รายงานการพบปะกับนักธุรกิจด้านโลจิสติกส์ บริษัท China Ocean Shipping Agency Fangchenggang

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2012 15:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เมื่อเดือนธันวาคม 2011 สำนักงานส่งเสริมการส่งออกในต่างประเทศ ณ นครหนานหนิง ได้เดินทางไปเมืองฝางเฉิงก่าง ซึ่งมีท่าเรือสำคัญของเขตปกครองตนเองกว่างซี และได้พบกับ Mr.Nong Changhua ตำแหน่ง Manager of Container Department บริษัท China Ocean Shipping Agency Fangchenggang โดยเป็นบริษัทขนส่งทางทะเล 1 ใน 2 รายใหญ่ของท่าเรือฝางเฉิงก่าง ซึ่งดำเนินธุรกิจขนส่งไปทั่วโลก ตั้งอยู่เลขที่ 18 Friendship Road Guangkou District, Fangchenggang City, Guangxi, PRC. Tel : 0770-6102233 Fax : 0770-6102204 E-mai l: Containerx@panavicofc.com

ภาพรวมของบริษัท

บริษัทฯ อยู่ในเครือของ China Ocean Shipping (Group) Company (COSCO) ที่ประจำ อยู่เมืองฝางเฉิงก่าง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1983 ดำเนินธุรกิจขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเป็นหลัก (มีทางบกและอากาศด้วย) เมื่อเดือนธันวาคม 2008 ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทย คือ Regional Container Lines Group (RCL) ขนส่งสินค้าระหว่างไทย — ฝางเฉิงก่าง (ไทย — สิงคโปร์ — ไฮฟอง — ฝางเฉิงก่าง) สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ใช้เวลา 8 วัน โดยเดินทางถึงท่าเรือฝางเฉิงก่างทุกวันเสาร์ ส่วน การเดินเรือจากท่าเรือฝางเฉิงก่างไปไทยมีทุกวันอาทิตย์ (ฝางเฉิงก่าง — ฮ่องกง- สิงคโปร์- ไทย)

บริษัทฯ แจ้งว่า ปี 2011 (มค.-ตค.) บริษัทฯ ได้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทย— กว่างซี มากขึ้น โดยส่งออกสินค้ามาไทย 69 ตู้คอนเทนเนอร์ และนำเข้าจากไทย 83 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ การให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการนำเข้าสินค้าจากไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากกว่าการส่งออกมาไทย

ส่วนสินค้าจีนที่บริษัทฯ ให้บริการส่งออกมาไทยโดยผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้แก่ แผ่นไม้อัด เคมีภัณฑ์ (Phosphoric acid , Titanium dioxide ฯลฯ) ปุ๋ย เครื่องจักรก่อสร้าง (รถยกรถขุดดิน ฯลฯ) ในขณะที่ สินค้าไทยที่ส่งไปจีนโดยผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้แก่ แป้งมัน -สัมปะหลัง (ร้อยละ 80.0 ของสินค้านำเข้าจากไทยที่บริษัทฯ ให้บริการ) ยางพารา และข้าวหอมมะลิ

โอกาสของผู้ประกอบการไทย

เนื่องจากท่าเรือฝางเฉิงกว่างไม่เพียงเป็นท่าเรือสำคัญของเขตฯ กว่างซีเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางออกทะเลสำหรับมณฑลแถบตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางของจีน เช่น กุ้ยโจว ยูนนาน เสฉวน ชิงไห่ หูหนาน หูเป่ย ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่งไม่แตกต่างจาก การขนส่งระหว่างไทย — กว่างโจว (ที่ผู้ประกอบการคุ้นเคยกว่า) มากนัก แต่สิ่งที่ท่าเรือฝางเฉิงก่างได้เปรียบกว่า คือ การขนส่งทางบกไปยังมณฑลแถบตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางของจีน ทำได้รวดเร็วกว่า เนื่องจากอยู่ใกล้กว่า และยังเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้าแบบเทกองมากที่สุดของจีน จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

สรุปผลการหารือ

จากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของท่าเรือฝางเฉิงก่าง รวมถึงนโยบายส่งเสริมการพัฒนา ท่าเรือฝางเฉิงก่าง จึงเห็นควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการไทยได้รู้จักเส้นทางดังกล่าว และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้ประโยชน์จากท่าเรือฝางเฉิงก่างมากขึ้น ทำให้ท่าเรือนี้มีศักยภาพสูงในการขนถ่ายสินค้าในอนาคต สคต.จึงเห็นควรที่จะส่งเสริมไทย-จีนใช้เส้นทางขนส่งทางน้ำโดยผ่านท่าเรือฝางเฉิงกว่าง

สคต.หนานหนิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ