จะเข้าตลาดลิเบียต้องเข้างาน Tripoli International Fair 2009 (2-12 เมษายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2009 15:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภายหลังจากที่ลิเบียเปิดประเทศ และสามารถขายน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ในปี 2007 ลิเบีย มีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าสินค้าเพียง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงมีรายได้เกินดุล 28,000 ล้านเหรียญฯ เงินส่วนใหญ่ จึงถูกใช้ในการพัฒนาประเทศสร้างอาคารบ้านเรือน โรงแรม สนามบิน ถนนหนทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนลิเบีย

เราจะขายอะไรให้ลิเบีย

ลิเบียมีประชากร 6-7 ล้านคน และยังมีคนงานอียิปต์ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย อีกรวมแล้วเป็นจำนวนนับล้านคนน่าแปลกใจที่จากสถิติการส่งออกล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2551 ลิเบียนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องเป็นมูลค่าถึง 124 ล้านเหรียญฯมากกว่าอียิปต์ที่มีประชากร 75 ล้านคน แต่นำเข้ามูลค่าเพียง 101 ล้านเหรียญฯ ดังนั้น สินค้าในลำดับแรกที่มีโอกาสสูง น่าจะเป็นสินค้าจำพวกเครื่องกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ซึ่งลูกค้ากลุ่มใหญ่ น่าจะเป็นกลุ่มคนงาน นับล้านคน รวมทั้งร้านอาหารจานด่วน fast food ที่นิยมใช้อาหารกระป๋องไทย และที่ไม่ควรลืมคือข้าวเหนียวไทย ที่คนงานไทย และคนงานฟิลิปปินส์ ต่างชื่นชอบ พยายามเสาะหามาหุงกินกันในแคมป์ ในปีที่ผ่านมา ลิเบีย นำเข้าข้าวจากไทยสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าถึง 74 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 120,000 ตัน) ในลำดับต่อไป น่าจะเป็นสินค้าจำพวกที่ใช้กับการก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน โรงแรม สนามบิน ทั้งก่อนและหลังก่อสร้าง ได้แก่พวกวัสดุก่อสร้าง กระจก อลูมิเนียม ประตู วงกบ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ของใช้ในครัวเรือน

ข้อต่อ ก็อกน้ำ ในตลาดจะมีจากประเทศจีน เครื่องสุขภัณฑ์จากตุรกี แต่ผู้นำเข้ายังต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย จำพวก ข้อต่อ พีวีซี เครื่องสุขภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องน้ำ

เสื้อผ้าสำเร็จรูป ก็ยังมีช่องทางแม้ว่าจะมีสินค้าจีนเข้ามาครองตลาดระดับล่าง แต่ยังมีช่องทางสำหรับลูกค้าระดับกลางและระดับบน ซึ่งจะมีคู่แข่งจากตุรกี สินค้าที่พบจากการสำรวจตลาด ในลิเบียจะเป็นชุดแฟชั่นเสื้อผ้าสตรี บุรุษ ชุดชั้นใน ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 มาจากประเทศจีน มาจาก ตุรกี ร้อยละ 20 และไทยและประเทศอื่น ๆ ร้อยละ 10 สินค้าไทยที่พบเป็นกางเกงยีนส์ และชุดที่ออกแบบเก๋ ๆ ใช้เนื้อผ้าดี ดูมีระดับ

ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้นำเข้าลิเบีย ยังนิยมชมชอบสินค้าไทย แม้ว่าจะนำเข้าจากจีนมาจำนวนไม่น้อย เนื่องจากถือว่ามีคุณภาพดีกว่าจีน แต่ปัญหาของไทย คือการสั่งซื้อจากผู้ส่งออกไทยต้องซื้อเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้น หากปริมาณซื้อจากบริษัทเดียวมีไม่มากพอ ต้องซื้อจากผู้ส่งออกรายอื่นทำให้การส่งสินค้ามายังลิเบียล่าช้ามาก เพราะต้องรอให้เต็มตู้ก่อน รถยนต์ที่ใช้ในลิเบีย ส่วนใหญ่จะเป็นรถจากค่ายรถญี่ปุ่นและเกาหลี รถที่ใช้กันส่วนมากค่อนข้างใหม่ คนลิเบียนิยมขับรถด้วยความเร็วสูง (140 กม./ชม. ขึ้นไปในเส้นทางซูเปอร์ไฮเวย์)

ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ในปี 2552 นี้ เราจะมีสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงทริโปลี ซึ่งสามารถช่วยออกวีซ่าให้แก่นักธุรกิจลิเบียเดินทางมาติดต่อธุรกิจในประเทศไทยได้โดยตรง (ไม่ต้องเข้ามาทำที่กรุงไคโร) เราสามารถเชิญนักธุรกิจลิเบียมาเยี่ยมชมตลาดสินค้าไทยที่ยังมีอีกมากมาย ซึ่งชาวลิเบียยังไม่รู้จัก เนื่องจากไม่มีโอกาสมาเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะส่วนใหญ่หากไม่สามารถทำวีซ่าเข้าไทยได้ทัน ก็จะบินข้ามไปจีนทันที

อนึ่ง การเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ไม่สูงนัก ยกเว้น สินค้าบางชนิดที่ต้องเสียภาษีพิเศษ (ภาษีบริโภค) ซึ่งไม่แนะนำให้เข้าตลาดในขณะนี้ เนื่องจากเก็บภาษี 100% คือ ดอกไม้ประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง-สด ผ้าเช็ดหน้า อาหารสุนัข-แมว ของเล่น ต้นคริสตมาส หมากฝรั่ง ฯลฯ

ลิเบีย จึงเป็นตลาดที่ไม่หยุดนิ่ง รอการค้นหาอยู่ ต้องไม่ลืมว่า ลิเบีย มีเงินมหาศาลที่สามารถซื้อสินค้าไทยได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมี และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสูง

หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจจะเข้างาน Tripoli International Fair 2009 สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดจากสำนักบริการส่งออก 2 กรมส่งเสริมการส่งออก โทร 02 5131909 ต่อ 254 (คุณอรวรรณ)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ