ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 13, 2009 17:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมตลาด

ญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้านคน ผลิตอาหารได้หลายชนิด แต่ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคของคนทั้งประเทศ ด้วยพื้นที่จำกัดทำให้อัตราส่วนของอาหารที่ผลิตได้ เฉลี่ยต่อหัวประชากร( Food self sufficiencyratio) เมื่อคำนวนบนฐานของจำนวนแคลอรี่ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 40 ของความต้องการบริโภค เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอื่นๆ นับว่าอยู่ในระดับต่ำ เช่น สหราชอาณาจักรผลิตได้ร้อยละ 71 เยอรมนี(มากกว่าร้อยละ 95) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 127) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 327) ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าในสัดส่วนสูงและชนิดสินค้าอาหารที่นำเข้ามีความหลากหลาย ทั้งในรูปอาหารสด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป โดยในปี 2551 มีการนำเข้าอาหารทุกชนิดมูลค่า 55,089 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2550 ชนิดอาหารที่นำเข้ามูลค่าสูงสุด คือผลิตภัณฑ์ประมง มีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้าได้แก่ กุ้ง ปู ปลาทูน่า ปลาแซลมอล ปลาเทร้าด์ และปลาไหล รองลงมาได้แก่เนื้อสัตว์ ประมาณร้อยละ 20ธัญพืช และผลิตภัณธ์จากธัญพืช ร้อยละ 12 และพืชผัก (ประมาณร้อยละ 7) แหล่งนำเข้า ได้แก่ สหรัฐอเมริกาจีน ออสเตรเลีย ไทย เกาหลี ตามลำดับ ในกลุ่มอาหารแช่แข็ง แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ไทยเวียดนาม ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากไทย มูลค่า 3,131 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.9 จากปี 2550

การผลิตในประเทศ

จากรายงานของ Japan Frozen Food Association ในปี 2551 มีโรงงานผลิตและแปรรูปอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นจำนวน 731 โรงงาน ลดลงจากที่มี 746 โรงงานในปี 2550 มีผลผลิตโดยรวม 1,471,396 เมตริกตันมูลค่า 6,391.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.7 จากปี 2550 และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 65 ของผลผลิตจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและธุรกิจภัตตาคาร ที่เหลือร้อยละ 35 จำหน่ายปลีกเพื่อการบริโภคของครัวเรือน ร้อยละ 83.6 ของปริมาณอาหารแช่แข็งที่ผลิตในประเทศเป็นกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปชนิดต่างๆ รองลงมาได้แก่ ผัก-ผลไม้แช่แข็ง(7%) ขนมหวาน (4.4%) อาหารทะเล (4.2%) และเนื้อสัตว์(0.45%)

ชนิดของอาหารแช่แข็งที่มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่น จำแนกเป็นกลุ่มสินค้า ตามลำดับปริมาณที่ผลิตเมื่อปี 2551 ประกอบด้วย

1. อาหารกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นประเภทที่มีการผลิตมากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและภัตตาคาร ชนิดที่มีการผลิตจำนวนมากสุดตามลำดับ ได้แก่ อาหารแปรรูปประเภททอด ชนิดที่มีปริมาณมากที่สุด คือ croquette รองลงมา ได้แก่หมูทอด (cutlet) ไก่ทอด ปลาทอดหอยนางรมทอด และปลาหมึก อาหารชนิดอื่น ได้แก่ เส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์ข้าวแฮมเบอเกอร์ ลูกชิ้นเนื้อสัตว์ (meatball) ขนมจีบ(shao-mai) เกี้ยวซ่า spring roll, pizza เป็นต้น

2. ผัก ผลไม้ ได้แก่ มันชนิดต่างๆ และมันสำหรับ French fired ฟักทอง ข้าวโพด (corn kernel)Spinach แครอท เป็นต้น

3. ขนมหวานชนิดต่างๆ

4. อาหารทะเลแช่แข็ง ได้แก่ ปลา ปลาหมึก( squid & octopus) กุ้ง(Shrimp & Lobster) หอย(shellfish) และปู

5. เนื้อสัตว์ ประกอบด้วย ไก่ ร้อยละ75 และเนื้ออื่นๆ ร้อยละ 25

การบริโภค

ชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารแช่แข็งเฉลี่ยคนละ 19.4 กิโลกรัมต่อปี หรือมีจำนวนรวม 2,474,183 ตัน ซึ่งประกอบด้วย อาหารแช่แข็งที่ผลิตได้เองในประเทศ 1,471,396 ตัน และอาหารแช่แข็งที่นำเข้า 1,002,787 ตัน(ประกอบด้วย ผักแช่แข็ง 770,563 ตัน และอาหารแปรรูปแช่แข็ง 232,224 ตัน) ชนิดอาหารแช่แข็งที่นิยมบริโภคกันมากที่สุดในญี่ปุ่น ปี 2551 ตามลำดับได้แก่ croquette, Udon (noodle), fried rice, cutlet,confectionery hamburger, meat ball, shao-mai, gyoza, gratin, egg product, tokoyaki (okanomiyaki), springroll, fried chicken, pizza, rice ball, fish, pumpkin, fired fish

ครอบครัวชาวญี่ปุ่นมีขนาดเล็ก การปรุงอาหารบริโภคภายในครัวเรือนจึงสร้างความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่าการซื้ออาหารสำเร็จปรุงพร้อมทาน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้สตรีญี่ปุ่นออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ตลาดอาหารสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมทานและธุรกิจภัตตาคารจึงขยายตัวรวดเร็ว การนำเข้าอาหารแช่แข็งชนิดต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีรายงานข่าวการตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนในเกี๋ยวซ่า และอาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากจีนเมื่อต้นปี 2550 จากนั้นก็พบสารตกค้างชนิดใหม่ๆ รวมทั้งยาฆ่าแมลงในอาหารแช่แข็งที่นำเข้า อีกหลายครั้งติดต่อกัน ปรากฎเป็นช่าวใหญ่ที่สร้างความตระหนกตกใจ และสร้างความหวั่นวิตกเรื่องคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่ออาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ การนำเข้าจึงลดต่ำลงอย่างมากในปี 2551 แต่ด้วยญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศ ค่อนข้างสูง ทำให้เริ่มมีการย้ายฐานผลิตและแหล่งนำเข้าจากจีนไปยังประเทศต่างๆในเอเชีย และไทยก็เป็นแหล่งผลิตที่ญี่ปุ่นเห็นว่ายังสามารถรักามาตรฐานสูง สินค้าอาหารและอาหารแช่แข็งจึงมีศักยภาพสูง และสามารถขยายได้อีกมาก

การนำเข้า

ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารแช่แข็งมากที่สุดในปี 2550 จำนวน 319,796 ตัน มูลค่า 145,940 ล้านเยน (1,237.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากที่เคยนำเข้า 127,748 ตันเมื่อปี 2543 หรือเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา การนำเข้ารวมลดลงเหลือ 232,224 ตัน ในปี 2551 หรือลดลง 27.4 % จากปี 2550 เมื่อพบว่าสินค้าจากจีนปนเปื้อนและมีสารเคมีตกค้าง แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่

  • จีน ปริมาณนำเข้าสูงสุดในปี 2550 จำนวน 212,590 ตัน มูลค่า 90,507 ล้านเยน หรือมีส่วนแบ่งตลาด 66.5 % ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด โดยการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 2.7 เท่าในช่วง 7 ปี(เทียบกับที่นำเข้า 77,333 ตันเมื่อปี 2543) นับตั้งแต่ตรวจพบสารตกค้างและยาฆ่าแมลงในเกี้ยวซ่า และผักแช่แข็งจากจีนเมื่อปี 2550 การนำเข้าจากจีนได้ลดลงเหลือ 128,373 ตันในปี 2551 หรือลดลง 40% จากปี 2550
  • ไทย ปริมาณนำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากที่นำเข้า 28,022 ตันเมื่อปี 2541 เป็น 87,912 ตัน ในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น 3.14 เท่า
  • แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเชีย เกาหลี จำนวนโดยรวม 15,938 ตัน
การนำเข้าจากไทย

ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารแช่แข็งจากไทยจำนวน 87,912 ตัน มูลค่า 44,568 ล้านเยน ในปี 2551 ปริมาณเพิ่ม 4.6% มูลค่าเพิ่ม 11.1% เทียบกับปี 2550 อาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากไทย ในปี 2551 ได้แก่

มูลค่า -ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ส่วนแบ่งตลาด - %

          สินค้า                     มูลค่า         % +/-           คู่แข่งขันในตลาด
ไก่แปรรูป                           672.6         91.11           บราซิล
เนื้อปลา /อาหารทะเลอื่นๆ              465.5         21.67           ชิลี สหรัฐ จีน
กุ้งสดแช่แข็ง                         217.8           1.1           เวียดนาม อินโดนีเชีย อินเดีย
ผัก ผลไม้ สด แช่เย็น แช่แข็ง             94.0           2.1           ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก เอกวาดอร์

ช่องทางตลาดและการกระจายสินค้า

การนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อการ ค้าส่ง ค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต และธุรกิจภัตตาคารที่นำเข้าวัตถุดิบแลอาหารแปรรูปส่วนใหญ่ จะนำเข้าผ่านบริษัทการค้าขนาดใหญ่ (trading firm) โดยบริษัทการค้าเหล่านี้จะทำหน้าที่ตั้งแต่การคัดเลือกผู้ผลิต การนำเสนอวัตถุดิบและอาหารชนิดใหม่ๆ การเจรจาสั่งซื้อ การตวจสอบ ควบคุมคุณภาพระหว่างผลิตและก่อนขนส่ง การจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และบางรายทำหน้าที่เก็บสำรอง และคลังสินค้าด้วย

ผู้ค้าอาหารและอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นทุกรายให้ความสำคัญสูงสุดต่อคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและความปลอดภัยของอาหาร เพราะเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อถือและการคงอยู่ของธุรกิจ จากการสำรวจของสมาคมผู้นำเข้าอาหารแช่แข็งของญี่ปุ่น จึงพบว่า ร้อยละ 62 ของสมาชิกนำเข้าสินค้าผ่านบริษัท Trading firm มากกว่าร้อยละ 85 จะเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทในเครือของตนที่ออกไปลงทุนหรือร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 20 ที่สั่งซื้อสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติ และโดยทั่วไปก็จะเป็นคู่ค้าขายที่มีความสัมพันธ์กันยาวนาน การริเริ่มผลิตภัณฑ์ใหม่กับบรัทผู้ผลิตรายใหม่ สำหรับญี่ปุ่น โดยทั่วไปจะใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะผู้ซื้อต้องมีความมั่นใจว่าเป็นผู้ผลิตที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ปลอดภัยต่อการบริโภคและส่งมอบได้ตามทันเวลา เมื่อสินค้าส่งมอบไปถึงญี่ปุ่นจะถูกส่งต่อและกระจายไปยังร้านค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นเครือข่ายของบริษัท

กฎระเบียบการนำเข้า

ขั้นตอนของกฎหมายกำหนดให้สินค้าอาหารที่นำเข้าทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบ ภายใต้กฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) การตรวจสอบสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหาร(Sanitation Inspection) และ (2) สำหรับสินค้าประเภทผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จะต้องเข้ารับการตรวจรับรองการปลอดโรคพืชและสัตว์ (Plant and Animal quarantine)

ภาษีนำเข้า

อัตราภาษีการนำเข้าอาหารมีอัตราแตกต่างกันไป หลายชนิดได้รับยกเว้นภาษี และบางชนิดเก็บภาษีลดลงภายใต้ JTEPA และจะค่อยๆลดต่ำลง หรือมีอัตราที่จัดเก็นตั้งแต่ 0% - 19 % รายละเอียดสามารถตรวจสอบได้ที่ เวปไซต์ของศุลกากรญี่ปุ่น ที่ http://www.customs.go.jp/english/tariff/2009_4/data/03.htm

พฤติกรรมการบริโภค

อาหารนำเข้าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ที่ชาวญี่ปุ่นทุกคนรับรู้และคุ้นเคยมานานผู้บริโภคในญี่ปุ่นก็มีนิสัยชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ ตลาดสินค้าอาหารในญี่ปุ่นจึงเปิดกว้างให้แก่สินค้าจากต่างประเทศ พฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นมีลักษณะเด่น ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมยังส่งผลให้ผู้บริโภคต้องปรับวิถีชีวิตเดิมๆ จากการทานอาหารประจำชาติ มาสู่อาหารสากล อาหารสำเร็จพร้อมทาน การทานข้าวนอกบ้านและการซื้ออาหารแปรรูปแช่แข็งไปอุ่นทานในครัวเรือน ชาวญี่ปุ่นนิสัยชอบการรับประทาน และชอบการสังสันในกลุ่มเพื่อร่วมงาน ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ธุรกิจภัตตาคาร อาหารประจำชาติต่างๆ และการรับประทานอาหารนอกบ้านจะขยายตัวตามไปด้วย แต่เมื่อเผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำจำเป็นต้องประหยัดการใช้จ่าย การทานอาหารนอกบ้านลดน้อยลง ขณะที่การซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมทาน และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารสำหรับ Home cooking และ Home party จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • แม้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีไลฟสไตล์การอุปโภค-บริโภคสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองมากขึ้น แต่การลอกเลียบแบบการบริโภค และการบริโภคสินค้าและอาหารตามกระแสสังคงยังมีอิทธิพลสูงนอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคาดหวังว่าจะมีสินค้าชนิดใหม่ๆมาให้เลือกซื้อและบริโภคเป็นระยะ ดังนั้นกลุ่มผู้ค้าจึงจำเป็นต้องมองหาสินค้าใหม่ๆอยู่เสมอ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ภัตตาคารและธุรกิจ ค้าปลีกอาหารก็มีลักษณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้ารายใหม่ๆที่ต้องการเข้าตลาดจึงต้องทำให้สินค้าขของตนมีความแตกต่างหรือดีกว่า
  • ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อสุขอนามัย และความปลอดภัยของอาหารมากที่สุด เป็นผู้ซื้อที่ศึกษาข้อมูลและสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆได้อย่างรวดเร็ว จึงอ่อนไหวต่อข้อมูลข่าวสาร จะวิตกกังวลและหยุดซื้อทันทีหากมีข่าวว่าสินค้านั้นมีการปนเปื้อนหรือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ยินยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากอาหารนั้นรสชาดอร่อย ผลิตด้วยวิธีพิเศษ เป็นอาหารบำรุงสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษหรือเมนูใหม่ เป็นต้น
  • บรรจุภัณฑ์สินค้ามีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียกความสนใจใคร่รู้ ต้องมีการออกแบบสวยงาม สามารถปกป้องและเก็บรักษาความสดใหม่ของอาหารได้ดี ครอบครัวญี่ปุ่นมีขนาดเล็กขนาดบรรจุจึงต้องเหมาะสม และต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างครบถ้วน เช่น วิธีการปรุง การเก็บรักษา สารอาหารวันที่ผลิตและวันหมดอายุ จำนวนแคลอรี่ ล่าสุดผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เริ่มให้ข้อมูลจำนวนคาร์บอนด์ที่เกิดจากการผลิต ( Carbon Food print) เพื่อสร้างจิตสำนึกการรักาสิง่แวดล้อม เป็นต้น
แนวโน้มและลู่ทางการส่งออกสินค้าอาหารจากไทย

ประเทศไทยเป็นฐานผลินสินค้าอาหารป้อนตลาดญี่ปุ่นมานานแล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายรายก็ได้เข้ามาลงทุน และร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อการส่งออกไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ชนิดอาหารที่เข้ามาลงทุนยังมีความหลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนปลูกผักสด อาหารแปรรูปที่เป็นอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทย อาหารจากประเทศไทยมีภาพลักษณ์ดี และผู้ซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐาน ความได้เปรียบของประเทศไทยเรื่องความหลากหลายของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และความใส่ใจของผู้ประกอบการในการพัฒนาคุณภาพทำให้เป็นจุดแข็งที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อมั่น

จุดแข็งที่เป็นข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของไทย คือ ความหลายหลายของเครื่องปรุงอาหารที่เป็นประโยชน์ และรสชาดที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้อาหารไทยสามารถได้รับความนิยมมายาวนาน อย่างไรก็ตามโอกาสส่งออกยังมีอีกมาก หากมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการบริโภคของตลาด แล้วนำมาดัดแปลงผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมและรสชาดเดิมของตลาด เข้ากับเครื่องปรุงของไทยที่มีความเป็น Ethnic food พัฒนาเป้นเมนูใหม่ๆ เพื่อให้อาหารไทยไปสู่ Global food อย่างแท้จริง การส่งออกอาหารของไทยก็จะมีความหลากหลาย และเพิ่มชนิดมากขึ้น การหาลูกค้าที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งคือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ