ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 24, 2009 16:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุน/ประกอบธุรกิจ

1) กฎหมายการลงทุน

รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จึงได้ดำเนินการร่างกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่คือ Law of the Republic of Indonesia Number 25 Year 2007 Regarding Capital Investment โดยประกาศเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 เพื่อควบคุมดูแลกิจกรรมการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในอินโดนีเซียโดยเน้นประโยชน์ของประเทศ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักการและวัตถุประสงค์การลงทุน นโยบายการลงทุนพื้นฐาน ประเภทของธุรกิจและทำเลที่ตั้ง การปฏิบัติต่อการลงทุน แรงงาน ภาคธุรกิจ การพัฒนาการลงทุนในระดับจุลภาค ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินการลงทุน Special Economic Zone และการระงับข้อพิพาท

ด้านองค์กร หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซียภายใต้กฎหมายการลงทุน คือ Investment Coordinating Board (BKPM) นำโดยประธาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งและขึ้นตรงกับประธานาธิบดี มีอำนาจหน้าที่ในการประสานดำเนินการตามนโยบายการลงทุน รวมถึงการพัฒนาตามแนวทางการลงทุนของอินโดนีเซีย และแสวงหา ส่งเสริมศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศ

สำหรับสาขาธุรกิจที่เปิดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แบ่งออกเป็นกลุ่มสาขาดังนี้

1. ธุรกิจการเกษตร: การเพาะปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และอ้อย

2. ประมง: ทั้งประมงน้ำเค็มและน้ำจืด

3. อุตสาหกรรม: เคมีภัณฑ์และยา อาหาร ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เยื่อกระดาษและกระดาษ อิเล็กทรอนิค ยานยนต์ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม

4. สาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน ทางด่วน ท่าอากาศยาน ท่าเรือ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และโรงพลังน้ำ

5. การบริการ: การค้า โรงแรม ร้านอาหาร คลังสินค้า การบันเทิงและสันทนาการต่าง ๆ การ บริการด้านวิศวกรรมและเทคนิค

ทั้งนี้ในกฎหมายการลงทุนฉบับนี้ ได้กำหนดสาขาธุรกิจที่เปิดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยจำกัดอัตราร้อยละของการเป็นเจ้าของธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติ (Limit for foreign capital ownership) ไว้ตามรายสาขาธุรกิจ

2) กฎระเบียบเกี่ยวกับการเปิดสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศในประเทศอินโดนีเซีย

กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องคือ Decree Minister of Trade Republic of Indonesia No. 10/M-Dag/Per/3/2006

สรุปสาระสำคัญของกฎระเบียบดังกล่าว ดังนี้

มาตรา 1

1. ตัวแทนของบริษัทผู้ค้าต่างชาติจะต้องเป็นบุคคลอินโดนีเซียหรือบุคคลต่างชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทต่างชาติ หรือสมาคมบริษัทต่างชาติในต่างประเทศให้เป็นตัวแทนในประเทศอินโดนีเซีย

2. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการค้าของตัวแทนของบริษัทต่างชาติ โดยย่อคือ SIUP 3A เป็นใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจของตัวแทนในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจของตัวแทนของบริษัทต่างชาติ

มาตรา 2

ธุรกิจตัวแทน (Representative Business) ในอินโดนีเซียจะอยู่ในรูปของ ตัวแทนขาย (Selling Agents) ตัวแทนผลิต (Manufacturing Agents) หรือตัวแทนซื้อ (Buying Agents) ก็ได้

มาตรา 3

ธุรกิจตัวแทน สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1) ดำเนินกิจกรรมในการแนะนำ ส่งเสริมการตลาดสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติ รวมทั้งให้ข้อมูลหรือคำแนะนำในการใช้การนำเข้าสินค้า

2) ทำการสำรวจตลาดและควบคุมดูแลการขายในประเทศในกรอบของสินค้าที่ต้องการทำตลาด

3) ทำการสำรวจตลาดสินค้าที่บริษัทต่างชาติต้องการ

4) ปิดสัญญาสำหรับหรือในฐานะของบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง กับบริษัทในประเทศในกรอบของการส่งออก

มาตรา 4

ห้ามธุรกิจตัวแทนในการทำกิจกรรมการค้า (trading activities) และทำธุรกรรมการขาย (selling transaction) ตั้งแต่การเริ่มต้นจนถึงการตกลง เช่น การยื่นประมูล การทำสัญญา และการอ้างสิทธิ และกิจกรรมอื่นที่คล้ายคลึงกัน

มาตรา 12 (แรงงาน)

ทุกธุรกิจตัวแทนของบริษัทต่างชาติ ที่จ้างงานพนักงานต่างชาติ 1 คน จะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือพนักงานชาวอินโดนีเซียอย่างน้อย 3 คน โดยต้องทำสัญญาจ้างพนักงานชาวอินโดนีเซีย โดยต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพนักงาน (KTP) และสัญญาจ้างหรือแบบฟอร์มการรับเงินเดือนของพนักงาน เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงการจ้างงาน

มาตรา 20

ธุรกิจตัวแทนของบริษัทต่างชาติจะต้องลงทะเบียนบริษัทตามกฎหมายของอินโดนีเซีย No. 3/1982 เรื่องทะเบียนบริษัท ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ใน SIUP 3A ของบริษัท

3) กฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ

อินโดนีเซียยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ กฎระเบียบเรื่องการเปิดร้านอาหารในประเทศอินโดนีเซีย กฎระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียจะต้องตรวจสอบกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนก่อนเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียด้วย

2. โอกาส/ข้อได้เปรียบในการลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย

1. รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้มีการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เมื่อปี 2550 ปรับปรุงบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดเรื่องการส่งเสริมการลงทุนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

2. อินโดนีเซียมีจำนวนประชากรสูงถึงประมาณ 240 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดอาเซียน (จำนวนประชากรอาเซียนประมาณ 550 ล้านคน) จึงมีปริมาณความต้องการสินค้าและบริการมาก ซึ่งเป็นโอกาสในการดำเนินและขยายธุรกิจในประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ หากสามารถนำสินค้าและบริการเข้ามาทำตลาดในอินโดนีเซียได้

3. อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุต่าง ๆ ถ่านหิน ป่าไม้ ประมง และสินค้าเกษตรต่าง ๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กาแฟ โกโก้ มะพร้าว เป็นต้น

3. อินโดนีเซียมีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ เนื่องจากจำนวนประชากรมาก ค่าจ้างแรงงานในประเทศจึงต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการประกอบบธุรกิจในอินโดนีเซีย

4. อัตราภาษีนำเข้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เป็นไปตามอัตราภาษีของกลุ่มประเทศอาเซียน (CEPT) ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำ อยู่ระหว่างประมาณร้อยละ 0 — 5 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

5. ความรู้สึกของผู้บริโภคอินโดนีเซียที่มีต่อสินค้าและบริการของไทยนั้น จะเห็นว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารจากไทย

3. ปัญหา/อุปสรรคในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย

1. ระบบโครงสร้างพื้นฐานการลงทุน เช่นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่เพียงพอในบางพื้นที่ หรือมีคุณภาพไม่ดีพอ เช่น ระบบคมนาคมขนส่งที่ไม่เพียงพอ การจราจรติดขัด การบริการด้านไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ หรือการบริการประปาที่ไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่และไม่สะอาดเพียงพอ เป็นต้น

2. มีกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนประกอบธุรกิจ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องมีการในอนุญาตเป็นจำนวนมาก มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน เช่น การตั้งสำนักงานตัวแทน การตั้งบริษัท (ซึ่งต้องมีหุ้นส่วนชาวอินโดนีเซีย) และการประกอบธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งการขออนุญาตในเรื่องแรงงาน เป็นต้น

3. มีกฎระเบียบที่มีลักษณะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า (Non-Tariff Barriers: NTB) ได้แก่ มาตรการห้ามนำเข้า (เช่น สินค้าข้าว) การขออนุญาตนำเข้า (ซึ่งในบางสินค้าต้องมี surveyor report จากต้นทางด้วย) การขออนุญาตขึ้นทะเบียน อย. และมาตรการทางด้านสุขอนามัย ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีความยุ่งยากและใช้ระยะเวลานาน เป็นต้น

4. ยังมีการคอร์รัปชันในระบบราชการ ซึ่งยังมีอยู่ในหลายขั้นตอน ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียที่สูง

5. ธุรกิจในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังเป็นระบบปิดและเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งการประกอบธุรกิจการค้ากับนักธุรกิจอินโดนีเซียที่ไม่มีความสัมพันธ์กันมาก่อน อาจเข้าถึงได้ยาก ซึ่งในบางภาคธุรกิจจะมีลักษณะปิดและยังไม่ให้ความเชื่อถือแก่ผู้เข้ามาติดต่อธุรกิจซึ่งเป็นรายใหม่

4. ข้อแนะนำในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย

1. ก่อนการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย ควรทำการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการการลงทุนประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจที่สนใจ เพื่อให้ทราบถึงโอกาส/ข้อได้เปรียบ รวมทั้งสิ่งที่อาจเป็นปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น ข้อมูลพื้นฐานของประเทศและประชากร นโยบายของรัฐบาลและกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน ภาวะความต้องการของตลาดและแนวโน้ม เป็นต้น ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลเผยแพร่ทั่วไป เช่น Website เอกสารต่าง ๆ รายงานการตลาด ตลอดจนอาจขอข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทหรือนักธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียได้ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เจริญโภคภัณฑ์อินโดนีเซีย เครือซิเมนต์ไทย (การค้า โรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิค ยิปซั่มบอร์ด กระเบื้องหลังคา เป็นต้น) เหมืองบ้านปู ธนาคารกรุงเทพฯ รวมทั้งร้านอาหารไทยในอินโดนีเซีย เป็นต้น

2. ควรสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับนักธุรกิจอินโดนีเซีย เนื่องจากการประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียจะมีลักษณะที่เน้นพื้นฐานทางด้านความสัมพันธ์มาก

3. ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจ (business partner) ในอินโดนีเซีย เนื่องจากพันธมิตรทางธุรกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย เนื่องจากการดำเนินการในหลาย ๆ ด้าน จะต้องพึ่งพาอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นนักธุรกิจท้องถิ่น เช่น การขออนุญาตดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจหรือเรื่องแรงงาน ซึ่งหากสามารถเลือกพันธมิตรที่ดีก็จะส่งผลต่อการประกอบและการขยายธุรกิจ แต่หากเกิดปัญหากับพันธมิตรก็จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อการประกอบธุรกิจอย่างมาก

4. ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานราชการในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องมีการประสานทางธุรกิจ เพื่อความรวดเร็วในการติดต่อกับราชการอินโดนีเซีย เพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจในอินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ