ผลผลิตข้าวในฤดูร้อน - ใบไม้ร่วง ( summer — fall crop ) ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 ของปี 2551 ในเขต Mekong River Delta และจังหวัดต่าง ๆ ในแถบตะวันออกของภาคใต้เก็บเกี่ยวได้ 8.4 ล้านตันข้าวเปลือกและยังตกค้างขายไม่ได้อีกหลายแสนตัน ในขณะที่ข้าวในฤดูใบไม้ร่วง — ฤดูหนาว( fall — winter crop ) ซึ่งเป็นข้าวรุ่นสุดท้ายของปีนี้ ก็เริ่มมีการเก็บเกี่ยวในพื้นที่ 1.52 แสนเฮกตาร์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตข้าวได้เฮกตาร์ละ 4.2 — 4.5 ตัน ( ผลผลิตประมาณ 6.38 — 6.84 ล้านตัน ) ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามคาดว่าปริมาณข้าวเปลือกของ Mekong River Delta ในปี 2551 นี้มีประมาณ 20.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1.6 ล้านตัน
กระทรวงเกษตรฯ เวียดนามคาดว่าผลผลิตข้าวตลอดทั้งปีจะเป็น 37.0 ล้านตันมากกว่าผลผลิตปีที่แล้ว 3 % และมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2551 ( 36.0 ล้านตัน ) ถึง 13 % รัฐบาลจึงปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2551 เป็น 4.5 -4.6 ล้านตัน
แม้ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการผลิตทั้งสองจะอยู่ในมือชาวนาประมาณ 50% และจำนวนข้าวสารที่ค้างอยู่ในโรงสีข้าวประมาณ 4 แสนตัน แต่ชาวนาบางพื้นที่ก็เริ่มหว่านข้าวรุ่นใหม่คือ ฤดูหนาว — ใบไม้ผลิ ( winter — spring crop ) สำหรับปีการผลิต 2551/52 แล้วทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะ มีผู้ใดมารับซื้อข้าวจากชาวนาที่ยังคงตกค้างอยู่ทั้ง 2 ฤดูการผลิต แม้จะในราคาต้นทุนก็ตาม
ฤดูการผลิตนี้เป็นฤดูที่ข้าวให้ผลผลิตสูงสุดจึงมีความสำคัญต่อการวางแผนการผลิตข้าวทั้งปี กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทจึงได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 มีสาระสำคัญคือ
- กำหนดช่วงเวลาการหว่านข้าวในฤดูการผลิตนี้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกระหว่างวันที่ 20 — 30 พฤศจิกายน 2551 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 20—30 ธันวาคม 2551 ทั้งนี้สามารถยืดระยะเวลาการหว่านออกไปเป็นภายในเดือนมกราคม 2552 ได้
- กำหนดพันธุ์ข้าวที่จะปลูก ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ IR 50404 3/ และ OM 576 ให้เหลือไม่เกิน 15 % ของพื้นที่รวม และให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น
ในจำนวนข้าวเปลือกที่ตกค้างอยู่นั้นมีประมาณ 30 % เป็นข้าวพันธุ์ IR 50404 เพราะเมื่อช่วงต้นปีข้าวในตลาดโลกขาดแคลน ข้าวไม่ว่าพันธุ์ใดก็สามารถส่งออกได้ในราคาดี ชาวนาจึงปลูกข้าวพันธุ์นี้มากเพราะสามารถต้านทานโรคพืชได้ดี แต่ปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลกต้องการนำเข้าข้าวที่มีคุณภาพสูง ( 5 % ) หรือปานกลาง ( ข้าว 10 % และ ข้าว 15 %) ข้าวพันธุ์ดังกล่าวจึงตกค้างมากและทำให้ชาวนาต้องขาดทุนอย่างมาก
ราคาข้าวในประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม — สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาเพราะราคาข้าวในตลาดโลกลดลงประกอบกับข้าวในฤดูการผลิต summer — fall crop ให้ผลผลิตมาก แต่บริษัทผู้ส่งออกไม่สามารถหาลูกค้าเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวฉบับใหม่ได้ อีกทั้งยังขาดแคลนโกดังเก็บข้าว ขาดแคลนเงินทุนเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่อัตราสูง และเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อเกิดฤดูฝนที่ยาวนาน ทำให้การเก็บเกี่ยวในช่วงอากาศดังกล่าวมีความชื้นสูงการตากและอบข้าวเปลือกยังไม่มีคุณภาพทำให้ข้าวเปลือกเป็นสีเหลืองและสัดส่วนข้าวหักสูงหลังจากสีข้าวผู้ค้าข้าวจึงหยุดการซื้อข้าวเปลือกและข้าวจากชาวนาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2551 เพื่อระบายข้าวที่อยู่ในสต๊อคในราคาตลาดโลกปัจจุบันสำหรับรอรับข้าวในฤดูการผลิตใหม่ที่จะมาถึง คือ winter — spring crop ซึ่งเป็น ข้าวที่มีคุณภาพดีกว่า
ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้จึงมีราคาลดลงอย่างมากโดยในเดือนกันยายน 2551 ชาวนา ในแถบ Mekong River Delta ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3,500 — 3,700 ด่อง 21 — 22 เซนต์)ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดของปี ทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตสูงถึงกิโลกรัมละ 3,900 ด่อง ( 24 เซนต์ ) ทำให้ชาวนาขาดทุนแต่ถึงแม้ชาวนาจะยอมรับในราคาที่ขายขาดทุนแต่ก็ยังไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อส่วนข้าว 10% ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 5,100 — 5,800 ด่อง
เมื่อข้าวเปลือกฤดู summer — fall crop ยังขายไม่หมดข้าวเปลือกฤดู fall — winter crop ซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวจึงต้องขายในราคาถูกมากเพียง 2,500 — 3,000 ด่อง /กิโลกรัม ขณะที่ค่าจ้างเก็บเกี่ยววันละ 224,000 ด่อง ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างในปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า
ข้อมูลจากสมาคมข้าวเวียดนาม (VFA) แจ้งว่าข้าวเปลือกในฤดู summer — fall crop เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ราคาลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเป็น 3,500 — 4,000 ด่อง/กิโลกรัม ขึ้นกับคุณภาพของข้าวส่วนราคาข้าว 5% มีราคาลดลงเหลือเพียง 5,700 — 6,200 ด่อง/กิโลกรัม เท่ากับราคาข้าว 10% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนราคาข้าว 10 % ก็มีราคาลดลงเหลือ 5,400 — 5,700 ด่อง/กิโลกรัมเท่านั้น
จากสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ของเวียดนาม การส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรก( มค. — กย.) ของเวียดนามเป็น 3.69 ล้านตัน มูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 89% แต่ปริมาณลดลง 8.3 % และ MoIT คาดว่ารายได้จากการส่งออกข้าวในปี 2551 นี้ จะมีมูลค่าถึง 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 91%
ประเทศผู้รับซื้อข้าวจากเวียดนามรายใหญ่เรียงตามลำดับ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รัสเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมูลค่ารับซื้อข้าวของทั้ง 5 ประเทศรวมกันคิดเป็น 60% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม
ปัจจุบันมีประเทศลูกค้ารายใหม่ที่สนใจขอซื้อข้าวจากเวียดนาม เช่น แกมเบีย โซมาเลีย โมแซมบิก มาดากัสการ์ และโอมานเป็นต้นและผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามก็กำลังพยายามหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มเติมซึ่งตลาดที่มีศักยภาพต่อตลาดข้าวของเวียดนาม คือ แอฟริกากลางและตะวันตก
ราคาข้าวส่งออกปี 2551
ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน 2551 มีราคาต่ำกว่าราคาข้าวในตลาดโลกประมาณ 30 -40% แต่ในเดือนพฤษภาคมราคาส่งออกข้าวของเวียดนามได้ขยับสูงขึ้นเป็น 84% ของราคาในตลาดโลกและเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมิถุนายน ซึ่งเวียดนามส่งออกข้าวได้ 210,000 ตัน มูลค่า 211.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาส่งออกโดยเฉลี่ยเป็น 1,004 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกเดือนมิถุนายน ส่วนราคาส่งออกเดือนกรกฎาคม เป็น 971 เหรียญสหรัฐ ( ตารางที่ 1 )
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมาที่ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามเริ่มลดลงเป็น 564 เหรียญสหรัฐ/ตัน ( ข้าว 5 % ) และ 523 เหรียญสหรัฐ ( ข้าว 25 %) และในเดือนตุลาคม 2551 ราคาข้าวส่งออกของเวียดนามก็ยังคงลดลง คือ ข้าว 5% มีราคา 508 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 9 เหรียญสหรัฐ จากต้นเดือนข้าว 10% และ 15% มีราคา 508 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากต้นเดือน 2.4 เหรียญสหรัฐแต่ข้าว 25% เพิ่มขึ้น 4 เหรียญสหรัฐ จากต้นเดือนตุลาคมเป็น 406 เหรียญสหรัฐ/ตัน
- เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ได้มีการประชุมระหว่างสมาคมข้าวเวียดนาม (VFA) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ( MoIT ) และ Service of Industry — Trade ในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว โดยมีการหยิบยกประเด็นเปรียบเทียบกับการค้าข้าวของไทย คือ รัฐบาลไทยเป็นผู้ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาโดยตรงในราคารับประกันและเป็นผู้ขายข้าวให้ผู้ส่งออก ส่วนเวียดนามนั้นสมาคมข้าวเวียดนามเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งออกข้าว ซึ่งการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาจะผ่านพ่อค้าคนกลางหลายคนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงและผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับน้อยมาก
- กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ได้เสนอเป็นทางการถึงกระทรวงการคลังปรับอัตราภาษีส่งออกข้าวเป็น 0% เพื่อเป็นการกระตุ้นการส่งออกข้าวและการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ
- MoIT ได้เสนอต่อรัฐบาลขอให้ผู้ส่งออกข้าวสามารถส่งออกได้โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนกับ VFA ให้ยกเลิก floor price สำหรับการส่งออกข้าวและให้จัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ( preferential credits ) สำหรับชาวนาและผู้ส่งออกข้าว
- คณะกรรมการประชาชนจังหวัดลองอัน( People ’s Committee of Long An Province )ในนามจังหวัดต่างๆ ใน Mekong River Delta ได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลขอให้เพิ่มปริมาณจัดซื้อข้าวเปลือกเพื่อสำรองเก็บไว้สำหรับประเทศในราคาที่เหมาะสม เพื่อลดจำนวนข้าวที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมาก และเสนอรัฐบาลยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงของการขยายสัญญาการกู้เงินของชาวนา
1. แม้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนมิถุนายน 2551 จะสูงถึง 1,005 เหรียญสหรัฐ / ตัน แต่ปริมาณข้าวที่ส่งออกมีจำนวนน้อยทำให้ผลประโยชน์ที่จะตกถึงมือชาวนามีไม่มากนัก เพราะโดยปกติแล้วสมาคมข้าวเวียดนามจะเจรจาและเซ็นสัญญาการส่งออกในช่วงต้นปี ซึ่งในปี 2551 นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม — มีนาคม 2551 เวียดนามได้เซ็นสัญญาขายข้าวแล้วถึง 2.4 ล้านตันคิดเป็นมากกว่า 50% ของเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี ( คือ 4.5 ล้านตัน ) โดยจะส่งมอบในเดือนมิถุนายน 2551
2. เวียดนามมีปัญหาขาดแคลนไซโลซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันไซโลในแถบจังหวัด Mekong River Delta มีเพียง 3 แห่งมี capacity รวมกันเพียง 30,000 ตัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพในการผลิตข้าวปีละ 8 -10 ล้านตันแล้วนับว่าน้อยมาก ดังนั้น ทั้งชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสีข้าว และผู้ค้าข้าวของเวียดนามจึงจำเป็นต้องรีบขายข้าวแม้จะขายได้ในราคาต่ำก็ตาม
สคต. นครโฮจิมินห์
Upload Date : พฤศจิกายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th