ภาวะตลาดรองเท้าในเนเธอร์แลนด์การปรับตัวและแนวโน้มช่วงเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 23, 2009 12:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีประชากรประมาณ 16.5 ล้านคน นับเป็นตลาดรองเท้า ขนาดใหญ่อันดับ 6 ของสหภาพฯ (สมาชิก 27 ประเทศ) รองจากเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และสเปน

1. การบริโภค/ซื้อหา หน่วยงาน CBI เนเธอร์แลนด์รายงานว่า ในปี 2549 ตลาดรองเท้าเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่า 2,413 ล้านยูโร (ประมาณ 3,379.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือเท่ากับปริมาณรองเท้าประมาณ 70 ล้านคู่

ในแต่ละปีชาวดัชท์จะซื้อหารองเท้าเป็นเงินเฉลี่ยประมาณ 148 ยูโร (ประมาณ 207.25 เหรียญฯ) ซึ่ง มีอัตราสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของสหภาพฯ โดยรวม ปีละ 102 ยูโร (ประมาณ 142.83 เหรียญฯ) หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 45.09

รสนิยมผู้บริโภคดัชท์เน้นและให้ความสนใจแนวโน้มแฟชั่น รูปแบบ พร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์และการสวมใส่ ที่สบาย (sensitive to fashion trends and style…should be practical …and regards comfort most highly)

ช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และกันยายน เป็นช่วงที่ผู้บริโภคนิยมซื้อหารองเท้าใหม่ ซึ่งเป็นช่วงใกล้ฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วงตามลำดับ และเป็นช่วงที่สินค้าใหม่สำหรับฤดูดังกล่าวออกวางตลาด ร้านค้าปลีกจะจัด display มีสีสรรมากขึ้น

Euromonitor คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2549-2554 ตลาดรองเท้าเนเธอร์แลนด์จะมีการขยายตัวด้าน ปริมาณเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยรองเท้าเด็กจะขยายตัวประมาณร้อยละ 50 ของอัตราดังกล่าว เมื่อคิดเป็นมูลค่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3

2. การแบ่งส่วนตลาด (market segmentation) แบ่งได้ดังนี้

2.1 โดยทั่วไปแบ่งตามเพศ (by gender) รองเท้าสตรีจะมีส่วนแบ่งมากที่สุดมีมูลค่า 1,400 ล้านยูโร (ประมาณ 1,960.55 ล้านเหรียญฯ) คิดเป็นร้อยละ 58.01 ของมูลค่ารวม 2,413 ล้านยูโร(ประมาณ 3,379.14 ล้านเหรียญฯ ดังข้างต้น) รองเท้าชายมูลค่า 637 ล้านยูโร (ประมาณ 892.04 ล้านเหรียญฯ) คิดเป็นร้อยละ 26.39 และรองเท้าเด็กมูลค่า 376 ล้านยูโร (ประมาณ 526.54 ล้านเหรียญฯ) คิดเป็นร้อยละ 15.58 ทั้งนี้ รองเท้าสตรีมี อัตราการซื้อหาที่แปรเปลี่ยนสูงที่สุดเช่น สัปดาห์ก่อนซื้อรองเท้าที่ลดราคา สัปดาห์นี้ซื้องรองเท้าแบรนด์เนมชื่อดัง

2.2 แบ่งตามประเภทรองเท้า (type of footwear) ได้แก่ casual footwear ร้อยละ 47 ของ ตลาด formal footwear ร้อยละ 28 sports footwear ร้อยละ 20 และ evening footwear ร้อยละ 4 ส่วนการแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์นั้นไม่สำคัญนัก เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก

3. การผลิต อุตสาหกรรมการผลิตของเนเธอร์แลนด์มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกฯ อื่นๆ โดย เน้นผลิตรองเท้าคุณภาพสูงในปี 2549 มีการผลิตมูลค่า 82 ล้านยูโร (ประมาณ 114.83 ล้านเหรียญฯ) มีการผลิตมูลค่า ลดลงร้อยละ 26.78 เมื่อเทียบกับปี 2545 คิดเป็นอัตราลดลงเฉลี่ยร้อยละ6.69 ผู้ผลิตที่ยังประกอบการอยู่จะเน้น ความพิเศษและคุณภาพสูงเช่น

3.1 Durea BV มีการผลิตในประเทศบ้าง และสั่งมาจากอินเดีย ตูนีเซีย

3.2 Schoenfabriek Wed J.P. van Bommel ผลิตรองเท้าชายประเภท formal footwear คุณภาพสูง

3.3 Verhulst ผลิตรองเท้าใส่สบายและคุณภาพสูงสำหรับผู้สูงอายุ

3.4 Van Lier ผลิตรองเท้าชายประเภท classic และ outdoor คุณภาพสูง

3.5 Loints ผลิตรองเท้าหนัง natural tanned leather อย่างไรก็ตาม นับวันอุตสาหกรรมการ ผลิตภายในนี้จะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากมีต้นทุนสูงโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน และเพื่อความอยู่รอด จึงจำเป็นต้องเน้น ความเชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และค่าแตกต่าง (margin) ที่สูง ทั้งสั่งผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จากทวีปเอเชีย โดยยังคงการออกแบบและความเชี่ยวชาญไว้ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุนผลิตรองเท้าใน โปแลนด์ด้วย ซึ่งแม้จะเป็นประเทศสมาชิกสหภาพฯ แต่ต้นทุนยังถูกกว่าผลิตในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากมีอัตราค่าครองชีพ และค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า

4. โอกาสและความเสี่ยง

4.1 การขยายตัวของตลาดรองเท้าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มสาขา outlet รองเท้าที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มความต้องการและให้มีแบบใหม่ยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้ค้าปลีกเปลี่ยนช่วงระยะ (range) ได้มากขึ้นจาก 2 ครั้งต่อปี เป็น 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี

4.2 ชาวดัชท์เป็นผู้บริโภคที่เปิดใจยอมรับสินค้าและแนวคิดใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็วิจารณ์ติชมเก่ง (very critical)

4.3 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศ gateway ของสินค้าเข้าสู่สหภาพฯ 27 ประเทศ และประเทศใกล้เคียง จึงนับเป็นช่องทางที่จะเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ด้วย

4.4 ปัจจุบันการใช้ internet เป็นที่นิยมมาก มีการใช้ในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ รวมทั้งรองเท้า ซึ่งช่วย ให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสินค้าหลายยี่ห้อ และสามารถเปรียบเทียบราคาได้ ทั้งนี้ การขายตรงก็ยังมีความเป็นไปได้

4.5 เนเธอร์แลนด์มีตลาดค้าปลีกที่โตเต็มที่ การผลิตภายในขนาดเล็กพึ่งพาการนำเข้าและมีการ re-export มาก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา โดยต้องพิจารณาและทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงความแตกต่าง กลไก การเชื่อมโยงกับประเทศอื่นที่จะส่งสินค้าต่อไปในที่สุด (ultimately destined)

4.6 รองเท้าที่ใช้วัสดุที่ผลิตจากยาง พลาสติกและสิ่งทอมีการขยายตัวรวดเร็วกว่ารองเท้าหนัง

4.7 รองเท้าแฟชั่นมีการขยายตัวสูง ถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาที่จะผลิตในราคาที่ ต้องการ (at the prices demand) แต่ก็มีความเสี่ยงและไม่ควรนิ่งนอนใจ หากไม่สามารถส่งสินค้าและเปลี่ยนการ ผลิตได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับตลาดแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลง

4.8 รองเท้าจากประเทศกำลังพัฒนาต้องมีราคาที่ไม่สูงและแข่งขันได้ โดยไม่ควรจำหน่ายสินค้าที่ได้รับส่วน แตกต่าง (margin) น้อยในระยะยาว เพราะจะไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

5. โครงสร้างราคา จะเห็นได้ว่ามีการแข่งขันสูง ส่วนแตกต่างน้อย โดยการนำเข้าจากประเทศกำลัง พัฒนาจะมีส่วนแตกต่างสูงกว่าราคาเฉลี่ยประมาณ 8.92 ยูโร (ประมาณ 12.49 เหรียญฯ) เล็กน้อย และมีแนวโน้มที่ จะซื้อรองเท้าราคาต่ำมากขึ้น

โอกาสยังมีสำหรับรองเท้าแบรนด์เนมเดิมที่ปรับปรุงการผลิตและออกแบบใหม่เช่น รองเท้ากีฬายี่ห้อ Quick กลับมาได้รับความนิยมใหม่

6. การนำเข้าและส่งออก ในปี 2551 เนเธอร์แลนด์นำเข้ารองเท้า (รหัส 640399 : Footwear, Outer sole rubber etc. & leather upper) มูลค่า 923.78 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ -14.31 เมื่อเทียบ กับปีก่อนหน้าโดยนำเข้าจาก 10 แหล่งแรกได้แก่ จีน (ส่วนแบ่งการนำเข้าร้อยละ 21.39) เบลเยี่ยม(ร้อยละ 11.48) เยอรมนี (ร้อยละ 10.09) เวียดนาม (ร้อยละ 9.64) อิตาลี (ร้อยละ 9.03) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 4.49) อินเดีย (ร้อยละ 3.35) ไทย (ร้อยละ 1.46) ฮ่องกง (ร้อยละ 1.27) และมาเก๊า (ร้อยละ 0.52) สรุปได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การนำเข้ารองเท้าของเนเธอร์แลนด์จากแหล่งสำคัญ 10 อันดับแรก
    รหัสสินค้า                                 การนำเข้ารวม                      10 ประเทศแรกที่เนเธอร์แลนด์นำเข้ามากปี 2551
                                    มูลค่า           อัตราเปลี่ยนแปลง            ประเทศ & มูลค่า             อัตราฯ      ส่วนแบ่ง
                                 (ล้านเหรียญฯ)           (+/-%)                                         (+/-%)       (%)
640399 ( Footwear, Outer Sole      923.78               -14.31        จีน                    197.62    -21.80      21.39
Rub Etc & Leather Upper)                                              เบลเยี่ยม               106.04    -31.45      11.48
                                                                      เยอรมนี                 93.24    -11.30      10.09
                                                                      เวียดนาม                89.05     -4.76       9.64
                                                                      อิตาลี                   83.37     12.68       9.03
                                                                      อินโดนีเซีย (อันดับ 8 )     41.51    -18.71       4.49
                                                                      อินเดีย (อันดับ 9 )        30.96     15.09       3.35
                                                                      ไทย ( อันดับ 13)         13.52    -27.29       1.46
                                                                      ฮ่องกง ( อันดับ 16 )      11.70     -0.15       1.27
                                                                      มาเก๊า (อันดับ 19 )        4.81    -60.07       0.52

การส่งออก - เนเธอร์แลนด์ส่งออกไป 4 ประเทศแรกได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี และฝรั่งเศส

การนำเข้าจากไทย ในช่วงปี 2550-2551 และช่วง 4 เดือนแรก(มกราคม-เมษายน) ปี 2552 สรุปได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การนำเข้ารองเท้าและชิ้นส่วนจากไทย

(หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

   ประเทศ                   ปี 2550     ปี 2551     +/-(%)  ม.ค.-เม.ย.2552   +/-(%)*
สหภาพยุโรป 27 ประเทศ          396.7      377.8     -4.77       105.2        -11.30
เบลเยี่ยม                       93.9       76.1    -18.81        20.0        -29.18
อังกฤษ                         70.4       53.7    -23.71        18.2          1.55
เนเธอร์แลนด์                    43.9       39.9     -9.18         9.9        -23.99
เยอรมนี                        23.9       24.6      3.22         5.2        -36.01
* เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551

7. การปรับตัวและแนวโน้มในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในภาพรวมปัจจุบัน

7.1 ผู้บริโภคจะใช้จ่ายน้อยลง ในเดือนมีนาคม 2552 ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การซื้อหา สินค้าทนทานเช่น รถยนต์ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 9 ผู้บริโภคจะออมเงินมากขึ้น โดย ในไตรมาสแรก(มกราคม-มีนาคม) ปี 2552 ออมเงินรวม 8 พันล้านยูโร (ประมาณ 11,203.12 ล้านเหรียญฯ) เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันปี 2551

7.2 ผู้ค้าปลีกเช่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง(รองเท้า กระเป๋า) ฯลฯ ต้องปรับกลยุทธกระตุ้นการขายด้วยการจัด pre-sale ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วง sale ประจำปี (ใน 1 ปีจะ sale 2 ช่วงได้แก่เดือน มกราคม และกรกฎาคม)

7.3 ภาวะตลาดกลายเป็น buyers’ market มากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเช่น เลื่อนช่วงการซื้อ/ไม่รีบร้อน มีความระมัดระวังและซื้อจำนวนน้อยลงแต่เน้นความคุ้มค่า หรือที่เรียกว่า “buy less, but buy better” ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีผลดีต่อผู้บริโภคผู้ส่งออกจำเป็นต้องลดราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่พอคุ้มทุนและอยู่ได้ (just barely covering costs and operating on break-even levels)

7.4 ความอยู่รอดของผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นผู้ที่ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมายผลิตสินค้าสำหรับ ผู้บริโภคฐานะดีในตลาดบน อย่างไรก็ตามในภาพรวมต้องปรับกลยุทธ เช่น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (เช่น GSP : Generalised System of Preferences) ของสหภาพฯ และประเทศ พัฒนาอื่นๆ ทั้งนี้อาจมีปัญหาในความคล่องตัวด้านการเงิน (liquidity) credit การชำระค่าสินค้า ฯลฯ ทั้งนี้ ควร ใช้โอกาสนี้ในการ re-distinguish จากคู่แข่งรายอื่นเช่น รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายเล็กหรือรายที่เดิมไม่สามารถผลิตให้ได้ เนื่องจากถูกผู้ซื้อ/นำเข้ารายใหญ่สั่งซื้อจนเต็มกำลังการผลิตลดกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการสั่งซื้อแต่ละครั้งเช่น จากเดิมจะรับ คำสั่งซื้อสินค้าจำนวน 1 หมื่นคู่ เป็น 5 พัน-7 พันคู่

7.5 มีแนวโน้มว่าผู้ซื้อในเนเธอร์แลนด์และประเทศพัฒนาอื่นๆ จะแสวงหาแหล่งผลิตที่ non-traditional sources มากขึ้น เพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกกว่าและซื้อในปริมาณน้อยลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ