“Leap to the Global Market” Contest กลยุทธ์การผลักดัน SME ออกไปเปิดกิจการในต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 14:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อาหารญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก และแนวโน้มธุรกิจ franchise ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวันของประเทศต่างๆ ทำให้ธุรกิจภัตตาคารเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อม ๆ กับได้สร้างโอกาสและช่องทางขยายการค้าให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการภัตตาคารของญี่ปุ่นที่ต่างก็มองหาช่องทางขยายสาขาออกไปลงทุนในต่างประเทศ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจผันแปร ประชากรญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดต่ำลง ความจำเป็นต้องขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ นอกประเทศก็ยิ่งมีมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็หันมาใส่ใจและเข้ามาส่งเสริมธุรกิจภัตตาคารในต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริม แนะนำอาหารญี่ปุ่นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของเอกชนของญี่ปุ่นที่ร่วมมือกันจัดทำกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและค้นหาดาวรุ่งในวงการธุรกิจภัตตาคารเพื่อนำมาเข้าหลักสูตรติวเข้ม และผลักดันให้ออกไปเปิดกิจการในต่างประเทศ โครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “Leap to the Global Market” Contest จัดขึ้นโดยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานและองค์กรของญี่ปุ่น ประกอบด้วย Food and Drink Organization of Small and Medium-sized Enterprises Co., Ltd.(Tokyo, Japan); Incubator Bank of Japan; NIS Group Co., (บริษัทที่ปรึกษาและให้สินเชื่อรายย่อย) ; A —Jungle Co., Ltd. และ Venture Link Co., Ltd. (International recruiting company) ทำงานร่วมกันในลักษณะคณะกรรมการ และได้จัดกิจกรรมการแข่งขันประกวดรูปแบบธุรกิจ (Business Model) โดยเปิดรับสมัครผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารของญี่ปุ่น ที่สนใจและคิดว่ามีความพร้อมจะออกไปเปิดธุรกิจภัตตาคารในต่างประเทศ

โครงการแข่งขันนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มภัตตาคารที่ประสบความสำเร็จในแต่ละท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่นสนใจลงสมัครเข้าแข่งขันเป็นจำนวนถึง 112 บริษัท คณะกรรมการกำหนดให้บริษัทที่เข้าแข่งขันส่งแผนธุรกิจและรูปแบบภัตตาคารที่ต้องการเปิด แผนงานและอื่นๆ การคัดเลือกรอบแรก คณะกรรมการจะพิจารณาจากแผนธุรกิจ ที่มีแผนงานชัดเจน และมีความเป็นไปได้ 10-12 อันดับแรก เพื่อลงแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ การตัดสินรอบสุดท้าย แต่ละบริษัทจะได้รับพื้นที่คูหาออกร้าน และลงมือปรุงอาหารที่ต้องการขายจริงๆ มีการเชิญผู้แทนส่วนราชการของต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดเป้าหมายที่ผู้ลงแข่งขันสนใจ มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินด้วย

การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ที่ Meiji Cooking School มีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกจากรอบแรกเข้าแข่งขันรวม 11 บริษัท ซึ่งทุกรายเป็นภัตตาคารชื่อดังของจังหวัดต่างๆ ชนิดอาหารก็หลากหลาย มีทั้งที่เป็นอาหารญี่ปุ่นแท้ เช่น Takoyaki และ Dorayaki; Okanomiyaki; Shushi roll; Ramen; Shanko nabe ขนมหวานญี่ปุ่น อาหารที่ดัดแปลง เช่น Curry rice, Curry soup และอาหารต่างชาติ เช่น อาหารจีน เกาหลี และสปาเก็ตตี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นภัตตาคารที่มีสาขาแล้วในหลายจังหวัดของญี่ปุ่น บางบริษัทมีสาขาอยู่แล้วในต่างประเทศ

คณะกรรมการจัดงานได้เชิญตัวแทน ที่เป็นหัวหน้าสาขาในต่างประเทศของบริษัทผู้จัดงาน ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่ผู้เข้าแข่งขันระบุว่าสนใจจะออกไปลงทุน และนักศึกษาต่างชาติ เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินด้วย เพราะต้องการรับฟังความคิดเห็นของชาติต่างๆ ที่อยู่ในวัยและประสบการณ์หลากหลายเพื่อความเป็นสากล ซึ่งประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ภัตตาคารญี่ปุ่นสนใจ ประเทศอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐ จีน เวียดนาม และรัสเชีย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย การให้คะแนนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การนำเสนอแผนการลงทุน โดยใช้ power point presentation บริษัทละ 20 นาทีเพื่อนำเสนอ อาหาร รูปแบบภัตตาคารและบริการ ปรัชญาการทำงาน และแผนธุรกิจ และ (2) การชิมรสชาด และpresentation ของอาหาร

ชาวญี่ปุ่นโดยพื้นฐานชอบการแข่งขันอยู่แล้ว เมื่อมีเวทีให้ประลองฝีมือ มีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจพร้อมๆ กับได้พี่เลี้ยงที่เป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษา มีบริษัทเงินทุนที่พร้อมจะให้กู้และสนับสนุนก็ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้นำความฝันที่สร้างไว้มาสู่ความเป็นจริง ผู้ที่เข้าแข่งขันจึงทำการบ้านมาอย่างดี จึงสามารถการนำเสนอแผนธุรกิจได้ชัดเจน ทั้งรูปแบบภัตตาคาร ชนิดอาหาร วิธีการทำงาน เป้าหมายเมืองที่ต้องการเปิด และแผนขยายสาขาในระยะ 5-10 ข้างหน้า ผลการตัดสินคณะกรรมการได้คัดเลือก ดังนี้

  รางวัล                บริษัท และสินค้า                              รางวัลที่ได้รับ
รางวัลที่ 1         บริษัท : Door Co., Ltd. จากHokkaido           - เงินรางวัล 1,000,000 เยน

สินค้า : Seafood Curry Soup ซุปอาหารทะเล - เงินทุนเบื้องต้นสำหรับการเปิดสาขาแรกในต่างประเทศ

                 สไตล์เครื่องเทศอินเดีย เป้าหมายตลาดในสหรัฐฯ        - ให้บริการที่ปรึกษาลงทุนฟรีเป็นระยะ 1 ปี

สำหรับการทำโครงการลงทุน

รางวัลชมเชย       บริษัท Liz Pro Co., Ltd. จาก โอซากา           - เงินรางวัล 100,000 เยน
 2 รางวัล         สินค้า Sushi Roll สนใจตลาดสหรัฐฯ               - บริหารให้คำปรึกษาเพื่อขยายสาขา
                 บริษัท Mura Japan Co., Ltd. จาก Shizuoka        เมืองใหญ่ของประเทศ

สินค้า ขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่น

ข้อสังเกตุและความเห็น

1. การแข่งขันครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้เห็นว่ามีร้านค้าและภัตตาคารจำนวนมากที่สนใจ และวางแผนจะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ สิ่งที่ทุกรายนำเสนอเหมือนกันคือ อาหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารและส่งเสริมความเข้าใจกับต่างประเทศ จุดขายสำคัญคือ ความจริงใจและมุ่งมั่นให้สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค

2. การนำผู้แทนหน่วยราชการ และนักศึกษาต่างชาติมาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งมีจำนวนรวมมากกว่า 50 คน นอกจากจะทำให้บรรยากาศของงานดูเป็นทางการ น่าเชื่อถือแล้ว การให้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้ได้รับทราบความเห็น มุมมองเรื่องรสชาด ชนิดอาหาร ที่จะเหมาะสมกับแต่ละตลาดด้วย ดังนั้นชนิดอาหารที่ นำเสนอของบริษัทที่ได้รับชนะเลิศ และที่ได้รางวัลชมเชย จึงเป็นอาหารญี่ปุ่นแบบ fusion ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับรสนิยมผู้บริโภคที่เป็นต่างชาติมากกว่าที่เป็นอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ แสดงถึงความใจกว้าง และคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มากกว่าการยึดติดกับรสชาด และข้อจำกัดว่าต้องเป็นอาหารประจำชาดแท้ๆ

3. ความสำคัญของการชนะการประกวด นอกจากเงินรางวัล 1,000,000 เยน แล้ว สิ่งที่ทุกบริษัทต้องการคือ การได้ที่ปรึกษการลงทุน ซึ่ง Incubator Bank of Japan ยืนยันว่าจะช่วยเหลือทุกวิถีทาง รวมทั้งการให้กู้เงินทุน แก่บริษัทเพื่อให้จัดตั้งสาขาในต่างประเทศอย่างน้อย 1 แห่ง

ส่วนบริษัทที่ได้รับรางวัลชมเชย 2 บริษัท ซึ่งมีภัตตาคารอยู่ในจังหวัดโอซากา และ ชิซึโอกะ คณะกรรมการจัดงานประกาศว่า ก่อนจะขยายสาขาออกไปต่างประเทศ บริษัทควรพิจารณาเปิดสาขาในโตเกียวซึ่งเป็นเมืองใหญ่ก่อน โดย Incubator Bank of Japan และองค์กรที่ร่วมจัดกิจกรรม ก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ

4. เชื่อว่าทั้ง 11 บริษัทที่เข้าแข่งรอบชนะเลิศนี้ มีความสามารถบริหารจัดการและในที่สุดคงออกไปเปิดกิจการในต่างประเทศ การแข่งขันจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ที่ผลักดัน ช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยให้เตรียมความพร้อม ก่อนออกไปทำธุรกิจได้จริงเป็นรายๆ ไป เป็น พัฒนาการจาก SME ที่ออกไปเติบโต และประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาเป็นนักลงทุนทำธุรกิจการผลิตและกระจายสินค้าในตลาดระหว่างประเทศ ความสำเร็จของ SME ที่จะพัฒนาไปสู่ International investor และ Trading firm จึงประกอบด้วยหลายๆ ปัจจัยที่เกื้อกูลกัน การสนันสนุน และช่วยเหลือของภาครัฐและองค์กร เอกชนนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นก้าวเดินออกสู่ตลาดสากล ซึ่งประเทศไทยก็น่าจะพิจารณาใช้เป็นแบบอย่าง และทำให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่องเป็นการสร้างและบ่มเพาะผู้ประกอบการเช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ