จีนกับท่าทีที่เปลี่ยนไปของพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 29, 2012 14:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

จีนกับท่าทีที่เปลี่ยนไปของพม่า

ความสัมพันธ์ระหว่างพม่า - จีนจากอดีตถึงปัจจุบัน

ในขณะที่พม่าถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศ ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศ หรือดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับจีนกลับดำเนินไปอย่างลึกซึ้งและแนบแน่น ระยะเวลาที่พม่าถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และพม่ามีความต้องการพัฒนาประเทศ จึงต้องหันไปพึ่งพาจีนในเกือบทุกด้าน จีนได้ตอบสนองความต้องการโดยอนุมัติให้บริษัทเอกชนและภาครัฐจีนได้เข้าไปทำการค้าการลงทุนในพม่ามาโดยตลอด จีนจึงได้ทั้งโอกาสที่ได้ทำธุรกิจกับพม่า และความเสี่ยงในการลงทุนกับพม่าในเวลานั้น

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของพม่ารวมทั้งไปลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ด้านสาธารณูปโภค จีนเห็นว่าพม่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่จีนต้องการทั้งวัตถุดิบและพลังงาน จีนนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานจำนวนมากจากพม่า จีนอนุมัติให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเข้าไปพัฒนาพม่า สร้างถนน ทางรถไฟ สร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันไปยังประเทศจีน สัมปทานการทำเหมืองแร่ การทำไม้ ฯลฯ ด้านการค้าส่งออกจีนได้ส่งสินค้าที่ผลิตในประเทศตั้งแต่สินค้าขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่เข้าไปจำหน่ายในพม่า

นโยบายจีน "มุ่งใต้ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย"

มณฑลตอนใต้และตะวันตกของประเทศจีน เป็นดินแดนที่ติดต่อกับประเทศต่างๆ หลายประเทศ มณฑลด้านนี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถออกสู่ทะเลได้ ในประวัติศาสตร์ของจีน การทำการค้ากับต่างประเทศด้านใต้และตะวันตกอาศัยเส้นทางบกเสมอมาจนเป็นที่มาของเส้นทางสายไหมตอนใต้ ซึ่งการค้าจะต้องอาศัยยูนนาน มณฑลด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นประตูออกสู่ต่างประเทศด้านใต้เพื่อไปยังพม่า อินเดีย ฯลฯ

ที่ตั้งของมณฑลยูนนานซึ่งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ถือเป็นทำเลที่สำคัญ ยูนนานได้เสนอขอความเห็นชอบยุทธศาสตร์/แผนที่จะมุ่งลงใต้ต่อรัฐบาลกลาง เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าจีนออกทะเลอีกทางด้านหนึ่ง ภายใต้แผนการณ์ จีน/ยูนนานจะเข้าไปลงทุนในพม่า เพื่อสร้างถนน รถไฟ ท่าเรือในแม่น้ำอิระวดี เพื่อตอบสนองนโยบายออกสู่ทะเล และการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนส่งสินค้า ที่สำคัญจำนวน 2 แห่ง คือ เมืองเจียวเพียวหรือจ้าวผิ่ว (อ่าวเบงกอล) และท่าเรือ Kalaguak ในทะเลอันดามัน

เส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนออกสู่ทะเลที่อ่าวเบงกอลมีระยะทาง ประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ในเบื้องต้น จีนสนับสนุนให้มีการสร้างเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนเพื่อเชื่อมจากชายแดนจีน (เมืองรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน) และชายแดนพม่า (เมืองมูเซ) ไปยังท่าเรือเจียวเพียวหรือจ้าวผิ่ว ซึ่งในปี ๒๐๑๑ กลุ่มบริษัทรถไฟของจีนได้มีการลงนามในข้อตกลงที่จะสร้างเส้นทางรถไฟดังกล่าว คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน ๓ ปี

ท่าเรือในเมือง Kalaguak เป็นท่าเรืออีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในเป้าหมายที่จีนจะมุ่งออกสู่ทะเล เมือง Kalaguak อยู่ห่างจากอำเภอแม่สอดของประเทศไทยประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร (การสร้างท่าเรือเป็นการร่วมลงทุนระหว่างเอกชนจีน-ไทย และพม่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในเมืองนี้) การออกสู่ทะเลเส้นทางนี้ จะต้องผ่านประเทศไทย (เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองพิเศษสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน มายังประเทศไทยที่อำเภอแม่สอด)

นอกจากท่าเรือทั้งสองข้างต้น จีนยังสนใจท่าเรือน้ำลึกในเมืองทวาย ที่อยู่ใกล้กับจังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย เส้นทางมุ่งลงใต้เพื่อเป็นให้จีนสามารถออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยขนส่งสินค้าไปยังปลายทางที่เอเชียใต้ เอเซียตะวันออกกลาง ประเทศในแอฟริกา และยุโรป ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามแผนการณ์ นั่นหมายถึงสินค้าต่างๆ ของจีนจะส่งออกไปสู่ยุโรปได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพึ่งท่าเรือด้านตะวันออกของจีน และไม่ต้องเดินเรืออ้อมแหลมมาลายูอีกต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจเมืองชายแดนเติบโตและสอดรับกับนโยบายที่ต้องการมุ่งลงใต้ รัฐบาลได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง เช่น Jiegao (The First Special Economic Zone on the inland border), Ruili Border Economic Cooperation Zone , Wanting Border Economic Cooperation Zone, และChina(Cangyuan) -Myanmar Border Economic Zone ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ได้รับอนุมัติล่าสุดจากรัฐบาลกลาง คาดว่าสร้างเสร็จในปี ๒๐๑๕

จุดเปลี่ยนในพม่า

พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเป็นจำนวนมาก เป็นที่สนใจของประเทศตะวันตกซึ่งพยายามจะแสวงหาโอกาสที่จะเข้ามาพม่าเพื่อดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่สามารถเข้ามาได้ จนกระทั่งสถานการณ์การเมืองในพม่าที่เปลี่ยนไปเมื่อปี ๒๐๐๗ ผู้นำพม่าคนเดิม คือ นายพลตันฉ่วย ป่วยจนไม่สามารถบริหารประเทศได้ จึงเป็นโอกาสให้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศคนใหม่แทน การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงสุดของพม่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศตะวันตก ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีต่อพม่ามาอย่างยาวนาน

จีนอาศัยพม่า หรือ พม่าอาศัยจีน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพม่า ทำให้ความสัมพันธ์กับจีนไม่ราบรื่นเหมือนเดิม พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับจีนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ พรมแดนระหว่างพม่ากับจีนมีระยะทาง ๒,๑๘๕ กิโลเมตร พม่าเป็นเส้นทางออกมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าให้เศรษฐกิจด้านนี้ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยอาศัยจมูกพม่าในการออกสู่ทะเล และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ๑ ประเทศ (จีน) ๒ มหาสมุทร (อินเดียและแปซิฟิก) ภาครัฐจึงเร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากประตูด้านยูนนาน-พม่า

การยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าดูเหมือนจะเป็นผลดีกับจีน แต่ในความเป็นจริง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน พม่าได้ปฏิเสธการเข้ามาลงทุนของจีน เช่น พม่าชะลอการอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อน Myitsone เป็นการชั่วคราว (มูลค่าการลงทุน ๓.๖ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยอ้างถึงการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม พม่ายังคงการอนุมัติการสร้างท่อก๊าซ และท่อส่งน้ำมันไปยังจีนอยู่ แม้จะมีข้อขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ที่สร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันก็ตาม

เมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ผู้ว่าการมณฑลยูนนานได้เดินทางเยือนประเทศ GMS ทั้งหมด ๔ ประเทศ รวมทั้งประเทศพม่า ผู้ว่าฯ ได้กล่าวในการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจที่จัดขึ้นในกรุงย่างกุ้งว่า มณฑลยูนนานจะกระชับความสัมพันธ์กับพม่าอย่างแนบแน่นและลึกซึ้ง ให้มีการแลกเปลี่ยนผู้นำระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ความร่วมมือเพื่อการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในพม่า ร่วมมือภาคการผลิต การทำสัญญาค้าขาย สินค้าเกษตร การศึกษา การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การเงิน การทำเหมืองแร่ และพลอยธรรมชาติ ซึ่งการเดินทางเยือนพม่าของผู้ว่าการมณฑลยูนนาน เพื่อเน้นย้ำความสัมพันธ์ของจีนที่มีต่อพม่ามายาวนาน และจะเป็นเพื่อนบ้านที่จะให้การสนับสนุนพม่าต่อไป

ท่าทีล่าสุดของจีนต่อพม่า

พม่าเปรียบเหมือนประตูหลังบ้านของจีน ซึ่งจีนรู้สึกว่าต้องดูแลให้การสนับสนุนพม่าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงท่าทีของพม่ามีผลทางทางจิตวิทยาด้านการเมืองต่อจีน ทำให้จีนรู้สึกไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม สำนักข่าวภายในจีนได้เผยแพร่ข่าวในทำนองความร่วมมือกันระหว่างจีนกับพม่าจะเป็นผลดีต่อพม่า รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ควรยกเลิกหรือชะลอการสร้างเขื่อน Myitsone ที่ลงทุนโดยจีนอีกด้วย ขณะนี้ ประเทศตะวันตกให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับพม่าเป็นพิเศษ จีนอาจจะจ้องหาจังหวะและโอกาสใหม่ที่จะร่วมมือกับพม่าทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองโดยอาศัยผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงที่จะเดินทางเยือนพม่าต่อไป

*****************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

พฤษภาคม ๒๕๕๕


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ