ตลาดและระบบประมูลดอกไม้ในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 09:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิตดอกไม้ในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตดอกไม้รายใหญ่ของโลก มีพื้นที่ปลูกไม้ตัดดอก 17,500 เฮกเตอร์ หรือ 109,375 ไร่ ผู้ปลูกไม้ตัดดอกในญี่ปุ่นมีประมาณ 85,000 ครัวเรือนทั่วทุกภาคในญี่ปุ่นชนิดของดอกไม้เป็นไปตามสภาพถูมิอากาศในแต่ละท้องที่ ผู้ผลิตเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอื่นด้วย ขนาดของฟาร์มดอกไม้แต่ละรายมีขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยประมาณ 0.2 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 1.2 ไร่ ในปี 2549 ผลผลิตดอกไม้ในญี่ปุ่นมีมูลค่า 242.4 พันล้านเยน

ดอกไม้ที่ผลิตในญี่ปุ่นมีหลากหลายชนิด เช่น เบญจมาศ คาร์เนชั่น กล้วยไม้ กุหลาบ เยอร์บีร่า อัลสโตรมิเรีย ยิปโซพิลล่า ทิวลิป และลิลลี่ เป็นต้น ดอกไม้ที่มีความสำคัญสูงสุดในการผลิตของญี่ปุ่น คือ ดอกเบญจมาศ(Chrysanthemum) ซึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ Imperial ผลผลิตมี มูลค่า 79 พันล้านเยนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตดอกไม้ทั้งประเทศ

ปริมาณผลผลิตดอกไม้ของญี่ปุ่นแตกต่างไปตามฤดูกาล ผลผลิตดอกไม้สดเริ่มมีมากตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนตุลาคม พื้นที่ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดปรับเปลี่ยนไปตามฤดู กล่าวคือ ในช่วงฤดูหนาวผลผลิตส่วนใหญ่มาจากทางใต้ของประเทศ ขณะที่ในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นมาก ผลผลิตในเขตทางเหนือของโตเกียวมีมาก

การบริโภค

ศิลปะเกี่ยวกับดอกไม้ของญี่ปุ่นมีประวัติยาวนาน การจัดดอกไม้ที่รียกว่า ikebana เป็นประเพณีส่วนหนึ่งของพิธีทางศาสนาและงานฉลองในโอกาสต่างๆ ของญี่ปุ่น ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเป็นตลาดบริโภคดอกไม้รายสำคัญ ปริมาณผลผลิตในประเทศที่มีจำนวนมากกว่า 1 แสนไร่ มูลค่าผลผลิตกว่า 2 แสนล้านเยนต่อปี ส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ ส่งออกเพียงปีละประมาณ 100 ล้านเยน นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าดอกไม้อีกปีละเกือบ 3 หมื่นล้านเยน

ความต้องการใช้ดอกไม้ในญี่ปุ่น มีทั้ง เพื่อใช้ในธุรกิจ เป็นของขวัญ ใช้ในบ้าน และพิธีทางศาสนาในช่วงที่มีเทศกาลจะมีความต้องการใช้ดอกไม้ในปริมาณมาก เช่น เดือนมีนาคม สำหรับวัน O-higan หรือวันบรรพบุรุษ วันแม่ในเดือนพฤษภาคม เทศกาล Ubon ในเดือนสิงหาคม และเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่เป็นต้น

การนำเข้า

ญี่ปุ่นนำเข้าดอกไม้สดจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน โคลอมเบีย ไทย ไต้หวัน เวียดนาม นิวซีแลนด์ อินเดีย ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ดอกไม้ที่นำเข้ามากที่สุด คือ ดอกเบญจมาศ ดอกไม้ชนิดอื่นที่นำเข้า เช่น กล้วยไม้ คาร์เนชั่น กุหลาบ เป็นต้น ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าดอกไม้ของญี่ปุ่นปรากฏดังตารางต่อไปนี้

ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าดอกไม้ของญี่ปุ่น

  ชนิด                    ปริมาณ(ตัน)                มูลค่า(พันล้านเยน)           แหล่งนำเข้าสำคัญ
                  2550       2551    สัดส่วน     2550     2551    สัดส่วน
ดอกไม้สด       34,855.3   35,375.7    100.0     28.0     26.3    100.0
-เบญจมาศ      13,150.5   13,489.4     38.1      8.1      8.2     31.2    มาเลเซีย  จีน  เกาหลีใต้  เวียดนาม  ไต้หวัน
-กล้วยไม้        6,362.4    6,199.7     17.5      6.9      5.8     22.2    ไทย ได้หวัน  มาเลเซีย  นิวซีแลนด์  สิงคโปร์
-คาร์เนชั่น       6,170.1    6,304.6     17.8      5.6      5.6     21.3    โคลอมเบีย  จีน  เวียดนาม  เอคัวดอร์  ศรีลังกา
-กุหลาบ         3,654.3    3,584.6     10.2      2.2      2.2      8.4    เกาหลีใต้  อินเดีย  เคนยา  เอธิโอเปีย  โคลอมเบีย
-ดอกไม้อื่น       5,518.1    5,797.4     16.4      5.2      4.5     16.9    เกาหลีใต้  ไต้หวัน  ออสเตรเลีย  จีน  เนเธอร์แลด์
ที่มา : Japan Customs

การนำเข้าจากไทย

ปี 2551 ญี่ปุ่นนำเข้าดอกไม้สดจากไทยมีมูลค่า 3.31 พันล้านเยน ปริมาณ 3,961.8 ตัน ลดลงจากปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 16.8 และ 2.8 ตามลำดับ ดอกไม้ที่นำเข้าจากไทยเกือบทั้งหมดเป็นดอกกล้วยไม้ ปี 2551 มีปริมาณ 3,929.7 ตัน มูลค่า 3.28 พันล้านเยน โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าดอกกล้วยไม้สำคัญอันดับ 1 ของญี่ปุ่นมีสัดส่วนการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50

กล้วยไม้นำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ คือ กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium Phalaenopsis หรือนิยมเรียกในญี่ปุ่นว่า Den-Phalae) มีการนำเข้าตลอดทั้งปี แต่ปริมาณนำเข้าจะน้อยลงในช่วงเดือนเมษายน — มิถุนายน เนื่องจากปริมาณผลผลิตของไทยลดลง

กฎระเบียบการนำเข้า

ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีนำเข้า ดอกไม้ ในขั้นตอนการนำเข้า เก็บ Consumption Tax ร้อยละ 5 ของราคา CIF

การนำเข้าดอกไม้ ต้องผ่านการตรวจสอบ และได้รับใบรับรอง ตาม Plant Quarantine Law กล่าวคือจะต้องปราศจาก เชื้อโรค และ/หรือ แมลงศัตรูพืช

การค้าส่งดอกไม้โดยระบบการประมูล

การค้าส่งดอกไม้ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ดำเนินการโดยระบบประมูล ซึ่งจัดตั้งและดำเนินการตามกฎหมาย Wholesale Market Law ตลาดประมูลดอกไม้ในญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในเมืองใหญ่ และเมืองที่เป็นแหล่งผลิตดอกไม้ ตลาดประมูลดอกไม้ญี่ปุ่น มี 2 ประเภท คือ

1) Central market เป็นตลาดกลางการประมูล ที่สำนักงาน เขตหรือเทศบาลในท้องที่จดทะเบียนกับกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF) Central market สำหรับประมูลดอกไม้มีทั้งในโตเกียว เช่น ตลาด OTA และ เมืองใหญ่ อื่นๆ รวมทั้งประเทศ มีจำนวน 23 แห่ง ยอดการซื้อขายดอกไม้ผ่านตลาดประเภทนี้ในปี 2551 มีมูลค่า 155.9 พันล้านเยน ซึ่งมูลค่าการซื้อขายอยู่ในระดับนี้ตั้งแต่ปี 2545

2) Local market เป็นตลาดประมูล ที่เทศบาล สหกรณ์ หรือบริษัทเอกชน จดทะเบียนกับ Local Government ปี 2550 ตลาดประมูลดอกไม้ประเภท Local market มีจำนวน 168 แห่ง การซื้อขายดอกไม้ผ่านตลาดประเภทนี้มูลค่ารวม 297.1 พันล้านเยน โน้มลดลงจากปี 2545 ที่มีมูลค่าซื้อขาย 331.9 พันล้านเยน

ผู้เสนอขายดอกไม้ในตลาดประมูล ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร สหพันธ์หรือองค์กรของจังหวัด ผู้ผลิตในพื้นที่ที่รวบรวมผลผลิตภายในประเทศ และผู้นำเข้า ส่วนผู้ซื้อในระบบประมูล ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ซื้อในตลาด ซึ่งอาจจะเป็น Supermarket ผู้ค้าส่ง รวมทั้งร้านจำหน่าย/ผู้จัดดอกไม้ จากนั้นจะขายต่อให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อย ร้านออกแบบตกแต่ง และผู้ซื้ออื่นๆ ช่องทางการจำหน่ายดอกไม้ในระบบประมูล

การขายสินค้าในตลาดประมูลจะต้องเสียค่า Commission ประมาณร้อยละ 10 ให้แก่ ตลาดประมูลหรือ auction house

กรณีตัวอย่างตลาดประมูลดอกไม้ ที่ Ota ซึ่งเป็นตลาดประมูลดอกไม้รายใหญ่ในโตเกียว
  • บริหารงานการประมูล/ดำเนินการโดย Flower Auction Japan Inc. หรือ FAJ
  • ตั้งอยู่ที่ The Flower and Omamental Plant Department, Ota Market, the Tokyo Metropolitan Central Market 2-2-1 Tokai, Ota-ku, Tokyo 143-0001, Japan
  • มีการประมูลดอกไม้ สัปดาห์ละ 5 วัน คือ วันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ และเสาร์ วันพฤหัสบดีเป็นวันหยุด โดยจะมีสินค้าเข้าจำนวนมากในวัน จันทร์ พุธ และ ศุกร์ การประมูลเริ่มตั้งแต่เวลา 7.00 น.
  • การสมัครเป็น Supplier เพื่อเสนอขายสินค้าในตลาดประมูล FAJ ไม่มีข้อจำกัดการสมัครเข้าเป็น supplier เพียงแต่ต้องแจ้งข้อมูลตามแบบฟอร์ม ประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ สำหรับการติดต่อ เลขที่บัญชี ชื่อดอกไม้ ประเภท/มาตรฐาน จำนวนดอกไม้ที่ส่ง เป็นต้น หลังจากส่งสินค้าครั้งแรก ทางตลาดจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขาย และจะออกรหัส สำหรับผู้ขายแตล่ รายเพื่อความสะดวกในการจัดส่งครั้งต่อๆไป
  • คิดค่า Commission ร้อยละ 9.5 จาดยอดขาย ไม่รวมค่าขนส่งจากแหล่งไปยังตลาด
  • กรณีที่ supplier เป็นผู้ส่งออกจากต่างประเทศ สามารถส่งสินค้าเข้าไปตลาดได้โดยตรง แต่สินค้าเป็นไปตามกฎระเบียบ/เงื่อนไขการนำเข้า ทั้งนี้ FAJ รับดำเนินการนำเข้าตามพิธีการศุลกากร โดยคิดค่าบริการ
การค้าส่งระบบอื่น

นอกจากการค้าด้วยระบบประมูลแล้ว การค้าส่งดอกไม้ในญี่ปุ่นมีระบบอื่นอยู่บ้างได้แก่

  • Pre-ordering and pre-auction sales โดยผู้นำเข้าได้รับคำสั่งซื้อจาก auction house หรือลูกค้าก่อนการประมูล การจำหน่าย ในระบบนี้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกอาจได้รับราคาสูงกว่าระบบประมูล แต่มีข้อผูกพันที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ auction house หรือผู้ซื้อกำหนด
  • การจำหน่ายตรงแก่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่บางรายซื้อสินค้าจากผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าโดยตรง ซึ่งการจำหน่ายวิธีนี้ค่อนข้างมีจำนวนน้อย
  • ผู้นำเข้าขายแก่ลูกค้าโดยตรง ผู้นำเข้าบางรายเริ่มพัฒนาการขยายฐานลูกค้าและการขายตรง รวมทั้งการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน
แนวโน้มตลาดและรสนิยมผู้บริโภค

ผู้บริโภคญี่ปุ่นนิยมดอกไม้ สีขาว และสีอ่อนหรือสีนวล เช่น ชมพูอ่อน สีม่วงอ่อน แต่ได้เริ่มมีความสนใจดอกไม้ที่มีสีสันอื่นมากขึ้น

ตลาดญี่ปุ่นต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง พิถีพิถัน ทั้ง ความสด รูปทรง ความยาวของช่อต้องเป็นไปตามที่กำหนด

ประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยควรคำนึง
  • กล้วยไม้ Den Phalae ของไทยมีรูปแบบและคุณลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถปลูกได้ในญี่ปุ่น และ/ไม่สามารถนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ได้ จึงมีตลาดที่มั่นคง แต่ดอกไม้ชนิดอื่นยังไม่สามารถแข่งขันได้ดีในตลาดญี่ปุ่น สำหรับ Den Phalae ก็มีปัญหาผลผลิตล้นตลาดในบางช่วง ทำให้ราคาตกต่ำลง ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยควรร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยปรับปริมาณผลผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ รวมทั้งพัฒนาการส่งออกดอกไม้ชนิดอื่น และพัฒนา Den Phalae พันธุ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกดอกไม้ของไทย
  • ควรทำความเข้าใจรายละเอียด (specification) ที่เฉพาะเจาะจงของตลาด เช่น จำนวนดอกบานต่อก้าน ความยาวของก้าน ให้ตรงตามที่กำหนด นอกจากนี้ รายการ/จำนวนของดอกไม้ที่ระบุในเอกสารสำหรับดำเนินการตามพิธีการศุลกากร และการตรวจสอบ ต้องตรงกับจำนวนสินค้าที่จัดส่งอย่างเคร่งครัด
  • การควบคุมคุณภาพและรักษาความสดเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศมีข้อเสียเปรียบดอกไม้ที่ผลิตในประเทศในด้านความสด อันเนื่องจากการขนส่ง และในการประมูลดอกไม้จะมีการเปิดกล่องดอกไม้ของผู้ผลิตรายละ 1 กล่อง หากพบความเสียหายก็จะส่งผลต่อราคาดอกไม้ที่ส่งเข้าประมูลทั้งจำนวนให้ตกลงได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ