โอกาสทองการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 17:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

โรงงานรถยนต์ของอินเดียเร่งผลิตรถออกขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อตอบรับกับความต้องการรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถขนาดเล็ก ส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปอินเดียเติบโตตามไปด้วยถึงร้อยละ 31 ต่อปี

อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดียเติบโตปีละกว่า 18%ตอบรับกับการเติบโตของ ตลาดยานยนต์ของอินเดียที่เติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 ซึ่งสาเหตุสำคัญ ได้แก่

1) การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของอินเดีย เปิดโอกาสให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ในอุตสาหกรรมต่างๆ นับแต่ปี 1993 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดการไหลเข้าของ FDI ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น IT อิเล็คทรอนิกส์ และ ยานยนต์อย่างรวดเร็ว

2) กำลังซื้อที่สูงขึ้นของแรงงานในอุตสาหกรรม Software/ IT (เงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 -100,000 รูปี) และยานยนต์เอง ซึ่งเป็นคนชั้นกลางของอินเดีย จากผลการศึกษาของบริษัท McKinsey กลุ่มคนชั้นกลางจะเติบโตจาก 300 ล้านคนเป็น 550 ล้านคนในปี 2025

3) Lifestyle ที่เปลี่ยนไปตามรายได้ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรถยนต์เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนอินเดียรุ่นใหม่ต้องการเป็นเจ้าของ

4) โอกาสทางการตลาดรถยนต์ยังมีสูงมากเมื่อเทียบกับกำลังซื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร อีกทั้งอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ยังต่ำอยู่ (8 คัน/ประชากร1000 คน)

5)รัฐบาลมีนโยบายปรัปปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5-6 ปีหน้า โดยเฉพาะรัฐบาลได้เร่งให้มีการสร้างเครือข่ายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชื่อมเมืองสำคัญทั่วประเทศ ปรับปรุง ขยาย สร้างทางแยกต่างระดับและทางยกระดับในเมือง ทำให้คนชั้นกลางเริ่มหันมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้นกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่แออัดและล่าช้า

6) การเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์ทำได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในเมืองที่มีอุตสาหกรรมไอทีและรถยนต์ตั้งอยู่ซึ่งประชาชนมีกำลังซื้อสูง

7) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียประมาณร้อยละ 9 ต่อปีของอินเดีย

8) FDI เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอินเดียที่มีประชากรกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นคนชั้นกลางถึงประมาณ 300 ล้านคน

9) การขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อาทิเช่น ฮุนไดมีการขยายตัวของการส่งออกในปี 2007 ถึง 50%

ตลาดรถยนต์ของอินเดีย แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยรถยนต์มีสัดส่วน 30% ของตลาด ส่วนรถจักรยานยนต์มีสัดส่วน 70% ในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีมารูติ-ซูซูกิ และฮีโรฮอนดาเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1และ2 ตามลำดับ ส่วนตลาดรถจักรยานยนต์มี Hero Honda เป็นผู้นำตลาด อินเดียเป็นตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก เป็นตลาดรถจักรยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากจีน) และเป็นตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ (Commercial vehicle) ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และคาดว่าในปี 2030 อินเดียจะกลายเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ในทศวรรษวรรษ 1990 บริษัทรถยนต์ข้ามชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังประเทศที่มีประชากรมากแต่ต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ประเทศจีน และตามมาด้วยอินเดียในปี 2000 เป็นต้นมา ปัจจุบันอินเดียมีบริษัทยานยนตยานยนต์ข้ามชาติจากทั่วโลกเกือบทุกยี่ห้อเข้าไปลงทุนแล้ว โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีกำลังการผลิตสูงกว่า 1.3 ล้านคันในปี 2007 (7% ของการผลิตยานยนต์ทั่วโลก) ในจำนวนนี้เป็นรถขนาดเล็กถึง 7.5 แสนคัน ซึ่งหากรวมรถยนต์เอนกประสงค์ (MUV)ด้วยจะมีสูงถึง 1.7 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 3 ล้านคันภายในปี 2014 ปัจจุบันอินเดียมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยายนต์ สูงถึง 8 แสนล้านรูปี เป็นแหล่งจ้างงาน ถึง 4.5 แสนคน และ 10 ล้านคนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและสนับสนุน เทียบกับปี 2001 ที่ผลิตได้เพียง 6.6 แสนคัน หรือคิดเป็นการขยายตัวถึง 2.5 เท่าตัวในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรรมยานยนต์อินเดียมีสูงมาก/อินเดียพึ่งตนเองได้ในการผลิตยานยนต์ทุกชนิด ตั้งแต่รถถัง รถบรรทุก รถบัสโดยสาร รถยนต์นั่ง มอเตอร์ไซค์ จักรยานติดเครื่องยนต์ (Moped) ตุ๊กๆ และจักรยาน บริษัทรถยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ Maruti Suzuki, Hyundai, Hindustan Motors, Tata, Reva Electric Car, Mahindra, , Daimler Chrysler, Fiat India, Ford India , GM, Honda, Skoda, Toyotaและ BMW สำหรับตลาดรถกระบะและรถบรรทุก รถของญี่ปุ่นไม่มีจำหน่ายในอินเดีย เนื่องจากแบรนด์ท้องถิ่นครองตลาดไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ โอกาสทางการตลาดสำหรับชิ้นส่วนฯ รถกระบะไทยจึงไม่มีในตลาดนี้

ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของรถยี่ห้อสำคัญ มีมารูติ-ซูซูกิเป็นผู้นำตลาดโดยมีส่วนแบ่งตลาด 47% รองลงมาคือ ฮุนได 27% ตามมาด้วยทาทามอเตอร์ 13% ฮอนดา-ซีล 4% GM 3% ฟอร์ด 2% มาหินดรา-เรโนลต์ 2% และอื่นๆ 3% อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตุว่าฮุนไดได้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดจากปี 2006-07 จาก 25% เป็น 27% ในปี 2007-2008 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการเปิดโรงงานอีกแห่งที่เมืองเชนไน ทำให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตจาก 3 แสนคันในปี 2006 เป็น 6 แสนคันในปี 2007 ทั้งนี้เนื่องจากฮุนไดมีนโยบายที่จะใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ ในการนี้ เมื่อรวมส่วนแบ่งตลาดของมารูติ-ซูซูกิกับฮุนไดเข้าด้วยกันแล้ว มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 74% ของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอินเดีย

สำหรับบริษัทรถจักรยานยนต์ที่สำคัญ ได้แก่ Hero Honda, TVS, Honda Motorcycle & Scooter India , Yamaha, Bajaj เป็นต้น ส่วนรถขนาดใหญ่ เช่น รถบัสโดยสาร รถบรรทุก รถทางการทหาร ตุ๊กๆ และรถเอนกประสงค์อื่นๆ จะผลิตโดย Tata-Telco, Ashok Leyland, Eicher Motors, Baja และ Mahindra เป็นต้น

ฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในอินเดีย

ภาคเหนือ — กระจุกตัวอยู่ที่นิวเดลีและเมืองใกล้เคียงเช่น กูกอน และ ธารูเฮรา โดยมีบริษัทที่สำคัญได้แก่ มารูติ-ซูซูกิ และ ฮีโร่-ฮอนดา

1) มารูติ-ซูซูกิ เป็นผู้นำตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งตลาดในอินเดีย 47% ก่อตั้งเมื่อปี 1981 มีโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองกูกอนและเมือง Manesar ทางตอนใต้ของกรุงนิวเดลี มียอดการจำหน่ายในประเทศกว่า 5 แสนคันต่อปี และส่งออกกว่า 3 หมื่นคันต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นรถขนาดเล็กยอดนิยมของคนอินเดียที่นิยมความประหยัด ในช่วงก่อนปี 2004 รถมารูติ-ซูซูกิ รุ่น มารูติ800 เป็นรถขนาดเล็กที่มียอดการจำหน่ายสูงที่สุดในอินเดีย สำหรับปัจจุบันรถมารูติ-ซูซูกิรุ่น Maruti Alto ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำตลาดแทนที่รถมารูติ800 ตลาดส่งออกสำคัญของมารูติ-ซูซูกิ ได้แก่ Hungary ,Angola, Benin, Djibouti, Ethiopia, Europe, Kenya, Morocco, Sri Lanka, Uganda, Chile, Guatemala, Costa Rica และ El Salvador

ในปี 2007-08 มารูติ-ซูซูกิได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ในกรุงนิวเดลี กระตุ้นให้ยอดขายพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 764,842 คัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก 53,024 คัน ปัจจุบันมีรถมารูติ-ซูซูกิที่จดทะเบียนและวิ่งอยู่บนท้องถนนของอินเดียกว่า 6 ล้านคัน ล่าสุดมารูติ-ซูซูกิมีรถ 10 รุ่นวางจำหน่ายในตลาด ตั้งแต่รถเล็กยอดนิยมรุ่น Maruti800 (ราคาต่ำกว่า 5 พันเหรียญสหรัฐ)Maruti Suzuki Swift,Maruti Omni, จนถึงรถระดับหรูอย่าง SX4, SUV และ Grand Vitara

บริการหลังการขายเป็นกลยุทธหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้มารูติ-ซูซูกิเหนือกว่าคู่แข่งขันอย่างเทียบกันไม่ได้และสร้างรายได้แก่บริษัทเป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีหน่วยบริการซ่อมด่วน (Express Service Station) 2,628 แห่งกระจายอยู่ตามทางหลวงทั่วประเทศ ซึ่งสามารถให้บริการซ่อมบำรุงแบบทันใจและสามารถชนะใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี การบริหารหน่วยบริการนี้เป็นแบบแฟรนส์ไชส์โดยบริษัทแม่จะควบคุมมาตรฐานการบริการและการฝึกอบรมพนักงานอย่างใกล้ชิด

2) ฮีโร่-ฮอนดา ก่อตั้งเมื่อปี 1984 โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท Hero group ของอินเดีย และฮอนดา ฮีโร-ฮอนดาเป็นโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดการจำหน่ายกว่า 3 ล้านคันต่อปี มีโรงงาน 2 แห่งที่เมือง Dharuhera และGurgaon ใกล้กรุงนิวเดลี ปัจจุบันมีผู้ใช้รถยี่ห้อฮีโร่-ฮอนดาในอินเดียกว่า 19 ล้านคัน รุ่นที่เป็นที่นิยมสูงสุดคือรุ่น Splendor

เมื่อเดือนเมษายน 2551บริษัทฮีโร่ฮอนดาได้เปิดโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์แห่งใหม่ในเมือง Haridwar รัฐอุตตราจัล (ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงนิวเดลีไปทางเหนือ) ส่งผลให้รัฐอุตตราจัลได้กลายเป็นฮับการผลิตยานยนต์แห่งใหม่ล่าสุดของอินเดีย

ภาคตะวันตก — กระจุกตัวอยู่ที่มุมไบและเมืองใกล้เคียงในรัฐราชาสถาน โดยมีบริษัทที่สำคัญได้แก่ GM ทาทา โฟลค์สวาเกน มาหินดรา-เรโนล์ด ฮอนดา และเฟียต เป็นต้น

ภาคใต้ — การผลิตกระจุกตัวอยู่ที่เมืองเจนไน โดยมีบริษัทที่สำคัญ ได้แก่ ฮุนได บีเอ็มดับบลิว วอลโว่ นิสสัน ฟอร์ด และโตโยตา เป็นต้น

1) Hyundai Motors India Limited ก่อตั้งเมื่อปี 1996 ที่เมืองเชนไน เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินเดีย มีกำลังการผลิต 6 แสนคันต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดในอินเดีย เป็นอันดับ 2 (27%)รองจากมารูติ-ซูซูกิ ด้วยยอดขาย 3 แสนคันในปี 2007 (ขยายตัว 7.6%) เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอินเดียโดยมียอดการส่งออกกว่า 3 แสนคันในปี 2007 (ขยายตัวถึง 50%) ฮุนได้มีนโยบายที่ชัดเจนใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดนอกประเทศเกาหลี โดยล่าสุดฮุนไดมอร์เตอร์อินเดียได้ประกาศที่จะส่งออกรถขนาดเล็กรุ่น'i10' ที่มีผลิตในอินเดียเท่านั้นไปยัง 75 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้น ในปี 2008 ฮุนไดได้เพิ่มโชว์รูมจาก 183 เป็น300 แห่ง และเพิ่มศูนย์บริการเป็น 1,000 แห่ง เพื่อกวดให้ทันมารูติ-ซูซูกิในด้านการบริการหลังการขาย

ฮุนไดนำเสนอรถหลากหลายรูปแบบตามความต้องการข้องผู้บริโภคอินเดีย ดังต่อไปนี้
          รุ่น          ลูกค้าเป้าหมาย
          Santro          B

Getz Prime B+

          ‘i10’           B+
          Accent          C
          Verna           C
          Elantra         D

Sonata Embera E

          Tucson         SUV

2) BMW มีโรงงานผลิตอยู่ที่เชนไน โดยในปี 2007 มียอดจำหน่าย 1,387 คันสูงกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้ถึง 38% บริษัทจึงมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 คันในอนาคตอันใกล้ สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของรถราคาแพงในอินเดียมีสูงมาก ตลาดหลักของ BMW ไม่ได้อยู่ที่เชนไน แต่เป็นเมืองที่เศรษฐกิจร้อนแรงอย่าง มุมไบ กรุงนิวเดลี บังกะลอร์ และไฮเดอราบัด รวมทั้งเมืองที่มีศักยภาพ เช่น Kolkata, Kochi และ Ahmedabad คู่แข่งของ BMW ในตลาดอินเดีย คือ Mercedes และ Audi แต่ก็ไม่น่าหนักใจนักสำหรับ BMW เนื่องจาก BMW มีฐานการผลิตในอินเดียในขณะที่คู่แข่งไม่มี

ภาคตะวันออก- การผลิตกระจุกตัวอยู่ที่เมืองโกลกัตตา โดยมีบริษัทที่สำคัญ ได้แก่ ทาทา และ Hindustan Motor เป็นต้น

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดีย
บริษัท                    การขยายตัวล่าสุด
Maruti Suzuki           -มีฐานการผลิตที่เมืองกูกอนและมานิซา และได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ที่นิวเดลีอีกแห่งหนึ่งซึ่ง

มีกำลังการผลิต 2.5 แสนคันต่อปี ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 8 แสนคันต่อปี

-ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น 10 บริษัทผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของ Maruti Suziki

Hyundai                 -ได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 6 แสนคันในปี 2008 เพื่อไล่ตามคู่แข่ง “มารูติ-ซูซูกิ” ให้ทัน
Tata Motor              -ได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 240 ล้านเหรียญสหรัฐที่รัฐเบงกอลตะวันตก

เพื่อผลิตรถราคาต่ำกว่า 1 แสนรูปี

Honda                   -ได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ด้วยเงินลงทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในรัฐราชาสถานโดยมีกำลังการ

ผลิต 6 หมื่นคันต่อปี (คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2009)

GM                      -เริ่มผลิตรถยนต์ขนาดเล็กรุ่น GM Spark เข้าสู่ตลาดในปี 2007 เพื่อแชร์ส่วนแบ่งตลาดรถเล็ก

จากมารูติ-ซูซูกิ และฮุนได

Ford                    -ขยายกำลังการผลิตที่โรงงานในเชนไนด้วยเงินทุนกว่า 500 ล้าน

เหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับยอดขายที่ทะลุเป้า

Toyota                  -เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 แสนคันในปี 2008 และเริ่มเข้าสู่ตลาดรถขนาดเล็ก (เช่นกัน)
Nissan                  -Ashok Leyland และ Nissan Motor ได้มีความตกลงร่วมกันในการตั้งบริษัทร่วมทุน 3 แห่ง

เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (เช่นกัน)

เมืองที่เป็นตลาดสำคัญของอินเดีย

ตลาดรถยนต์ที่สำคัญของอินเดียจะเป็นเมืองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเป็นอันดับต้นๆ ดังต่อไปนี้

เชนไน : ดีทรอยท์แห่งอินเดีย

ร้อยละๅ30ของยานยนต์ทุกประเภทของอินเดียผลิตที่เชนไน ผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดคือฮุนได มีกำลังการผลิต 6 แสนคันในปี 2008 มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 (27%) รองจาก Marutu Suzuki ซึ่งเช่นเดียวกับมารูติ- ซูซูก ฮุนไดเน้นที่รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอินเดียที่เน้นความประหยัด ประกอบกับถนนในอินเดียส่วนใหญ่คับแคบ และการขยายถนนทำได้ยาก นอกจากนั้นยังมีบริษัทฟอร์ด วอลโว มิตซูบิชิ ฮอนดา และ BMW ที่มีฐานการผลิตที่เชนไน นอกจากนั้น โรงงานรถยนต์ประเภทอื่นๆในเชนไนจะเป็นผู้ผลิตรถบรรทุก เช่น Ashok Leyland และรถแทรกเตอร์ เช่น Tafe, Caterpillar Komatsu,Creaves เป็นต้น

เหตุผลที่ตลาดเชนไนเติบโตอย่างรวดเร็วประการหนึ่งก็คือเชนไนเป็นฐานการผลิตซอฟแวร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอินเดียรองจากบังกาลอร์ ส่งผลให้คนมีกำลังซื้อสูงขึ้น ประกอบกับประกอบกับค่ารถเมล์ รถไฟฟ้าและแท็กซี่ในเชนไนค่อนข้างแพง คนจึงหันไปซื้อรถขนาดเล็กกันมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าเดินทาง แต่สาเหตุที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงคือการมีรถยนต์ใช้ถือเป็นการแสดงสถานภาพทางสังคม โดยเฉพาะงานแต่งงานจะต้องใช้รถหรู เช่น รถเบนซ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดเชนไนไม่ใช่ตลาดของรถหรู ตัวอย่างเช่นๅรถเบ็นซ์ที่เห็นมีมากในเมืองไทยกลับมีให้ เห็นน้อยมากในตลาดนี้

ข้อดีของเชนไนประการหนึ่งก็คือเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสหกรรมยานยนต์ที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด และเป็นฐานการผลิตของฮุนได ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ฮุนไดของไทยสามารถตอบสนองฐานการผลิตของฮุนไดที่นี้ได้เป็นอย่างดี จึงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะมีความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต

มุนไบ- ตลาดรถยนต์เก่าแก่และร้อนแรงของอินเดีย

สถานที่แรกมีรถวิ่งในอินเดียคือที่มุมไบ (บอมเบย์) มุมไบเป็นเมืองท่าค้าขายกับประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปที่มั่งคั่งมาแต่โบราณ แม้ว่ารถยนต์ยังถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับคนอินเดียโดยทั่วไป แต่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ ก็เริ่มสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์กันได้มากขึ้น มุมไบถือเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดของอินเดีย และมีเศรษฐีใหม่อยู่มากที่สุดของประเทศๅบริษัทรถยนต์ชั้นนำทุกยี่ห้อ ในอินเดียส่วนใหญ่จะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มุมไบ ตลาดมุมไบเป็นตลาดสำหรับรถระดับบนอย่างแท้จริง เราจะพบเห็นรถหรูที่สุดของโลกได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น Gallardo (ราคา 20 ล้านรูปี ) หรือรถรุ่น Murcielago (ราคา 30 ล้านรูปี)ของลัมโบกินี ราคาไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับตลาดนี้ เพราะมุมไบเป็นเมืองที่มีสำนักงานใหญ่ของบริษัททั้งของอินเดียเอง และบริษัทข้ามชาติตั้งอยู่ รวมไปถึงยังเป็นที่รวมของดาราดัง “โบลิวู๊ด” ที่รวยระดับพันล้านอาศัยอยู่ รถยนต์แบรนด์ดังของโลกอย่าง BMW, Rolls-Royce, Aston Martin, Porsche, Lamborghini, Maserati, Ferrari, Mercedes-Benz, Jaguar และ Maybach สามารถทำยอดขายได้ทะลุเป้าทุกปี นอกจากนั้น มุมไบยังเป็นตลาดสำคัญของรถจักรยานยนต์ด้วยเช่นกัน

นิวเดลี - ตลาดรถยนต์อันดับสองรองจากมุมไบ

นับจากที่อินเดียใช้นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 1991 ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ากรุงนิวเดลีไม่ด้อยไปกว่ามุมไบ ทำให้เศรษฐกิจของกรุงนิวเดลีมั่งคั่งเป็นอันดับสองรองจากมุมไบ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล มารูติ-ซูซูกิ ซึ่งมียอดขายอันดับหนึ่งในตลาดอินเดีย ก็มีฐานการผลิตอยู่ที่นี่ และเช่นเดียวกับมุนไบ นิวเดลีเป็นตลาดของรถระดับบน เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญต่อไปนี้

นิวเดลีมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและรายได้เฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่มีความมั่นคง อีกทั้งมีนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลและหน่วยราชการของรัฐบาลกลางตั้งอยู่ ซึ่งสามารถซื้อรถราคาแพงได้

สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงที่ทำงานในสาขาซอฟแวร์และบริษัทข้ามชาติ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีการขึ้นราคาอย่างมากในแต่ละปี ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากมีรายได้จากการขายที่ดินหรือการให้เช่าที่ดิน ในบางพื้นที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจตั้งแต่ 50% - 200%ในแต่ละปี

บริษัทรถยนต์ที่สำคัญในตลาดนิวเดลี ประกอบด้วย
  • AB Carz Pvt. Ltd.
  • Jainsons Automobile Pvt Ltd.
  • Lakozy Motors Limited
  • Harpreet Ford
  • Prime Honda
  • Orion Hyundai
  • Aalianz Automobiles
  • T&T Motors Ltd.
  • Silverstone Motors Pvt. Ltd.
  • Autolink Enterprises Pvt. Ltd.
  • Galaxy Toyota
อินเดียกำลังกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของโลก

จากรายงานของสำนักงานสถิติการพาณิชย์แห่งชาติ (Directorate General of Commercial Intelligence & Statistics-DGCIS) พบว่า ขณะที่อุตสหกรรมยานยนต์อินเดียเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฎว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์กลับลดลง ขณะที่การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์กลับเพิ่มสูงขึ้น และทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไปแล้ว โดยในปี 2006-07 มีการนำเข้า 146,448 ล้านรูปี (เพิ่มขึ้น 34%) ขณะที่มีการส่งออกเพียง 126,345 ล้านรูปี (เพิ่มขึ้น 16% ) และคาดว่าในปี 2007-08 จะมีการนำเข้าสูงถึง 190,000 ล้านรูปี

การนำเข้าส่วนใหญ่ เป็น wheel rims, ball bearings, gears และ gearing components นอกจากนั้นก็เป็นชิ้นส่วนฯ ที่ไม่มีการผลิตในประเทศ เช่น airbag และ ชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง หากพิจารณาการค้ารายประเทศแล้ว ประเทศคู่ค้าหลักๆ เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี (ยกเว้นสหรัฐและแคนาดา) ล้วนได้ดุลการค้าในสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งสิ้น โดยมีการนำเข้าจากเกาหลีใต้สูงเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ญี่ปุ่น จีน และไทย

แม้ว่าจีนจะไม่ได้เป็นผู้นำในตลาดนี้ แต่จากอัตราการขยายตัว 70% ต่อปี จะทำให้จีนสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดได้ไม่ยาก สำหรับอินเดียแล้วความสามารถในการแข่งขันเริ่มลดลงเนื่องมาจากต้นทุนด้านพลังงาน วัตถุดิบ และโครงสร้างพื้นฐานสูงกว่าจีนประมาณ 10-15%

สำหรับการนำเข้าจากประเทศไทย ในปี 2007 มีมูลค่า 8,754 ล้านรูปี (ประมาณ 218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขยายตัว 32% โดยมีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญจากไทย ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ 147 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวเฉลี่ย 60%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ 152 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวเฉลี่ย 60%) ชุดสายไฟรถยนต์ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 3 แสนเหรียญสหรัฐ นอกจากนั้น ยังมีสินค้าที่มีศักยภาพซึ่งเป็นสินค้าภายใต้ EHS FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ ball bearings, gears และ gearing components เป็นต้น

บทวิเคราะห์

1. ตลาดเป้าหมายของชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในอินเดีย คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้อมารูติ-ซูซูกิ ฮุนได ฮอนดา โตโยตา และตาต้า (ใช้เครื่องยนต์นิสสัน) ซึ่งเน้นรถขนาดเล็กเป็นหลัก โดยเฉพาะซูซูกิ และฮุนได เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง74%

2. เป้าหมายการตลาดของชิ้นส่วนจักรยานยนต์ของไทยในตลาดอินเดีย คือ รถจักรยานยนต์ฮีโร-ฮอนดาซึ่งเป็นโรงงานฯ ผลิตจัรกยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

3. การส่งออกไปชิ้นส่วนฯ ไปตลาดอินเดียควรเน้นทั้ง

3.1 ป้อนสายการผลิต เช่น ป้อนโรงงานฮุนไดที่เชนไน โรงงานมารูติ-ซูซูกิที่กูกอน และมาเนซาใกล้กรุงนิวเดลี และโรงงานฮีโร่-ฮอนดาที่ Dharuhera และGurgaon

3.2 ป้อนศูนย์บริการทั่วประเทศ เช่น หน่วยบริการซ่อมด่วน (Express Service Station) 2,628 แห่งของมารูติ-ซูซูกิที่กระจายอยู่ตามทางหลวงทั่วประเทศ

4. คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดนี้คือจีน แต่ไทยมีข้อได้เปรียบ คือ อาเซียน-อินเดียมี ความตกลง FTA ระหว่างกัน จะทำให้ไทยเข้าสู่ตลาดอินเดียได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกควรทำตลาดเชิงรุก โดยการเป็น Strategic alliance กับผู้ผลิตยานยนต์อินเดียเพื่อป้อนชิ้นส่วนฯ เข้าสู่สายการผลิตและศูนย์บริการแบบทันเวลา (Just-In-Time) เพื่อลดต้นทุนการผลิต/การดำเนินการให้กับผู้ผลิตยานยนต์ในอินเดีย พร้อมกับช่วงชิงความได้เปรียบทางการแข่งขันจากจีน

โดย ดร.ไพศาล มะระพฤกษ์วรรณ

ผู้อำนวยการ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ