โลจิสติกส์มณฑลเสฉวน ปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 15, 2013 13:30 —กรมส่งเสริมการส่งออก

"ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในเขตจีนตะวันตก" เป็นนโยบายพัฒนาเมืองที่สำคัญอีกนโยบายหนึ่งที่ทางรัฐบาลมณฑลเสฉวนทุ่มเทและผลักดันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน นครเฉิงตูถือเป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่งเพื่อรับมือกับบทบาทศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางบกและทางราง โดยในปี 2555 มณฑลเสฉวนมีการพัฒนาคมนาคมขนส่งด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. การขนส่งทางอากาศ

สนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว (Chengdu Shuangliu International Airport) ถือเป็นด่านสำคัญในการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของมณฑลเสฉวน โดยทางสนามบิน ฯ ได้มุ่งพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งและจุดแวะเปลี่ยน (Transit) สำหรับการขนส่งทางอากาศในเขตพื้นที่จีนตะวันตก

จากผลการพัฒนา ปัจจุบัน สนามบิน ฯ เป็นสนามบินนานาชาติที่มีอาคารผู้โดยสาร 2 แห่ง มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 500,000 ตารางเมตร เป็นสนามบินที่มีรันเวย์ 2 รันเวย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สามารถรองรับเครื่องบินขนาดยักษ์แอร์บัส A380 รวมถึงรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 50 ล้านราย/ปี ส่งผลให้ นครเฉิงตูและสนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว เป็นเมืองและเป็นสนามบินนานาชาติอันดับที่ 4 และ 5 ของประเทศ ขณะที่ในระดับนานาชาติแล้ว สนามบินเฉิงตูซวงหลิวถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก ทั้งนี้ สนามบิน ฯ ก็ไม่ละเลยความปลอดภัยและข้อพึงระวัง โดยมีคติในการบริหารงานคือ "ใส่ใจระวัง ปลอดภัยที่หนึ่ง"

ในปี 2554 สนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว รองรับผู้โดยสารจากทั้งในและต่างประเทศจำนวน 29.07 ล้านราย จัดอยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก ปริมาณการขนถ่ายสินค้าจำนวน 477,700 ตัน จัดอยู่ในอันดับที่ 44 ของโลกตามลำดับ

ข้อมูลถึงเดือนตุลาคม 2555 สนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวมีการให้บริการของสายการบินต่าง ๆ รวมกว่า 50 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินภายในประเทศจำนวน 27 บริษัทและสายการบินระหว่างภูมิภาค/ประเทศจำนวน 23 บริษัท มีเส้นทางการบินภายในประเทศจำนวน 141 เส้นทาง เส้นทางระหว่างภูมิภาค/ประเทศจำนวน 51 เส้นทาง จุดหมายปลายทางในประเทศจำนวน 95 เมือง/มณฑล จุดหมายปลายทางระหว่างภูมิภาค/ประเทศจำนวน 49 แห่ง อาทิ เส้นทางระหว่างเฉิงตู - ปักกิ่ง เฉิงตู - เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู - กวางโจว เฉิงตู - คุนหมิง เฉิงตู - ซีอาน เฉิงตู - เซิ่นเจิ้น เฉิงตู - มุมไบ เฉิงตู - ฮานอย เฉิงตู - ฮัมสเตอร์ดัม เฉิงตู - บังกาลอร์ เฉิงตู - โซล เฉิงตู - กรุงเทพ เฉิงตู - ไทเป เฉิงตู - ฮ่องกง เฉิงตู - สิงคโปร์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียกลาง เอเชียใต้ ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อสนับสนุนและเพิ่มปัจจัยข้อได้เปรียบให้กับเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนในการดึงดูดนักลงทุน/นักธุรกิจต่างชาติ การค้าระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่การคมนาคมขนส่งทางอื่นไม่สามารถทดแทนได้

นอกจากสนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวแล้ว การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศ มณฑลเสฉวนยังมีสนามบินภูมิภาคภายในประเทศในเมืองระดับรอง เช่น ท่าอากาศยานพานจือฮวา (Panzihua Airport) ท่าอากาศยานอี๋ปินไช่ป้า (Yibin Caiba Airport) และอื่นๆ

สรุปอัตราการเติบโตของสนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิวระหว่างปี 2000 - ปี 2011
      รายการ          ปริมาณล่าสุดปี 2011           อัตราขยายโดยเฉลี่ยในรอบ 12 ปี (%)
การขึ้นบิน - ลงจอด         222,000 ลำ                          + 13.1
ผู้โดยสาร               29.07 ล้านราย                          + 17.1
ขนถ่ายสินค้า               477,700 ตัน                          + 13.2

2. การขนส่งทางน้ำ

มณฑลเสฉวนตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำแยงซี มีทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญหลายสาย อาทิ แม่น้ำหมิ่นเจียง แม่น้ำเจียหลิงเจียง สร้างเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางน้ำระหว่างเมืองหลู่โจว อี๋ปิน เล่อซาน กว่างอัน หนานชง และกว่างหยวน ระยะทางการขนส่งทางน้ำมณฑลเสฉวนรวม 11,725 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือมาตราฐานแห่งชาติระดับ 4 ความยาว 1,001 กิโลเมตร ระดับ 7 อีกประมาณ 4,026 กิโลเมตร มีท่าเรือประมาณ 17 ท่า ท่าเทียบเรือขนาด 1,000 ตันประมาณ 50 แห่ง ปัจจุบัน ปริมาณการขนส่งทางเรือของมณฑลเสฉวนประมาณ 83.95 ล้านตัน ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ถึง 1,000,000 ตู้ ทำให้รัฐบาลมุ่งพัฒนาการขนส่งทางน้ำของมณฑลเสฉวนให้เป็นเส้นทางการขนส่งสีทองในแม่น้ำแยงซี สู่ยุครุ่งเรืองของการขนส่งทางน้ำในมณฑลเสฉวน

นโยบายการพัฒนาการขนส่งทางน้ำที่น่าสนใจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรอบ 5 ปี ฉบับที่ 12 คือ นโยบาย "4 แม่น้ำ 6 ท่าเรือ" 4 แม่น้ำในที่นี้หมายถึง แม่น้ำแยงซี เส้นทางการขนส่งทางน้ำระหว่างฉงชิ่ง - หลู่โจว - อี๋ปิน ความยาวรวม 258 กิโลเมตร แม่น้ำหมิ่นเจียง เส้นทางการขนส่งภายในมณฑลระหว่างเล่อซาน - อี๋ปิน ความยาวรวม 162 กิโลเมตร แม่น้ำเจียหลิงเจียง เส้นทางระหว่างฉงชิ่ง - กว่างหยวน ความยาวรวม 680 กิโลเมตร และแม่น้ำ ฉวู่เจียง แม่น้ำที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในช่วงระยะเมืองกว่างหยวน ความยาวเส้นทางรวม 360 กิโลเมตร สำหรับท่าเรือ 6 ท่าเรือ หมายถึง ท่าเรือหลู่โจว ท่าเรืออี๋ปิน ท่าเรือเล่อซาน ท่าเรือกว่างอัน ท่าเรือหนานชงและท่าเรือกว่างหยวน ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแม่น้ำและท่าเรือเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานแล้ว คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือของมณฑลเสฉวนได้สูงถึง 2.33 ล้านตู้คอนเทนเนอร์/ปี

เมื่อทราบถึงการพัฒนาในอนาคตอันใกล้แล้ว เราลองมองย้อนกลับไปถึงการพัฒนาด้านการขนส่งทางน้ำช่วงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรอบ 5 ปี ฉบับที่ 11 (ปี 2549 - 2553) มณฑลเสฉวนมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำจำนวน 200 ล้านตัน ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 45.5 และในปี 2554 มณฑลเสฉวนมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำจำนวน 63.67 ล้านตัน เติบโตขึ้นร้อยละ 21.59

เส้นทางการเดินเรือที่สำคัญ เช่น หลู่โจว - เซี่ยงไฮ้/หลู่โจว - หวู่ฮั่น/อี๋ปิน - เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น และเป้าหมายต่อไปของการพัฒนาการขนส่งทางน้ำคือ การสร้างระบบการขนส่งทางน้ำที่สะดวก ปลอดภัย มีศักยภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และคาดว่าในปี 2015 และปี 2020 มณฑล เสฉวนจะสามารถรองรับการขนส่งทางน้ำปริมาณสูงถึง 100 ล้านตัน และ 130 ล้านตันตามลำดับ

3. การขนส่งทางบก

3.1 ทางหลวงและทางด่วน

จากความพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง การคมนาคมขนส่งทางบกมณฑลเสฉวนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคการขนส่งทางบกระหว่างปี 2008 - 2011 ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 266,800 ล้านหยวน เส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกมณฑลเสฉวนระยะทางรวม 283,000 กิโลเมตร เร่งพัฒนาทางด่วนครอบคลุมทุกพื้นที่ ระยะทางด่วนก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมกว่า 6,500 กิโลเมตร และในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรอบ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี2011 - 2015) มณฑลเสฉวนผลักดันโครงการลงทุนการก่อสร้างถนนมูลค่ากว่า 400,000 ล้านหยวน สร้างถนน 11 เส้นทาง และทางหลวงล้อมรอบอีก 2 เส้นทาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครเฉิงตู เส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบกเส้นทางหลักของมณฑลเสฉวน อาทิเช่น

1. เส้นทางเฉิงตู (Chengdu) - ทิเบต (Tibet)

2. เส้นทางเสฉวน (Sichuan) - ชิงไห่ (Chinghai)

3. เส้นทางเสฉวน (Sichuan) - ส่านซี (Shanxi)

4. เส้นทางเสฉวน (Sichuan) - ฉงชิ่ง (Chongqing)

5. เส้นทางเสฉวน (Sichuan) - ยูนนาน (Yunnan)

6. ทางด่วนสนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว(Chengdu Shuangliu International Airport)

7. ทางด่วนเฉิงตู (Chengdu) - เล่อซาน (Leshan,Sichuan)

8. ทางด่วนเฉิงตู (Chengdu) - หย่าอัน (Ya'an, Sichuan)

ภายในปี 2015 เส้นทางด่วนมณฑลเสฉวนจะมีระยะทางรวม 6,350 กิโลเมตร มีเส้นทางออกจากมณฑลเสฉวนสู่เมือง/มณฑลอื่น ๆ รวม 18 เส้นทาง ทางด่วนครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนทั้งหมด สามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางบกถึง 2.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่จาก "สู่เต้าหนาน" (ถนนหนทางที่ยากลำบากของเมืองสู่) ให้เป็น "สู่เต้าทง" (ถนนหนทางที่สะดวกของเมืองสู่) ให้แก่การคมนาคมขนส่งทางบกมณฑลเสฉวน

3.2 การขนส่งทางราง

ในปี 2011 เส้นทางรถไฟมณฑลเสฉวนมีความยาว 3,525 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟอยู่ระหว่างการก่อสร้างยาว 3,085 กิโลเมตร มีเส้นทางรถไฟออกสู่เมือง/มณฑลอื่น ๆ รวม 7 เส้นทาง และในช่วงระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรอบ 5 ปี ฉบับที่ 12 (ปี 2011 - 2015) มณฑลเสฉวนจะมีเส้นทางรถไฟสายใหม่ 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,500 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2,200 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟเข้า/ออกมณฑลเสฉวนสู่เมือง/มณฑลอื่น ๆ รวม 11 เส้นทาง สร้างเส้นทางการเดินรถไฟที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยระหว่างเมืองเฉิงตูสู่เมือง/มณฑลอื่น ๆ โดยสามารถเดินทางจากเฉิงตูสู่เมืองใกล้เคียงภายในระยะเวลา 1 ชม. 2 ชม. 4 ชม.และอื่น ๆ

1.การเดินทางจากนครเฉิงตู - เมืองรอบ ๆ มณฑลเสฉวนภายในระยะเวลา 30 นาที เช่น เมืองเหมียนหยาง เมืองเล่อซาน เมืองเน่ยเจียง เป็นต้น

2.การเดินทางจากนครเฉิงตู - เมือง/มหานครฉงชิ่งภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เช่น เมืองกว่างหยวน เมืองหยีปิน เมืองย่าอัน และมหานครฉงชิ่ง เป็นต้น

3.การเดินทางระหว่างเมืองเฉิงตู - เมือง/มณฑลต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง เช่น เมืองคานติ้ง เมืองซีชาง เมืองซีอาน (มณฑลซ่านซี) และเมืองกุ้ยหยาง (มณฑลกุ้ยโจว) เป็นต้น

4.การเดินทางระหว่งเมืองเฉิงตู - มณฑลโดยรอบภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง เช่น เมืองหลันโจว(มณฑลกานซู) เมืองเจิ้นโจว (มณฑลเหอหนาน) เมืองหวู่ฮั่น (มณฑลหูเป่ย) เมืองฉางซา (มณฑลหูหนาน) เป็นต้น

5.การเดินทางระหว่งเมืองเฉิงตู - มณฑลโดยรอบภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง เช่น มหานครปักกิ่ง มณฑลกวางโจว เป็นต้น

ในปี 2554 สำนักงานการรถไฟเมืองเฉิงตู (มีเขตพื้นที่ดูแลคือ มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มหานครฉงชิ่งและบางส่วนของมณฑลยูนนานและมณฑลหูเป่ย) มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 152 ล้านตัน ปริมาณขนส่งผู้โดยสาร 139 ล้านราย โดยการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงสำคัญคือ ช่วงริเริ่มในปี 2011 - 2012 เป็นช่วงการริเริ่มพัฒนาโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ช่วงการเสริมสร้างความมั่นคงในปี 2013 - 2017 เป็นช่วงของการเปิดเส้นทางใหม่ การพัฒนาการดูแลจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วงการพัฒนาแบบยั่งยืนในปี 2018 - 2020 เป็นช่วงของการพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมเขตพื้นที่ทั้งหมดและสร้างตราสินค้า เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ