สารปนเปื้อนในอาหารนำเข้าจากจีน : ประเด็นที่รอการสะสาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2008 17:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารสูง และภาครัฐที่รับผิดชอบการตรวจสอบสินค้าอาหารก่อนนำเข้า เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร และอื่นๆ ต่างก็ได้ชื่อว่า เข้มงวดกว่าใครๆ สิ่งเหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมั่นใจว่าสินค้าที่ฝ่าด่านตรวจเข้มเข้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างและร้านค้าปลีกต่างๆได้ ก็น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ยิ่งกว่านั้นยังมีการสุ่มตัวอย่างสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านนำไปตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะปรากฎข่าวเป็นครั้งคราว ว่า บริษัทผู้ผลิตบางรายขอถอนสินค้าคืนออกจากชั้นวางจำหน่ายของซูเปอร์มารเก็ต แต่ก็มักเป็นข่าวระยะสั้นๆ แล้วก็เงียบหายไป ในหลายๆ แง่มุมจึงมองได้ว่าชาวญี่ปุ่นนั้นโชคดีที่ภาครัฐให้การคุ้มครอง ได้ทานอาหารปลอดภัย และด้วยเป็นตลาดที่มีอำนาจซื้อสูง จึงมีสินค้าอาหารคุณภาพดีจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกในการบริโภคมากกว่าตลาดอื่นๆ

สารปนเปื้อนในอาหารจากจีนสั่นคลอนความมั่นใจผู้บริโภค

ความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าอาหารที่วางขายในตลาดเริ่มสั่นคลอน เมื่อเดือนมกราคม 2551 มีรายงานข่าวใหญ่ในทุกสื่อ ว่า ผู้บริโภคจำนวน 368 คนป่วย และ10 คนถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพราะอาหารเป็นพิษจากการทานเกี้ยวซ่าแช่แข็งที่นำเข้าจากจีน นำเข้าโดย Sojitz Food Corp. เพื่อส่งให้ J T Food. ทำการตลาด ภายหลังตรวจพบว่าเกี้ยวซ่ามียาฆ่าแมลง Methamidophos ปนเปื้อน ข่าวดังกล่าวสร้างความตกใจอย่างมากแก่สาธารณะ ข่าวแรกยังไม่ทันเจือจาง ก็มีการตรวจพบยาฆ่าแมลงชนิดเดียวกันในซาลาเปา (meat bun) ที่นำเข้าจากจีน และตรวจพบสารปนเปื้อนอื่น ๆ ความตกใจกลายเป็นความความตื่นตระหนก และหวั่นวิตกในกลุ่มผู้บริโภค ในปีนี้มีการพบสารปนเปื้อนในอาหารนำเข้าจากจีนติดต่อกันถึง 9 ครั้ง ดังนี้

วันที่ตรวจพบ    อาหาร /สารปนเปื้อน-ตกค้าง                  บริษัทที่นำเข้า
30 มค.51     Methamidophos ในเกี้ยวซ่าจากจีน             Japan Tobacco Inc.
20 กพ.51     Phorete ในหมูทอดแช่แข็ง                    Nikki Trading
21 กพ.51     Methamidophos ในฐาลาเปา จากจีน           Nikki Trading
21 กพ.51     Dichlorvos and parathion ในเกี้ยวซ่า
 9 พค.50     Furaltadone ในเนื้อไก่แปรรูป                Sansei Trading และ Shinyei Co., Ltd.
 7 ตค.51     Tluene and Ethylacetate ในถั่วแดงบด       Maruwa Foods
20 กย.51     Melamineในขนมที่ผลิตจากนมนำเข้าจากจีน
15 ตค.51     Dichlorvos ในถั่วแช่แข็ง (edamame) จากจีน    Nichirei Foods
15 ตค.51     Melamine ในผลิตภัณฑ์จากไข่                  Mitsui Co.

การแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในอาหารที่นำเข้าจากจีนของรัฐบาลญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ พบยาฆ่าแมลงในเกี้ยวซ่าผลิตจากจีน เมื่อเดือนมกราคม 2551 รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามอย่างมากที่จะตรวจสอบและระบุให้ได้ว่าการปนเปื้อนเกิดขึ้น ณ จุดใด ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามชี้ให้เห็นว่าการปนเปื้อนอาจจะเกิดจากการจงใจบ่อนทำลาย ด้วยการฉีดยาฆ่าแมลงเข้าไปในถุงที่บรรจุเกี้ยวซ่าหลังจากสินค้าแพ็กและส่งออกจากจีนไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างเจ้าหน้าญี่ปุ่นและจีนหลายครั้ง ญี่ปุ่นยืนยันว่าการปนเปื้อนไม่ได้เกิดในญี่ปุ่น ขณะที่จีนปฎิเสธว่าโอกาสที่จะปนเปื้อนในจีนมีน้อยเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อ 6 สิงหาคม มีรายงานข่าวว่าชาวจีนจำนวนมากล้มป่วยเพราะทานเกี้ยวซ่าที่ผลิตจากโรงงานเดียวกัน อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ การสอบสวนที่ญี่ปุ่นและจีนร่วมกันตรวจสอบมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่แต่ละฝ่าย ต่างก็ดำเนินมาตรการของตนเองเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาภายในประเทศ มาตรการที่ภาครัฐญี่ปุ่นดำเนินการ เช่น

  • เทศบาลมหานครโตเกียวออกประกาศ กำหนดให้ผู้จำหน่ายอาหารแปรรู ต้องระบุแหล่งผลิตเครื่องปรุงที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร
  • สำนักงานรัฐสภา ได้จัดฝึกเจ้าหน้าที่สาธรณะภัยในการเตรียมช่วยเหลือผู้ป่วย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากการบริโภคสารพิษ
  • กระทรวงศึกษา ได้ทำการทบทวน มาตรฐานการควบคุมอานามัยสำหรับอาหารกลางวันนักเรียน โดยเข้มงวดระเบียบและมาตรฐานเครื่องปรุง ห้ามใช้เครื่องปรุงที่ไม่มีรายละเอียดของสินค้า รวมทั้งให้ตรวจสอบแหล่งที่มา โรงงานผลิต และเครื่องปรุงที่นำมาใช้ในโรงเรียนโดยละเอียด

ในสายตาของผู้บริโภคในญี่ปุ่น สิ่งที่ค้างคาอยู่และยังไม่ได้คำตอบจากจีน คือ ผู้ซื้อยังไม่ได้รับคำตอบว่าสารตกค้าง และเคมีต่างๆ ที่ตกค้างในอาหารจากจีนจนทำให้ผผู้บริโภคเจ็บป่วยนั้นเกิดได้อย่างไร และรับบาลจีนแก้ไขปัญหาไปถึงไหนแล้ว จึงมีแต่ข่าวการพบสารตกค้างเพิ่มเติม ที่สำคัญบริษัทผู้นำเข้าสินค้าเหล่านั้น ก็ล้วนเป็นบริษัท Trading firm ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น JT Foods, Nikki Trading, Nichirei Foods, และMitsui Co. เป็นต้น ซึ่งจะทำQuality control จากโรงงานก่อนส่งไปยังญี่ปุ่นก่อนทั้งสิ้น ปฎิกริยาของผู้บริโภคในญี่ปุ่นจึงเริ่มตรวจตรา เรียกร้องให้ผู้ขายปลีกติดแหล่งที่มาของสินค้า และปฎิเสธไม่ซื้ออาหารแช่แข็งจากจีน อย่างไรก็ตามผลกระทบได้เกิดขึ้นในวงกว้าง ครัวเรือนญี่ปุ่นลดการบริโภคอาหารแช่แข็ง และหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าจีน ไม่เฉพาะอาหาร แต่กระจายวงกว้างไปถึงภาพลักษณ์โดยรวมของสินค้าด้อยคุณภาพ

จีน ในฐานะประเทศที่มีพลังสูงทางเศรษฐกิจ แม้ไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะตอบโต้ญี่ปุ่นที่ชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าได้เริ่มใช้มาตรการตรวจเข้มและใช้มาตรการเดียวกันกับสินค้าอาหารจากญี่ปุ่น โดยมีรายงานข่าวและเผยแพร่ทางอินเตอร์ เน็ต ว่า หน่วยกักกันในเมือง Tianjin ทางตอนเหนือของจีน ตรวจพบสารปนเปื้อนสูงถึง 5 เท่ากว่าระดับที่กฎหมายในซ้อสถั่วเหลือง และพบสารตะกั่วสูง 2 เท่าในกาแฟจากญี่ปุ่น นอกจากนี้หน่วยตรวจสอบที่เมือง Guangdong พบว่าซ้อสถั่วเหลือของญี่ปุ่นปนเปื้อนสาร Toluene and ethyl acetate.

ผลต่อธุรกิจการนำเข้าสินค้าอาหาร

การพบสารตกค้างและยาฆ่าแมลงปนเปื้อนในอาหารที่เป็นข่าวติดต่อกันถึง 9 ครั้ง มีผู้บริโภคล้มป่วย และเกิดอาหารเป็นพิษจำนวนมาก ได้ทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริภคญี่ปุ่นลงอย่างเห็นได้ชัด มูลค่าการขายอาหารแช่แข็งลดต่ำลง ธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารจีนซบเซา และการนำเข้าลดน้อยลง

ในปี 2550 ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารทุกชนิดมูลค่า 36,892.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.78% จากปี 2549 โดยนำเข้าจากจีนมูลค่า 7,213.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 5.3% จากปีก่อน และ มีส่วนแบ่งตลาด 19.71% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด สำหรับปี 2551(มค.-กย.) การนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น 17.51% แต่นำเข้าจากจีนลดลงถึง 15.61% จากมูลค่า 5,301.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือ 4,473.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก 19.71% เหลือ 14.16% สินค้าที่นำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นผักสด -แช่แข็ง และเนื้อสัตว์แปรรูป

ญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดจากไทย มูลค่า 2,266.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 มีส่วนแบ่งตลาด 6.06 % การนำเข้าได้เพิ่มขึ้น 24.31 % มีมูลค่า 2,024.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็น 6.41% ในระยะ 9 เดือนแรกของปีนี้

สรุป ข้อสังเกตุและความเห็น
  • ประเด็นเรื่องความปลอดภัยมีความสำคัญที่สุดต่อการค้า และหากเป็นสินค้าอาหารก็ถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย สามารถนำมาซึ่งความล้มเหลว หรือล้มละลาย
  • ภาพลักษณ์ของสินค้าอาหารจากจีนได้ตกต่ำลงจนขาดความไว้วางใจจากผู้ซื้อ ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคคงหวาดหวั่นต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ผู้ซื้อและผู้บริโภคในญี่ปุ่นต่างก็รู้ดีว่าจีนมีพลังด้านทรัพยากรภายใน มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและความสามารถที่หลากหลายในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลก
  • สินค้าอาหารจีนที่เข้าไปขายในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุน ร่วมลงทุน หรือพันธมิตรระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Nishirei, Mitsui, JT Foods เป็นต้น กับจีน วิกฤตการขาดความเชื่อมั่นครั้งนี้น่าจะนำไปสู่การปฎิรูปครั้งใหญ่ในขบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพ ณ โรงงานก่อนส่งออก รวมถึงการซื้อเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้าไปใช้ปรับปรุงอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกของจีน เพื่อเปลี่ยน
ภาพลักษณ์ และอีกไม่นานนัก สินค้าจีนจะกลับเข้าสู่ตลาด เมื่อถึงเวลานั้นการแข่งขันจะยิ่งสูงขึ้นมาก
  • ญี่ปุ่นผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องนำเข้า ดังนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค จึงน่าจะเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบการออกไปลงทุนผลิตและแปรรูปอาหารด้วยตนเอง (Made by Japan)ในต่างประเทศมากขึ้น ประสบการณ์จากวิกฤตขาดแคลนอาหารเมื่อปีที่ผ่านมาจะทำให้ญี่ปุ่นกระจายแหล่งผลิตและแหล่งนำเข้า ไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ก็เชื่อว่า จีนจะยังคงเป็นฐานผลิตสินค้าอาหารที่ยังคงมี

ความสำคัญต่อญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

Upload Date : พฤศจิกายน 2551

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ