สหพันธ์ฯ มีเนื้อที่ใช้ในการเพาะปลูกหอมหัวใหญ่ในแค้วนต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 8,500 เฮคตาร์ หรือราว 55,250 ไร่ มีผลผลิตโดยเฉลี่ยปีละ 305,000 ตัน สำหรับปี 2551 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 395,000 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 4
สำหรับกระเทียม ในสหพันธ์ไม่มีการเพาะปลูกในเชิงการค้า ส่วนใหญ่จะปลูกตามบ้านเพื่อการใช้ในครัวเรือนและการตกแต่ง สินค้าที่มีในตลาดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศสและจีน โดยเฉลี่ยมีการนำเข้าปีละ 17,000 ตัน มูลค่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 มีการนำเข้า 7,600 ตัน มูลค่า 22.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 10.4 และ 0.15 ตามลำดับ
แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ นอกเหนือจากประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ได้แก่ สเปน เนเธอแลนด์ จะเป็นประเทศ อียิปต์ ทาสมาเนีย นิวซีแลนด์ ชิลีและอัฟริกาใต้ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548 — 2550) สหพันธฯ นำเข้าโดยเฉลี่ยปีละ 256,397 ตัน มูลค่า 141 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงเวลาที่มีการนำเข้ามากจะเป็นช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน ก่อนที่ผลผลิตในประเทศจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ในปี 2551 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการนำเข้ารวม 137,628 ตัน มูลค่า 92.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ส่วนมูลค่าลดลงร้อยละ 10.6
สำหรับการส่งออก นั้น ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย เช็คและอิตาลี เป็นปริมาณโดยเฉลี่ยปีละ 63,000 ตัน มูลค่า 29.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 6 เดือนแรกปี 2551 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการส่งออกเป็นปริมาณ 45,308 ตัน มูลค่า 23.1 ล้านเหรีญสหรัฐ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.4 และ 57.7 ตามลำดับ
สินค้าจากไทยมีการนำเข้าปีละปีละ 52 ตันมูลค่า 0.275 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นหอมแดงหัวเล็ก วางจำหน่ายตามร้านขายของชำอาหารเอเชีย
หอมหัวใหญ่ที่นำเข้าจะใช้ในการปรุงอาหารในครัวเรือนและเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานผลิตอาหาร ขนาดของหอมหัวใหญ่ที่นิยมใช้กันมากแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่สำคัญ คือ
3.1 ใช้ในครัวเรือน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 30/50 มม. และขนาด 40/60 โดยหัวหอมขนาดเล็กนิยมใช้กันมากทางตอนเหนือ ส่วนขนาดใหญ่จะใช้กันมากทางใต้ของประเทศ
3.2 ขนาดที่นิยมใช้โรง/ร้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหารจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 60/100 และ 80/120 มม.
หอมหัวใหญ่ที่เยอรมันนิยมมากต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- หัวกลม ปลายแหลม ไม่แบน
- ต้องแห้งสนิท เมื่อยกตาข่ายบรรจุขึ้นจะต้องมีเสียงดังกรอบแกรบ
- เนิ้อแน่น
- ไม่มีราหรือรอยด่างดำ
- เรียบและมีเงามันโดยเฉพาะหอมฯสีเหลือง
- ขนาดบรรจุในตาข่ายตาห่างหนัก 1 และ 5 กิโลกรัมหรือกระสอบหนัก 25 กิโลกรัม
ราคาจำหน่ายหน้าฟาร์มโดยเฉลี่ยประมาณ 15 — 17.50 ยูโร/100 กก. หรือประมาณ 6 — 8 บาท/กก.
หอมหัวใหญ่จัดอยู่ในพิกัด H.S. 0703 10… สินค้าที่จะนำเข้า มีอัตราภาษีร้อยละ 9.6 หรือ 62.61 ยูโร / 100 กก. อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7
ตลาดหอมหัวใหญ่ในสหพันธ์ มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงมาก ผลผลิตในประเทศมีมากพอสมควร แต่ยังคงมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าในด้านการนำเข้าจะพยายามส่งหอมฯ เข้าตลาดเยอรมันในช่วงที่ประเทศอื่นๆ มีปริมาณเพื่อการส่งออกน้อย โดยทั่วไปแล้วช่วงที่ยุโรปมีผลผลิตหอมฯ น้อยจะเป็นช่วงฤดูหนาวไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ขนาดของหอมฯ ที่ผลิตกันมากขึ้นจะเป็นหอมฯ ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 60 มม.ขึ้นไป เพราะเหมาะกับการใช้ของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีแนวโน้มมีความต้องการสำหรับการผลิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี โอกาสของไทยในตลาดหอมฯ ประเภทนี้คงทำได้ยากเพราะยังขาดประสบการณ์และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ในการผลิตแต่ละขั้นตอน
สำหรับหอมที่มีขนาดเล็กคาดว่าคงพอมีลู่ทางที่แจ่มใสกว่าเนื่องจากปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกของประเทศคู่ค้ายังไม่มากนัก ช่วงเวลาที่เหมาะในการวางตลาดของหอมฯ ไทยควรจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่คงจะต้องประสพปัญหาในด้านราคาเนื่องจากต้องเสียค่าขนส่งสูงมากและในช่วงนี้ราคานำเข้าต่ำกว่าในช่วงอื่นๆ มาก อย่างไรก็ตามหากคุณภาพของหอมฯไทยมั่นคงและตรงกับความต้องการของผู้ใช้แล้วคาดว่าผู้นำเข้าเยอรมันคงจะให้ความสนใจบ้าง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน
Upload Date : พฤศจิกายน 2551
ที่มา: http://www.depthai.go.th