รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าราชอาณาจักรสเปน มกราคม ๒๕๕๕

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2012 14:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

๑.สถานการณ์เศรษฐกิจ
  • เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายกรัฐมนตรีนายมาริอาโน ราฆอย (Mariano Rajoy)ได้ประกาศนโยบายแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสเปน โดยมีเป้าหมายหลักในการลดการขาดดุลงบประมาณจากร้อยละ ๘ ของ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขการขาดดุลงบประมาณที่สูงกว่ารัฐบาลเดิมได้ประกาศไว้ที่ร้อยละ ๖ ให้ลดลงเหลือร้อยละ ๔.๔ ตามที่สหภาพยุโรปกำหนด
  • นโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสเปนประกอบด้วย

๑.๑) การตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงจำนวน ๘,๙๐๐ ล้านยูโรในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ โดยการ ตัดงบประมาณจากทุกหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระทรวงพัฒนา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐกิจ และกระทรวงการต่างประเทศ

๑.๒) การเพิ่มรายได้จากภาษีโดยปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้จำนวนร้อยละ ๐.๗๕ สำหรับผู้ที่ มีรายได้ ๙,๕๐๐ ยูโรต่อปี จนถึงร้อยละ ๗ สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ยูโรต่อปี

๑.๓) เพิ่มภาษีโรงเรือนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงเป็นเวลา ๒ ปี

๑.๔) ระงับการขึ้นอัตราแรงงานขั้นต่ำที่เดือนละ ๖๔๑ ยูโร

๑.๕) ระงับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการหน่วยงานของรัฐ (ภายหลังจากที่โดนปรับลดลง ร้อยละ๕ เมื่อปี ๒๕๕๔) และเพิ่มเวลาทำงานจากสัปดาห์ละ ๓๕ ชั่วโมงเป็น ๓๗.๕ ชั่วโมง

๑.๖) ประกาศนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม โดยการขึ้นงบประมาณสำหรับผู้เกษียณอายุร้อยละ ๑ เพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อและยังคงจ่ายเงินชดเชยผู้ตกงานจำนวนเดือนละ ๔๐๐ ยูโรต่อไป

  • การประกาศนโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ของรัฐบาลใหม่ของสเปนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสเปนอย่างจริงจัง รัฐบาลยังคงจะต้องออกนโยบายแก้ไขปัญหาโครงสร้างหลักที่สำคัญอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทั้งการแก้ไขกฎหมายด้านการจ้างงานและการสร้างงานใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันสเปนมีอัตราการว่างงานที่ร้อยละ ๒๒.๔ ซึ่งสูงที่สุดในสหภาพยุโรป หรือคิดเป็นผู้ตกงาน ๔.๘ ล้านคน
  • ปัญหาหนี้สินภาครัฐของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยรวม เห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในช่วงไตรมาสที่ ๓ ของปี ๒๕๕๔ ยังคงชะลอดตัวจนเกือบหยุดนิ่งที่ร้อยละ ๐.๒ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง หรือเติบโตเพียงร้อยละ ๑.๔ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี ๒๕๕๓ และคาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตในไตรมาสที่ ๔ และในปี ๒๕๕๕ ของสหภาพยุโรปยังคงชะงักงันและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
๒. การค้าระหว่างประเทศของสเปน
  • สเปนค้าขายกับประเทศในสหภาพยุโรปมูลค่าสูงถึงสองในสามของมูลค่าการค้าทั้งหมดหรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๖๖.๕ ประเทศคู่ค้าหลักของสเปนได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ ขณะที่ประเทศจีนนับเป็นคู่ค้าที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ ๔ สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสเปนสูงเป็นอันดับที่ ๔๓ และสเปนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ ๕๙
  • การค้าต่างประเทศของสเปนยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยในปี ๒๕๕๓ สเปนมีมูลค่าการค้ารวม ๕๖๐,๑๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออก ๒๔๕,๗๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า ๓๑๔,๔๐๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ๖๘,๖๘๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ในช่วง ๙ เดือนแรกของปีนี้ สเปนส่งออก ๒๒๐,๔๒๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้า ๒๗๑,๙๔๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ๕๑,๕๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สินค้าส่งออกหลักของสเปน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ เวชกรรม พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ผลไม้และถั่วชนิดต่างๆ และผักสด ตามลำดับ
  • สินค้านำเข้าหลักของสเปน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องจักร ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ตามลำดับ

๓. การค้าไทย-สเปน

ผลกระทบจากอุทกภัย
  • เหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยเริ่มส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยมายังสเปนใน ในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ ๑๒.๔) รถยนต์อุปกรณ์และชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ ๑๒.๘) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ ๓๑.๘) และคาดว่าผลกระทบน่าจะปรากฎให้เห็นชัดขึ้นไปจนถึงไตรมาสแรกของปี ๒๕๕๕
  • ทั้งนี้จากการสอบถามสถานการณ์นำเข้าจากผู้นำเข้ารายใหญ่ พบว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาหารทะเล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประสบปัญหาไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้ผู้นำเข้ามีความจำเป็นต้องยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก
มูลค่าการค้า
  • สเปนเป็นคู่ค้าของไทยที่มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับที่ ๗ ของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าสองฝ่ายลดลงอย่างมาก จากมูลค่า ๑,๘๗๕.๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี ๒๕๕๑ ลดลงเหลือ ๑,๑๘๙.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี ๒๕๕๒ หรือลดลงถึงร้อยละ ๓๖.๕ สาเหตุหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
  • ในปี ๒๕๕๓ มูลค่าการค้ากลับมาขยายตัวถึงร้อยละ ๓๓.๔ ที่มูลค่า ๑,๕๘๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - พ.ย.) มูลค่าการค้าสองฝ่ายยังคงขยายตัวที่ร้อยละ ๙.๐ มูลค่า ๑,๕๗๓.๑๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออก
  • สเปนเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ ๓๑ ของไทย มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสเปนในปี ๒๕๕๓ ขยายตัวถึงร้อยละ ๔๑ ที่มูลค่ารวม ๑,๑๒๑.๓ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • ในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวที่ร้อยละ ๕.๓ ที่มูลค่า ๑,๐๖๔.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ สินค้าในกลุ่มวัตถุดิบ ได้แก่ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ เลนส์ และสินค้าในกลุ่มอาหาร ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง นอกจากนี้สเปนยังเป็นตลาดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยในยุโรป
การนำเข้า
  • มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากสเปนของไทยในปี ๒๕๕๓ ขยายตัวร้อยละ ๑๘.๑ มีมูลค่ารวม ๔๖๕.๙ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สำหรับ ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการนำเข้าจากสเปนของไทยขยายตัวร้อยละ ๑๗.๔ มูลค่า ๕๐๘.๑ ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสเปนคือสินค้าทุนและวัตถุดิบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร เครื่องเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสินค้าในกลุ่มอาหาร ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้
ดุลการค้า

ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ในปี ๒๕๕๓ ไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสเปน ๖๕๕.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้เปรียบ ๕๕๖.๘๖ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

๔. สินค้าที่มีศักยภาพ
  • ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกอันดับ ๑ ของไทยมายังสเปน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๑๖.๖ ของมูลค่าการส่งออกรวม และในช่วง ๑๑ เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยยังคงขยายตัวถึงร้อยละ ๕๓.๘ มูลค่า ๑๗๗.๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สินค้าที่มียอดการส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง รองเท้าและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
  • สินค้าอาหารที่มีศักยภาพ ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปและข้าวหอมมะลิ
  • อาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสเปน ไม่มากนัก (จำนวน ๔ ร้านในกรุงมาดริด) แต่ก็มีลู่ทางขยายตลาดได้อีกมาก การสนับสนุนให้มีการสร้าง supply chain จึงน่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าอาหาร และส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทยในการใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยในราคาที่ถูกลงได้
  • ผลิตภัณฑ์ สปาและธุรกิจสปา/นวดแผนไทยมีลู่ทางขยายตลาดและธุรกิจได้ดี โดยเฉพาะ ณ สถานที่ ท่องเที่ยวและสนามกอล์ฟชั้นนำในสเปน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ