มุมมองของฮ่องกงต่อผลกระทบการเปิดเสรีการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เป็นเวลากว่า 5 ปี (29 มิถุนายน 2547) ที่มีการลงนามความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกง (Closer Economic Partnership Arrangement: CEPA ) ซึ่งความตกลงดังกล่าวถือเป็นการเปิดเสรีทางการค้าครั้งแรกระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ยังประโยชน์ให้ฮ่องกงเป็นอย่างมาก อาทิทำให้มูลค่าการส่งออกฮ่องกงไปจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2551 (539 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในปี 2547 สร้างงานให้คนฮ่องกงเพิ่มขึ้นประมาณ 43,200 ตำแหน่ง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนฮ่องกงสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในฮ่องกงเพิ่มขึ้น เป็นเงินกว่า 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากการลงนามร่วมมือเพิ่มเติมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 9 พค.ที่ผ่านมา ทำให้เปิดเสรีทางการค้าในธุรกิจบริการ ครอบคลุมเพิ่มขึ้นอีก 20 ธุรกิจบริการ (รวมครอบคลุมสินค้าและบริการทั้งสิ้น 42 กลุ่มธุรกิจ) จึงคาดได้ว่าการค้าขายระหว่างกันของจีนและฮ่องกงจะขยายเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ CEPA ช่วยในการขยายโอกาสทางธุรกิจให้ฮ่องกงเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันฮ่องกงก็มองว่าเป็นภัยคุกคามเช่นกัน และจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐให้เท่าทัน เพราะปัจจุบันความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่มีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ความจำเป็นของฮ่องกงในการเป็นหน้าต่างหรือสะพานเชื่อมสู่จีนก็จะลดน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ CEPA ขยายออกไป บริษัทที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการในฮ่องกงก็จะหันไปที่จีนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการพัฒนาของฮ่องกงในระยะยาว

ถึงเวลาที่ต้องเป็น ผู้รุก (proactive)

CEPA จะได้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย มากกว่าที่ประโยชน์ส่วนใหญ่จะกับฮ่องกงเหมือนที่ผ่านมาในช่วงแรก อาทิ การอนุญาตผู้ให้บริการด้านการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ สามารถมาดำเนินกิจการในฮ่องกงได้ และการเริ่มนำ กองทุนเปิด ETF เข้ามาในจีน จะช่วยเสริมตลาดทุนของเซี้ยงไฮ้ ให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศจีนที่ต้องการพัฒนาให้เซี้ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับบริการสาขาอื่นๆ เช่น การประกันภัย โทรคมนาคม การศึกษา โสตทัศน์ บริการด้านสื่อต่างๆ ยังไม่มีมาตราการที่เป็นรูปธรรม

ผู้รู้ในจีน มักกล่าวว่าจีนได้เปิดประตูกว้างขึ้นเพื่อดึงดูดนักธุรกิจฮ่องกง แต่ปัจจุบัน ถ้าจะให้ได้ประโยชน์จากการเข้าไป ผู้ประกอบการฮ่องกงจำเป็นต้องเดินไปเคาะประตูและต้องมั่นใจว่ามีการเตรียมการที่ดีพอต่อการเข้าตลาดจีน เพราะกฎระเบียบในแต่ละเมืองแต่ละมณฑลก็ยังยุ่งยากและไม่คล่องตัว แม้นักธุรกิจส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับหลักการนี้ แต่ในความเป็นจริงหลายครั้งก็จะพบว่า นักธุรกิจฮ่องกงมักเป็นฝ่ายตั้งรับ และชินกับประตูที่ถูกเปิดมากไป ทำให้ไม่ได้ประโยชน์อย่างที่ควรเป็น

บริการด้านการเงิน ยังเป็นจุดแข็งของฮ่องกง และต้องเสริมให้แกร่งขึ้น

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองต่างๆ ในจีน ทำให้ข้อได้เปรียบของฮ่องกงด้านการค้าและบริการด้านลอจิสติกส์ลดลง แม้จะยังพอมีโอกาสสำหรับด้านการท่องเที่ยว และเมื่อวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกง (การค้า การบริการด้านลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว การเงิน บริการด้านวิชาชีพเฉพาะและการผลิต) แล้ว ภาคการเงินดูเหมือนจะยังมีศักยภาพดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จาก CEPA ในปัจจุบัน

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ จีนต้องการเงินทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ตลาดทุนในจีนยังไม่พร้อมที่จะรองรับ ฮ่องกงจึงเป็นแหล่งระดมเงินทุนจากต่างประเทศที่เหมาะสมที่สุดของจีน แต่อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปจีนเริ่มพัฒนาช่องทางในการระดมเงินทุนและมีการขยายการลงทุนของตนเองอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้บทบาทด้านการเงินของฮ่องกงเริ่มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ฮ่องกงจะต้องหามาตรการในการรับมือ โดยต้องพัฒนาสินค้าและบริการด้านการเงินใหม่ๆ เพื่อนำเสนอต่อตลาด เช่น ตราสารอนุพันธ์ แหล่งเงินกู้อื่นๆ ฯลฯ

ในที่สุดฮ่องกงก็จะรวมอยู่ในภูมิภาค Pearl River Delta: PRD

มาตรการในข้อตกลงเพิ่มเติม CEPA ครั้งที่ 6 นี้ จะเริ่มใช้นำร่อง ณ เมืองกวางโจวเป็นแห่งแรก โดยจะประกอบด้วยการเปิดเสรี ด้านกฎหมาย การจัดนิทรรศการและการประชุม การเงิน บริการสาธารณะ ซึ่งจะสอดคล้องไปกับทิศทางยุทธศาสตร์หลักของจีนภายใต้กรอบแผนพัฒนาและปฏิรูป เมืองและเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาค Pearl River Delta: PRD และเป็นสัญญาณชัดเจนแล้วว่าการจับมือกันระหว่างฮ่องกงกับกวางโจว ในการพัฒนาและขยายธุรกิจบริการ กำลังจะเริ่มเดินเครื่องแล้ว

Lord Mervyn Davies รมต.การค้าและลงทุน แห่งสหราชอาณาจักร ได้ให้ทัศนะในฐานะ คนนอกมองเข้ามาว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ อนาคตฮ่องกงจะต้องเป็นเขตเศรษฐกิจหนึ่งภายในกลุ่ม PRD และด้วยเหตุนี้จีนจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ดังนั้นฮ่องกงจึงจำเป็นต้องพยายามเข้ามามีบทบาทหลักสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์นี้ ก่อนที่จะถูกทิ้งไว้ในฐานะผู้สังเกตุการณ์

การรับมือของฮ่องกง

ทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลางและยาวของฮ่องกง ได้มีการกำหนดแล้วว่าการรวมกลุ่มในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำเพิร์ล PRD การพัฒนาบริการด้านการเงินใหม่ และพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางใหม่ (Knowledge based Economy, Creative Economy, Green Economy) จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้กับฮ่องกง อย่างไรก็ตามทางการฮ่องกงประกาศว่าจะพิจารณาอย่างละเอียดถึง 6 ธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์โดยตรงจาก CEPA เพื่อหาทางพัฒนาการใช้ประโยชน์ให้เพิ่มขึ้นและยั่งยืนต่อไป

และปัจจุบัน ฮ่องกงได้ผลักดันให้รัฐบาลจีนส่งเสริมบทบาทของฮ่องกง โดยเสนอให้จีนบรรจุแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ 6 สาขา ได้แก่ การตรวจสอบและออกใบรับรอง การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม การบริการเชิงความคิดสร้างสรรค์ และนวตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งฮ่องกงถือว่าเป็นจุดแข็งของตนไว้ในแผนพัฒนาแห่งชาติของจีน ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) ด้วย รวมทั้งการส่งเสริมให้ฮ่องกงมีบทบาทหลักในการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล

สคต.ฮ่องกง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ฮ่องกง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ