แนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสทางการค้ากับซาอุดีอาระเบีย ปี 2555-9

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 16, 2012 13:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

รายงานฉบับนี้จะกล่าวถึงแนวโน้มในระยะปานกลางของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิสัยทัศน์ และนโยบายของรัฐบาลซาอุฯ ว่าจะมุ่งหน้าไปในทิศทางใด และการดำเนินการดังกล่าวของซาอุฯ อาจจะก่อให้เกิดโอกาสและอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยหรือไม่ อย่างไร

1. ภาพรวมของประเทศในกลุ่ม GCC

ซาอุฯ เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก GCC ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ภาพรวมของ GCC จะสะท้อนให้เห็นแนวทางการเติบโตและโอกาสทางการตลาดของกลุ่มประเทศใน ตะวันออกกลางทั้งหมดได้เป็นอย่างดี

GCC (the Cooperation Council for the Arab States of the Gulf) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 (1981) ประกอบด้วยสมาชิกในคาบสมุทรอาหรับ 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ ส่วนประเทศเยเมน ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก GCC ตั้งแต่ปี 2539 แต่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นสมาชิกสมทบ เมื่อปี 2544 นอกจากนี้ล่าสุดยังพิจารณาที่จะรับจอร์แดน และโมรอคคโค เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติมอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GCC มีความโดดเด่นและแตกต่างจากภูมิภาคอื่น มีดังนี้

1) ประชากรของ GCC อยู่ในวัยหนุ่มสาว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในปี 2559 GCC จะมีประชากรทั้งสิ้น 49.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 ถึง 8.5 ล้านคน ซาอุฯ ประเทศเดียวมีประชากร 33.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1 ล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ประชากรของ GCC                 (ล้านคน)
        ประเทศ             2553      2559     เพิ่ม
ซาอุดีอาระเบีย                28.5      33.6     5.1
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์            4.7       5.2     0.5
คูเวต                        3.1       3.5     0.4
โอมาน                       2.9       3.6     0.7
กาตาร์                       1.6       2.0     0.4
บาห์เรน                      1.3       1.5     0.3
       GCC                 40.9      49.4     8.5
ที่มา: SAMBA, June 2012

          ในด้านของกำลังซื้อ GCC มีรายได้ต่อหัว (Per Capita Income) ในปี 2559 อยู่ที่ 38,700 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี ประเทศที่มีรายได้ตัวหัวสูงสุดคือ กาตาร์ 128,400 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี ตามด้วย สหรัฐอาหรับฯ คูเวต โอมาน ซาอุฯ และบาห์เรน ตามลำดับ (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 รายได้ต่อหัวของ GCC                                                              ($,000)
          ประเทศ         2553        2554       2555f       2556f       2557f       2558f        2559f
ซาอุดีอาระเบีย              16.2        20.2        20.3        20.2        21.3        22.7         24.2
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์         65.3        72.6        79.5        80.4        84.3        89.0         92.8
คูเวต                     41.4        55.2        61.5        59.0        59.9        62.8         67.0
กาตาร์                    82.7       108.8       113.2       120.9       125.6       127.2        128.4
โอมาน                    20.0        25.4        27.3        25.9        26.3        26.3         26.5
บาห์เรน                   18.5        20.6        20.4        20.6        20.7        20.7         20.8
           GCC           26.5        32.4        33.9        33.8        35.2        36.9         38.7
หมายเหตุ: f = คาดการณ์
ที่มา: SAMBA, June 2012

          2) วิสัยทัศน์และแผนพัฒนาประเทศ ของประเทศสมาชิก GCC มีการวางแผนพัฒนาประเทศและประกาศใช้ รวมทั้งดำเนินการอย่างจริงจัง ในช่วงเวลา 2551-2561 รวมกันทุกประเทศ GCC มีแผนการใช้เงินพัฒนาประเทศถึง 927 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซาอุฯ ประเทศเดียวมีการใช้วงเงินสูงถึง 385 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 วงเงินตามแผนพัฒนาประเทศของ GCC
ประเทศ                      พันล้านเหรียญสหรัฐฯ          ปี
ซาอุดีอาระเบีย                      385.0             2553-7
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์                 160.0             2551-6
คูเวต                             125.0             2553-7
กาตาร์                            226.0             2554-9
โอมาน                             31.0             2554-8
           GCC                   927.0
ที่มา: SAMBA, June 2012

          แผนการพัฒนาประเทศฯ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมย่อยต่างๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง พลังงานไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณสุข เคหะ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการศึกษา จากตัวเลขในการลงทุนพบว่าภาคการคมนาคมขนส่ง จะเป็นภาคที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง เช่น GCC วางแผนที่จะมีระบบการขนส่งทางราง เชื่อมประเทศสมาชิกทุกประเทศ ภาคการขนส่งทางบก (ถนน) ทางอากาศ (ท่าอากาศยาน) ทางน้ำ (ท่าเรือ) ก็ได้รับงบประมาณในการพัฒนาเช่นกัน (ตารางที่ 4)
ตารางที่ 4 วงเงินพัฒนาประเทศด้านการคมนาคมฯ                     (พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ประเทศ                   ทางการบิน           ทางรถไฟ      ทางถนน      ทางเรือ       รวม
ซาอุดีอาระเบีย                19.6              40.7         4.1         9.1         73.5
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์            8.7              17.5        25.8         3.8         55.8
คูเวต                        3.4              14.0         8.2         2.7         28.3
กาตาร์                      15.2              36.8         7.2        11.5         70.7
โอมาน                      12.6               2.5        10.0         7.9         33.0
บาห์เรน                      4.9               7.9         1.2         0.9         14.9
           GCC             64.4             119.4        56.5        35.9        276.2
ที่มา: SAMBA, June 2012

          3) รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ GCC มีน้ำมันสำรองที่ตรวจพบแล้ว (Proved oil reserves) ทั้งสิ้น 495.2 พันล้านบาร์เรล (b/b) หากมีการจำหน่ายน้ำมันดิบที่ราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล กลุ่ม GCC จะมีเงินไหลเข้าทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ($ trillion) (ตารางที่ 5) เห็นได้ว่า GCC มีรายได้จากน้ำมันจำนวนมาก จึงมีศักยภาพสูงที่จะดำเนินงานตามแผนพัฒนาประเทศที่ได้วางไว้
ตารางที่ 5 คาดการณ์เงินเข้าประเทศจากน้ำมัน         (ณ ราคา $US100/บาร์เรล)
ประเทศ                   น้ำมันสำรอง (พันล้านบาร์เรล)      ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ซาอุดีอาระเบีย                      264.5                     21.2
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์                  97.8                      7.8
คูเวต                             101.5                      8.1
กาตาร์                             25.9                      2.1
โอมาน                              5.5                      0.4
       GCC                       495.2                     40.0
ที่มา: SAMBA, June 2012

2. ประเทศซาอุดีอาระเบีย
          2.1 แนวโน้มด้านเศรษฐกิจ
          ปี 2555-9 คาดว่าซาอุฯ จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) เฉลี่ยร้อยละ 5 โดยในปี 2559 GDP (Nominal) จะสูงถึง 813.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5.5 (ตารางที่ 6) อย่างไรก็ตาม คาดการณ์กันว่าเงินงบประมาณของรัฐบาลซาอุฯ จะยังคงเป็นแรงขับดันเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป ทั้งนี้คาดว่าซาอุฯ จะมีการใช้งบประมาณปีละ 300 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

ตารางที่ 6 ภาพรวมทางเศรษฐกิจของซาอุฯ
                            2553      2554       2555f      2556f       2557f      2558f      2559f
Real GDP (% change)          4.1       6.8         4.8        4.0         4.5        5.6        6.1
Nominal GDP ($ billion)    447.8     576.8       596.9      616.4       671.9      738.7      813.5
CPI (ave. % change)          5.4       5.0         4.9        5.5         5.6        5.6        5.7
Budget Balance (%GDP)        5.2      14.8        15.2        9.0         8.0        5.3        2.7
Current Account (%GDP)      15.4      27.8        27.5       18.7        15.8       11.7        7.6
Oil production (mb/d)       8.24      9.32        9.83       9.73        9.83      10.03      10.23
Population (million)        27.6      28.5        29.5       30.5        31.5       32.5       33.6
หมายเหตุ: f = คาดการณ์
ที่มา: SAMBA, June 2012

          2.2 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ
          รัฐบาลซาอุฯ ได้ประกาศแผนในการพัฒนาประเทศฉบับที่ 9 (The Ninth Development Plan:NDP) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ช่วงปี 2553-2557 โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 385.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นใช้ในการพัฒนาภาคการศึกษา 195.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคสาธารณสุข 73 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคเศรษฐกิจ (โครงสร้างพื้นฐาน) 60.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคการขนส่งและสื่อสาร 29.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคสุขาภิบาลและการเคหะ 26.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตารางที่ 7)
          - ภาคการศึกษา จะมีการยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโรงเรียนเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
          - ภาคสาธารณสุข จะมีการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลให้เพียงพอกับจำนวนประชากร ให้ความสำคัญกับระบบประกันสุขภาพมากขึ้น
          - ภาคเศรษฐกิจ (โครงสร้างพื้นฐาน) พัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าและน้ำ เพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวของประชากรและภาคธุรกิจในอนาคต
          - ภาคการขนส่ง ซาอุฯ จะพัฒนาระบบการขนส่งทางบก (ถนน) เพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาการคมนาคมระบบราง และท่าเรือต่างๆ
          - ภาคสุขาภิบาลและการเคหะ จะเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน มีโครงการทำบ้านราคาประหยัดสำหรับคนทั่วไป คาดการณ์ว่าในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 9 เพียงช่วงเดียว ตลาดมีความต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 1.25 ล้านหน่วย
ตารางที่ 7 วงเงินแผนพัฒนาประเทศของซาอุฯ         (พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
                        แผนพัฒนาฯ 8        แผนพัฒนาฯ 9     % ที่เพิ่ม
                        (2548-52)          (2553-7)
ภาคการศึกษา                128.0             195.1          52.4
ภาคสาธารณสุข                41.1             73.0           75.7
ภาคเศรษฐกิจ                 28.2             60.7          115.1
ภาคการขนส่งและสื่อสาร         15.1             29.6           96.0
ภาคสุขาภิบาลและการเคหะ       17.5             26.8           53.0
        รวม               229.9            385.2           67.2
ที่มา: SAMBA, June 2012

          2.3 ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของซาอุฯ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจะได้รับการส่งเสริม
          รัฐบาลซาอุฯ ตระหนักถึงการที่ประเทศพี่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันค่อนข้างมาก ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มิใช่การผลิตน้ำมัน (Non-Oils Export Sector) อย่างไรก็ตาม จากความได้เปรียบที่มีน้ำมันจำนวนมาก (ปริมาณน้ำมันสำรองใช้ได้ถึง 90 ปี) ส่วนหนึ่งจึงส่งเสริมด้าน Petrochemicals โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสหากรรมปลายน้ำ (Downstream) ซาอุฯ มุ่งที่จะผลิต NAPHTHA อันเป็นสารตั้งต้นในการผลิต Benzene (ใช้ในอุตสาหกรรมยา, เครื่องสำอาง, เรซิน), Toluene (ใช้ในการผลิต Solvent, flexible foams, coating) และ Xylene (ใช้ในการผลิต apparel, home furnishing, rollers, automotive parts)

ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับการส่งเสริม ได้แก่
          - สินค้าเกษตร (Agricultural Products)
          - การผลิตทองแดง (Copper)
          - สินค้าเครื่องหนัง (Leather Products)
          - พลาสติกประเภทต่างๆ (Various Plastics)
          - ผลิตภัณฑ์สีและสินค้าที่เกี่ยวข้อง (Paints and Derivatives)
          - เครื่องประดับ (Jewellery)
          - อลูมิเนียม (Aluminium)
          - กระจก (Glass)
          - พีวีซี (PVC)
          - ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่าง ๆ (Various Steel Products)
          - สินค้าอะไหล่รถยนต์ และประดับยนต์ (Spare Parts & Accessories)

3. ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โอกาสและอุปสรรค
          ไทยส่งสินค้าออกไปซาอุฯ ปี 2554 (2011) มูลค่า 2,255 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน (854 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เคมีภัณฑ์ (181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน (155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เครื่องจักรและชิ้นส่วน (102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และผลิตภัณฑ์ยาง (93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)รายละเอียดดังตารางที่ 8 (แนบท้าย)
          3.1 ปัญหา อุปสรรค สำหรับสินค้าไทย
          เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯ ในปัจจุบัน และภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ซาอุฯ จะส่งเสริมตามที่กล่าวถึงข้างต้น สินค้าส่งออกไทยที่อาจจะได้ผลกระทบค่อนข้างมากคือ สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนยานยนต์ ในปี 2554 สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ไทยส่งออกไปซาอุฯ 854 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จำแนกเป็นการส่งออกรถยนต์และรถกระบะ ประมาณ 790 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และชิ้นส่วนยานยนต์ 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
          นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเหล็ก และทองแดง ที่ไทยส่งออกประมาณปีละประมาณ 40-90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 16-35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ อาจได้รับผลกระทบในทางลบด้วย กล่าวคือ
          1) ซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าข้างต้นจากไทยน้อยลง เนื่องจากพึ่งพาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น
          2) ซาอุฯ อาจออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Infant Industry Measures) แม้ว่าซาอุฯ เป็นสมาชิก WTO แล้ว ซึ่งไม่สามารถขึ้นภาษีนำเข้าโดยไม่มีเหตุอันควร แต่สามารถใช้มาตรการอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี (NTBs) ก่อให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้ากลุ่มที่รัฐบาลซาอุฯ ประสงค์จะสนับสนุน เช่น การใช้มาตรฐานสินค้า การใช้มาตรการ AD/CVD สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมภาคอุตสาหรรมเป้าหมาย อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาและเตรียมการลงทุน ก่อสร้าง ดังนั้นในระยะสั้น การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯ ยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบ แต่ในระยะกลาง-ระยะยาว (5 ปี จากนี้ไป) ซาอุฯ อาจนำมาตรการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นมาใช้ก็เป็นได้

          3.2 โอกาสสำหรับสินค้าไทย
          ซาอุฯ มีการขยายตัวของประชากรค่อนข้างสูง มีรายได้ดี รัฐบาลมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ในส่วนนี้ก่อให้เกิดโอกาสสำหรับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเช่นกัน สินค้าที่มีโอกาสและศักยภาพในการเข้าตลาดซาอุฯ เช่น สินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ตู้เย็น ตู้แช่และชิ้นส่วน เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วน สินค้า/อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

4. การเข้าสู่ตลาดซาอุฯ ของผู้ส่งออกไทย
          1) ผู้ประกอบการไทย หาโอกาสพบปะกับพ่อค้าชาวซาอุดีฯ เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เชิญนักธุรกิจซาอุฯ เข้าร่วมงานทุกครั้ง หรือผู้ส่งออกไทย เดินทางเข้าซาอุฯ เพื่อพบลูกค้า โดยให้ผู้นำเข้าซาอุฯ เป็นผู้ออกหนังสือเชิญ เพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่าเดินทาง
          2) ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่จัดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีหลายงาน โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานติดต่อได้ที่กรมฯ หรือสำ นักงานฯ โดยตรง หรือเยี่ยมชมเวปไซต์ของผู้จัดงาน เช่น www.recexpo.com และ www.acexpos.com เป็นต้น
          3) ผู้ส่งออกไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เป็นต้น
          4) ผู้ส่งออกไทยที่สนใจเปิดตลาดในซาอุฯ สามารถส่งตัวอย่างสินค้า โบรชัวร์ มาแสดง ณ ห้องแสดงสินค้าของสำนักงานฯ ณ เมืองเจดดาห์ ได้

                                                            สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ