ภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเนื้อหมูและหมูเป็นในประเทศเม็กซิโก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2009 13:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเลี้ยงหมู และการผลิตเนื้อหมูและผลิตภัฑ์จากเนื้อหมูในประเทศเม็กซิโก ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา เนื่องจากได้เริ่มมีการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงหมูและการผลิตเนื้อหมู ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์หมู การปรับปรุงวิธีการออกแบบคอกหมูในลักษณะโรงงาน การขนส่ง การแช่แข็ง และการพัฒนาโรงเชือดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผนวกกับการสนับสนุนที่ได้รับจากรัฐบาล เช่น การอุดหนุนราคาข้าวฟ่างช่วยลดต้นทุนราคาอาหารหมู และการบังคับใช้มาตรฐานโรงเชือดระบบ TIF (Tipo Inspection Federal) สำหรับเนื้อหมูเพื่อการส่งออก

ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ได้มีผลส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงทางการตลาดในอุตสาหกรรมหมูมากขึ้น โดยทั้งสามประเทศคู่ค้าได้มีทั้งการส่งออกและนำเข้าระหว่างกันและกัน ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุด แต่มีความจำเป็นต้องนำเข้าหมูเป็นจากแคนาดา และมีการนำเข้าเนื้อหมูจากเม็กซิโกเนื่องจากได้มีบริษัทผู้เลี้ยงและผลิตเนื้อหมูไปร่วมลงทุนกับเม็กซิโกเพื่อการส่งออก ส่วนประเทศเม็กซิโกมีความสามารถผลิตเนื้อหมูได้ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณการการบริโภคมีประมาณ 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปี ผนวกกับการผลิตส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นเหตุให้เม็กซิโกต้องนำเข้าเนื้อหมูสำหรับส่วนที่ไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

จากปี 1990 เป็นต้นมา ได้มีการเปิดตลาดให้มีการนำเข้าได้ทั้งหมูเป็น ผลิตภัณต์เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์ไก่ซึ่งเข้ามาแข็งขันกับการผลิตเนื้อสัตว์ภายในประเทศ โดยมีการนำเข้าส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ ในปริมาณที่ทำให้ เม็กซิโกเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกผลิตกภัณฑ์เนื้อสัตว์สำหรับสหรัฐฯ

การเลี้ยงหมูเป็นและการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูมีทำเลการผลิตกระจายไปทั่วประเทศเม็กซิโก แต่เขตพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหมูจำนวนมากในประเทศเม็กซิโก ได้แก่ รัฐ Jalisco, Sonora, Chiapas, Veracruz, และ Yucatan ในระยะหลังนี้ ได้เริ่มมีการขยายการผลิตไปในพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากแผนการรณรงค์เขตปลอดโรคของรัฐบาล ได้ช่วยส่งเสริมให้มีการเลี้ยงหมูกระจายไปตามเขตปลอดโรคไข้หมู ที่รัฐบาลได้ประกาศใหม่จำนวน 11 รัฐ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแหล่งที่ตั้งโรงเลี้ยงหมู ได้แก่ความใกล้ชิดกับเขตชุมชนขนาดใหญ่ และตลาดที่ใหญ่ที่สุดได้แก่ กรุงเม็กซิโกซิตี้ การกำหนดมาตรฐานการเชือดหมูแบบ TIF (Tipo Inspection Federal) เป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงหมูทำการขนส่งหมูเป็นข้ามรัฐ เพื่อส่งไปเชือดในโรงเชื่อดหมูในเขตเมือง รัฐที่ใกล้ชิดกับกรุงเม็กซิโกซิตี้ เช่น Jalisco, Sonora, Guanajuato, Puebla, Yucatan และ Michoacan จึงมีความได้เปรียบ และมีส่วนแบ่งการครองตลาดสูง ถึงร้อยละ 75 ของการผลิตเนื้อหมูทั้งประเทศ

ในปี 1997 โรงเชือดหมูระบบ TIF มีจำนวน 33 โรงงาน ความสามารถการเชือดได้ 3.7 ล้านหัว หรือประมาณหนึ่งส่วนสามของการเชือดหมูทั่วประเทศ โรงเชือดหมูในระบบ TIF จะกำหนดมาตรฐานน้ำหนักและสุขภาพหมูที่สูงกว่าโรงเชือดที่ไม่ได้อยู่ในระบบดังกล่าว ผู้เลี้ยงหมูกิจการใหญ่ ซึ่งเลี้ยงหมูได้ระหว่าง 300-1,000 ตัว ใช้การคัดแม่พันธุ์ที่ดี การออกแบบโรงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนค่ายารักษาสุขภาพหมูสูง แต่มีต้นทุนค่าอาหารต่ำกว่าผู้เลี้ยงขนาดกลางและเล็ก เป็นกลุ่มที่สามารถส่งหมูไปเชือดในโรงเชือดมาตรฐาน TIF ได้เท่านั้น กิจการขนาดใหญ่เหล่านี้จะเป็นผู้ส่งออก หรือจัดส่งขายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายหมูเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ

ผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางซึ่งเลี้ยงหมูได้ระหว่าง 150-500 ตัว และผู้เลี้ยงหมูขนาดย่อยหรือตามบ้านเรือน ซึ่งมีหมูเลี้ยงประมาณ 10-50 ตัว จะส่งหมูไปเชือดในโรงเชือดระดับเทศบาลที่มีมาตรฐานเรื่องน้ำหนักและสุขภาพต่ำกว่า ซึ่งโรงเชือดระดับเทศบาลมีความสามารถเชือดได้ประมาณ 4 ล้านหัว และให้ผลผลิตเนื้อหมูได้ประมาณหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งประเทศ ผู้เลี้ยงหมูตามบ้านเรือนอาจทำการเชือดเองภายในบ้านเรือนเอง ทั้งผู้เลี้ยงหมูขนาดกลางและย่อยจะส่งเนื้อหมูไปขายตามตลาดสด หรือตลาดชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆที่ไม่ใช่เมืองใหญ่

ระหว่างปี 1990-1994 กว่าร้อยละ 90 ของการเลี้ยงหมูทั้งหมด เป็นการเลี้ยงในฟาร์มที่เลี้ยงได้ไม่เกิน 20 ตัวต่อฟาร์ม และมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงหมูอยู่ประมาณ 1.9 ล้านแห่ง ในขณะที่การเลี้ยงหมูเป็นโรงเลี้ยงขนาดใหญ่เทียบเป็นเพียงแค่ร้อยละ 1 ของจำนวนฟาร์ม แต่โรงเลี้ยงขนาดใหญ่นี้ เลี้ยงหมูเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนหมูเป็นที่มีการเลี้ยงทั่วประเทศเม็กซิโก

ความได้เปรียบด้านต้นทุนและขนาดดังกล่าวซึ่งให้ผลกำไรแก่ผู้เลี้ยงหมูในลักษณะกิจการใหญ่มากกว่า กิจการเลี้ยงหมูขนาดกลางและย่อยซึ่งมีต้นทุนค่าอาหารสูง และมักมีปัญหาการจัดหาเงินทุน ทำให้มีแนวโน้มว่าผู้ผลิตรายย่อยจะค่อย ๆ หายไป รัฐบาลเม็กซิกันจึงกำลังสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อย มีการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ให้มีความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการพัฒนาคุณภาพ หรือให้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มสหกรณ์ให้มีกำลังเงินเงินรวมกันมากขึ้น

การบริโภคเนื้อหมูมีความอ่อนไหวต่อระดับรายได้ของประชากร โดยในอดีตเมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปริมาณการบริโภคเนื้อหมูจะลดลง ทั้งนี้ เนื้อหมูสดแพงมีราคาแพงกว่าเนื้อไก่

อุตสาหกรรมผลิตเนื้อหมูในประเทศสหรัฐอเมริกา

การค้าผลิตภัณฑ์หมูในตลาดโลกมีมูลค่าประมาณปีละ 26 พันล้านเหรียญฯ โดยกลุ่มประเทศในเขตการค้าเสรีเหนือ หรือ NAFTA ครองตลาดโลกมากกว่าครึ่ง โดยประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการครองตลาดส่งออกเนื้อหมู ร้อยละ 39 รองลงมาได้แคนาดา มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 17.38 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ร้อยละ 24.66 และบราซิลร้อยละ 10.92 ตามตารางดังแนบ

สำหรับประเทศผู้นำเข้าเนื้อหมูสำคัญในโลก ได้แก่ ประเทศรัสเชีย ยูเครน และจีน รวมการนำเข้าสามประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการนำเข้าเนื้อหมูของโลก

ตามรายงาน World Pork Trade Oveview ณ เวปไซด์ http://www.thepigsite.com/ คาดว่า การค้าเนื้อหมูในตลาดโลกสำหรับปี 2009 จะลดลงค่อนข้างมากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ประเทศรัสเซียได้เพิ่มภาษีการนำเข้าเนื้อหมูอย่างสูง และประเทศจีนได้เพิ่มการผลิตภายในประเทศได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ และบราซิลได้ลดการส่งออก]’ เนื่องจากภาวะวิกฤตการณ์การเงิน และนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าที่ไม่เอื้ออำนวยการส่งออก

ภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเนื้อหมูและหมูเป็นของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เป็นผู้นำการส่งออกเนื้อหมูในตลาดโลกเป็นเวลานาน โดยแต่เดิมการเลี้ยงหมู และการผลิตเนื้อหมู และผลิตภัณฑ์หมู ได้มีโครงสร้างกระจายในหมูผู้ประกอบการขนาดเล็กหลายกิจการ ซึ่งมีวัฏจักรการเชือดหมูช่วงฤดูใบไม้ร่วมและฤดูหนาว จนกระทั่งประมาณปี 1985 ธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มบีบกิจการขนาดเล็กออกไป และการประสานงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ส่งเสริมให้การผลิตเนื้อหมูไม่ขาดตอน มีการเชือดหมูและทำการผลิตเนื้อหมูได้ตลอดปี การควบคุมปริมาณและพัฒนาคุณภาพของแม่พันธ์หมู การประหยัดต้นทุนเนื่องจาก economy of scale เทคโนโลยีด้านการบริหารข้อมูลและการจัดการ ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การส่งออกขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปีตลาดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ตลาดสำคัญของเนื้อหมูส่งออกของสหรัฐฯ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้าหนึ่งในสามของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ ตลาดส่งออกเนื้อหมูสำคัญต่อมาได้แก่ประเทศแคนาดาและเม็กซิโก โดยคู่แข็งสำคัญในตลาดทั้งสามนี้ ได้แก่ ประเทศแคนาดา เดนมาร์ก และบราซิล

ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าทั้งเนื้อหมูแช่เย็นและเนื้อหมูแช่แข็ง โดยเนื้อหมูสดนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ แต่การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งของญี่ปุ่นได้นำเข้าจากเดนมาร์กเป็นอันดับแรก โดยประเทศญี่ปุ่นจะวางขายเนื้อหมูสดตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเนื้อหมูแช่แข็งนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์หมูอื่น ๆ

ตลาดส่งออกอันดับสองสำหรับเนื้อหมูของสหรัฐฯ คือประเทศเม็กซิโก ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกมีการเพิ่มหรือลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของเม็กซิโก โดยในช่วงเศรษฐกิจดีจะมีการนำเข้ามากขึ้น

ตลาดสำคัญต่อมาได้แก่ประเทศแคนาดา ซึ่งการส่งออกเนื้อหมูไปยังแคนาดาได้เพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันการผลิตภายเนื้อหมูภายในประเทศแคนาดาเองก็ได้เพิ่มขึ้น เพราะแคนาดามีการส่งออกเนื้อหมู และราคาเนื้อหมูนำเข้าจากสหรัฐฯ มีราคาถูกเป็นที่นิยมของผู้บริโภค รวมทั้งได้มีการรวมตัวระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อหมูของทั้งสองประเทศ ส่วนสหรัฐฯ มีการนำเข้าเนื้อหมูในจำนวนที่ลดลงทุกปีจากแคนาดาและเดนมาร์ก และมีการนำเข้าหมูเป็นจากแคนาดา โดยสหรัฐฯ มีการส่งออกหมูเป็นไปยังประเทศเม็กซิโก ในสัดส่วนสามในสี่ของการส่งออกหมูเป็น และส่งออกอีกหนึ่งในสี่ไปยังบางประเทศในทวีปเอเชีย โดยส่วนหนึ่งประมาณร้อยละสิบเป็นการส่งออกแม่พันธุ์พ่อพันธุ์

แหล่งข้อมูล

http://www.ers.usda.gov/publications/agoutlook/sep1999/ao264i.pdf

http://www.comecarne.org/

http://www.ers.usda.gov/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ