักอิสลามก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น สินค้าเนื้อไก่แปรรูปที่นำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์ตัดแต่งลักษณะต่างๆ ได้แก่ แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า และเนื้อไก่หมักเครื่องเทศ เป็นต้น

4. คู่แข่งขันและโอกาสของสินค้าไทย

ตลาดไก่ในยูเออี แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

1) ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง ผู้ซื้อได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ตขายปลีก กลุ่มโรงแรมร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารปรุงสด ไก่ส่วนนี้มาจากผลผลิตภายในประเทศ และบางส่วนมาจากการนำเข้า

คู่แข่งขันที่ยูเออีนำเข้าสูงสุด 5 อันดับได้แก่ บราซิล (380.6 ล้านเหรียญฯ) สหรัฐอเมริกา (48.1 ล้านเหรียญฯ) โอมาน (23.4 ล้านเหรียญฯ) ฝรั่งเศส (23.3 ล้านเหรียญฯ) และซาอุดิอาระเบีย (10.8 ล้านเหรียญฯ)

2) ไก่แปรรูป ซึ่งจำหน่ายให้อุตสาหกรรมผลิตอาหารกึ่งแปรรูป ร้านอาหาร ธุรกิจ Catering

รวมทั้งการจำหน่ายเป็นอาหารแช่แข็งแก่ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า

คู่แข่งขันที่ยูเออีนำเข้าสูงสุด 5 อันดับได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย (25.0 ล้านเหรียญสหรัฐ) สหรัฐฯ (17.1 ล้านเหรียญฯ) บราซิล (12.8 ล้านเหรียญฯ) มาเลเซีย (9.8 ล้านเหรียญฯ) และเนเธอร์แลนด์ (4.6 ล้านเหรียญฯ) ไทย (7 แสนเหรียญฯ)

โอกาสของสินค้าไทย

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่แช่แข็งและเนื้อไก่จากไทย ตั้งแวันที่ 5 กันยายน 2554 หลังจากที่ห้ามการนำเข้าเพราะมีการแพร่เชื้อไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทยไทย ซึ่งการอนุญาตนำเข้าครั้งนี้เป็นผลจากประเทศไทยปลอดจากเชื้อไข้หวัดนกต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ออกคำสั่งเลขที่ 200/2511

ประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ไก่จากประเทศไทย โดยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ที่ 354/2511 ว่าด้วยเงื่อนไขการนำเข้าสัตว์ปีกที่มีชีวิตทุกประเภท เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก ไข่ฟักและลูกสัตว์ปีกที่มีอายุ 1 วัน สำหรับเนื้อไก่แปรรูป/ไก่ต้มสุก (heat- treated poultry) รัฐบาลยูเออีได้อนุญาตให้นำเข้าจากไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550

สินค้าที่นำเข้าจากไทยขณะนี้เป็นเนื้อไก่ชำเหละที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับร้าน Fastfood โรงงานผลิตอาหารกึ่งแปรรูปแช่แข็ง เป็นต้น

5. กฎระเบียบการนำเข้า

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ได้มีการประกาศระเบียบการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำยูเออี ว่าด้วยการนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากประเทศเอเซีย พอสรุปได้ดังนี้

1. ห้ามนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีใบอนุญาตการส่งออกที่ได้การรับรองจากหน่วยงานรัฐบาลประเทศผู้ส่งออก

2. สินค้าส่งออกจะต้องใบรับรองสุขอนามัย Health certificate ออกและได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศผู้ผลิต และประทับตรารับรองจากสถานทูตยูเออีหรือสถานทูตGCC อื่นๆในผู้ส่งออก

3. ใบอนุญาตดังกล่าวจะต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ประเทศผู้ส่งออกสินค้า และแหล่งกำเนิดสินค้าและระบุหมายเลขชุดสินค้า (batch number)

4. สินค้าสัตว์ปลีกนั้นจะต้องปลอดจากโรคติดต่อใดๆ ฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์จะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและไม่มีการแพร่เชื้อใดๆภายในเวลา 1 ปีก่อนเชือดสัตว์ โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปนั้นจะต้องมีใบอนุญาตถูกต้อง ได้รับรับรองโดยกรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐบาลยูเออี (Ministry of Environment and Water-UAE-กระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ-ยูเออี)

5. เอกสารใบรับรองการเชือดถูกต้อง (Halal Certificate) ที่ออกและรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามของไทยที่รัฐบาลยูเออีให้การรับรอง

6. สินค้าแต่ละ Lot ที่ส่งออกทุกครั้งจะต้องบรรจุด้วยวัสดุหีบห่อเป็นไปตามมาตรฐานของยูเออีที่ได้กำหนดไว้

7. ประเทศผู้ส่งออกจะต้องมีระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก มาตรการควบคุมการผลิตเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ให้ได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดหากสินค้าไม่มีเอกสารครบตามกำหนดและมาตรฐานไม่ตรงตามข้อกำหนดการกักกันพืช/สัตว์และสุขลักษณะที่วางไว้ สินค้าจะถูกส่งกลับประเทศที่ส่งออกโดยผู้นำเข้าสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือสินค้าอาจจะถูกยึดและทำลายได้

เอกสารประกอบการส่งออกอื่นๆเป็นเอกสารที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจาก หอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส ในประเทศไทย Bill of Lading และ Packing List

สรุป

1.คู่แข่งขันนอกจากระหว่างผู่ส่งออกด้วยกัน ผู้ผลิตในประเทศได้พัฒนาการผลิตให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าในทุกๆด้าน และยังมีข้อได้เปรียบด้านคุณภาพที่สดใหม่ ผู้ซื้อที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมั่นใจในขบวนการผลิตและการเชือดว่าถูกต้องตามหลักศาสนา

2. โรงงานผลิตอาหารแปรรูปผลิตสินค้าหลากหลายชนิดขึ้น และผู้ผลิตสินค้ามีช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตเร่งด่วนแบบปัจจุบัน จึงเป็นอีกช่องทางการเข้าตลาดของไทยผ่านโรงงานเหล่านี้

3.ให้ความสำคัญความสะอาดและสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปแช่แข็ง และพัฒนา ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

4. สินค้าบางส่วนนำเข้าเพื่อส่งออกต่อ (Re-export) ดังนั้นราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า

5. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่สำคัญของตะวันออกกลาง (Gulf Food) เพื่อใช้เป็นช่องทางการเผยแพร่สินค้าและเข้าสู่ตลาด

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ