อุตสาหกรรมสิ่งทอเม็กซิโกฟื้นตัวและเริ่มมีความสามารถ แข่งขันเทียบกับประเทศจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 6, 2012 11:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายกสมาคมสิ่งทอแห่งเม็กซิโก (CANAINTEX) นาย Rodolfo Garca Muriel ได้รายงานว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกในปี 2553 ได้แสดงตัวเลขการฟื้นตัวที่ดี โดยผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.6 เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเลขการขยายตัวที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจของเม็กซิโกโดยทั่วไป ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 สำหรับปี 2553 นอกจากนี้แล้ว การส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 และ 5 ตามลำดับเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกของปี 2552ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 996 ล้านเหรียญสหรัฐ รายการสินค้าส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ กางเกงยีนส์ สูทสำเร็จรูปผ้าวูลล์ ถุงเท้า และเสื้อยืด แหล่งส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา โคลัมเบีย และจีน

ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของภาคสิ่งทอเม็กซิโก มีผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสองประการ ประการแรกคือการกระจายแหล่งส่งออก ในปัจจุบันเม็กซิโกมีแหล่งส่งออกสินค้าสิ่งทอกว่า 60 ประเทศ โดยได้มีการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ การส่งออกไปยังภูมิภาคละตินอเมริกามีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30.2 ภูมิภาคยุโรปสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4 และภูมิภาคเอเชียสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกสิ่งทอของเม็กซิโก ในสัดส่วนร้อยละ 66

ปัจจัยอีกประการหนึ่ง ได้แก่ แผนการรณรงค์ภาคสิ่งทอเม็กซิกันที่มีชื่อว่า Mexico Fits ที่ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2009 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องคุณภาพของสินค้าสิ่งทอเม็กซิกัน และความพร้อมในการผลิตตามคำสั่งการออกแบบที่นำสมัย ภาคอุตสาหกรรามสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเม็กซิโก โดยการจ้างงานในภาคดังกล่าว มีแรงงานประมาณ 500,000 คน หรือร้อยละ 13 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งส่วนสี่ของแรงงานดังกล่าวจะทำงานในภาคสิ่งทอ อีกสามส่วนสี่ทำงานในส่วนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเม็กซิโก ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีและในทางไม่ดีหลายประการ ในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดตลาดเสรีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีนาฟต้าในปี 1994 ได้เกิดการผลิตแบบมาคีลาดอร่า นั่นคือ การใช้สิทธิประโยชน์ที่อนุมัติภายใต้โครงการส่งเสริมการส่งออกดังกล่าวโดยนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสหรัฐฯ ทำการผลิตแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกกลับคืนไปยังสหรัฐฯ การส่งออกเสื้อผ้าประเภทผ้าฝ้ายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออก 3 พันล้านเหรียญในปี 1995 เป็นมูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญในปี 2545 โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 9.4 พันล้านเหรียญในปี 2543 ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถส่งออกวัตถุดิบเส้นด้ายจากฝ้ายไปยังเม็กซิโกเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านเหรียญในปี 2545 ในปีต่อ ๆ มา เม็กซิโกได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอันดับหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ แต่กลับมาเสียเปรียบให้กับประเทศจีนอย่างรวดเร็ว เมื่อจีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกในปี 2545 ในปี 2550 ประเทศจีนสามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐฯ ได้เป็นร้อยละ 36 ของตลาดนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ทั้งหมด ในขณะที่เม็กซิโกสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 7 ทำให้เม็กซิโกตกมาเป็นแหล่งนำเข้าสำหรับสินค้าสิ่งทออันดับ 4 ของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2551 และ 2552 ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ อย่างแรงมากกว่าภาคการผลิตอื่นๆ การส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลงจาก 5.6 พันล้านเหรียญในปี 2551 เป็น 4.2 พันล้านเหรียญในปี 2553 อันเป็นผลให้มีการปิดโรงงานไปหลายร้อยแห่ง และได้มีไล่คนงานออกเป็นหลายหมื่นคน

ปี 2553 เป็นปีที่ได้เริ่มเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ และปรับปรุงโรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ มูลค่าการลงทุนใหม่ประมาณ 2 พันล้านเหรียญฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ดำเนินมาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แสดงผลในการขยายตัวร้อยละ 7.6 ของภาคอุตสาหกรรมฯ ในปีนี้ ตามที่นายกสมาคมสิ่งทอเม็กซิกันอ้างถึงข้างต้น นอกจากนี้แล้ว ได้มีการคาดคะเนเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกจะขยายตัวต่อไปอีกในอัตราร้อยละ 6 สำหรับปี 2554

ตลาดสำหรับเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศของเม็กซิโก

ถึงแม้ว่าตลาดภายในประเทศของเม็กซิโกจะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการหดตัวของการส่งเงินกลับจากคนงานเม็กซิกันในสหรัฐฯ ตลาดภายในของเม็กซิโกยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคละตินอเมริกา โดยเม็กซิโกมีประชากรมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคฯ การขยายตัวของร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 41 จากปี 2541 ถึง 2551 ตลาดเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกมีลักษณะของตลาดที่มีการแบ่งแยกสูง โดยบริษัทวิจัยตลาด Trendex Mexico ได้รายงานว่า มีบริษัทใหญ่คุมตลาดเครื่องนุ่งห่มในสัดส่วนร้อยละ 38.6 เพียง 11 บริษัท ซึ่งรวมถึง Suburbia (ร้อยละ 8.9) Liverpool/Fabricas (ร้อยละ 7.5) Bodega Aurrera (ร้อยละ 3.5) Coppel (ร้อยละ 3.5) Walmart de Mexico (ร้อยละ 3.4) และ Zara (ร้อยละ 2.4) ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart ได้เปิดร้านใหม่ถึง 174 แห่งในปี 2009 นอกจากนี้แล้ว กลุ่มธุรกิจด้านเครื่องนุ่งห่ม Cherokee, Gap และ Inditex (Zara) ได้เปิดร้านค้าใหม่ๆ เช่นกัน

โครงการ Mexico Fits

สมาคมสิ่งทอเม็กซิโกร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและกลุ่มบริษัทสิ่งทอเม็กซิกันจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการ Mexico Fits เมื่อปี 2551 เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมด้านสิ่งทอของเม็กซิโก นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้า เช่น Suburbia,Comercial Mexicana, Soriana และ Liverpool มุ่งเน้นการขายยี่ห้อเม็กซิกัน เช่น ยี่ห้อ Kaltex, Yale และ Cannon ให้เท่าเทียมกับสินค้าอเมริกันที่เป็นสินค้าที่ห้างเหล่านี้นิยมส่งเสริม การนำดีไซน์เนอร์เม็กซิกันไปร่วมประกวดการออกแบบในงานแสดงสินค้าที่สหรัฐฯ การพาสมาชิกสมาคมสิ่งทอเดินทางไปพบกับผู้นำเข้าและตัวแทนธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ การส่งเสริมการวิจัยและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการออกแบบสินค้าสิ่งทอใหม่ๆ เช่น การผลิตผ้าป้องกันไฟสำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม การออกแบบผ้าที่ทำการฆ่าเชื้อโรงไปในตัวสำหรับใช้ในภาคสุขอานามัย เป็นต้น

แนวโน้มการบริโภคที่เน้นเฟชั่นมากขึ้น

ผลวิจัยตลาดของ Euromonitor ได้รายงานว่า ผู้บริโภคเครื่องนุ่งห่มเม็กซิกันได้พัฒนารสนิยม มีความตื่นตัวในด้านแฟชั่นมากขึ้น โดยการขายเครื่องประดับและเครื่องตกแต่งเสื้อผ้า เป็นภาคตลาดย่อยที่ได้ขยายตัวมากระหว่างปี 2550-2551 และคาดว่า การขายในภาคตลาดย่อยดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 560 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2556 ภาคตลาดย่อยอีกภาคหนึ่งที่ได้มีการขยายตัวสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้ากีฬา เนื่องจากค่านิยมการเป็นสมาชิกศูนย์ออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น และการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ ส่วนภาคตลาดย่อยที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงในปีนี้ และปีต่อไป ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าชั้นในและชุดนอน

ชาวเม็กซิกันมีค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าประมาณ 195 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี โดยมีความนิยมในการซื้อเสื้อผ้าจากตลาดทั่วไป (street markets) ร้อยละ 33 ในห้างสรรพสินค้าประมาณร้อยละ 25 ซื้อจากร้านบูติ๊ก ร้อยละ 21 และในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 16 ปัญหาใหญ่สำรหรับการจำหน่ายปลีกสำหรับสินค้าเสื้อผ้า ได้แก่ การแข่งขันด้านราคากับเสื้อผ้าราคาถูกที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งการครองตลาดประมาณร้อยละ 56 ของยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

การสอบสวนการทุ่มตลาดผ้าเดนิมจากประเทศจีน

เมื่อปี 2552 ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแห่งเม็กซิโก (CANAIVE) ได้ทำการประท้วงในนามของสหภาพผู้ผลิตผ้าเดนิม (ยีนส์) กับกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก เรียกร้องการสอบสวนการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าประเภทเดนิมจากประเทศจีน โดยได้อ้างว่า ราคาผ้าเดนิม 27 สตางค์ต่อตารางเมตรที่ผู้นำเข้าจากจีนเสนอขาย เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงควรถือเป็นการทุ่มตลาด และควรเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนในราคาต่ำเกินทุนดังกล่าว ได้มีผลทำให้โรงงานผลิตเส้นด้ายฝ้ายในเม็กซิโกต้องปิดไปหลายโรงงาน การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า (ร้อยละ 236) ระหว่างปี 2550-2553 และในปัจจุบันได้มีการนำเข้าผ้าเดนิมจากจีน เทียบเท่ากับร้อยละ 26 ของผลผลิตภายใน

ภายหลังการสอบสวนและรอให้ผู้ประท้วงแสดงหลักฐานของการทุ่มตลาดอย่างแน่ชัด มาเป็นเวลาสองปี กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ประกาศผลสรุปการสอบสวนฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 แจ้งผลว่า เนื่องจากการขาดหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าง จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าเดนิมจากประเทศจีน และคงการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสิ่งทอหมวดนี้เท่าเดิม ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ