รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าของสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 1-15 มิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 10, 2009 12:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ก. ภาวะเศรษฐกิจ/การค้าทั่วไป

1. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2552 มีอัตราเพิ่มขึ้น นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เนื่องจากมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ มี PMI (Purchasing Managers’ Index) อยู่ที่ 52.9 (เมษายน 51.6) นับเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ดีซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับฟื้นตัวได้

2. การส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ไปยังออสเตรเลียดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินเหรียญออสเตรเลียมีอัตราสูงขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญออสเตรเลีย เท่ากับ 1.186 เหรียญสิงคโปร์ (วันที่ 4 มิถุนายน 2552) เป็นอัตราที่สูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 และอัตราแลกเปลี่ยนต่ำสุดในเดือนตุลาคม 2551 เพียง 91.58 เซนต์(สิงคโปร์) ทั้งนี้ ทำให้สินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลียมีราคาสูงขึ้น

3. ภาคการบริการขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรก(มค.-มีค.) ของปี 2552 โดย Business Receipts Index ลดลงร้อยละ 3.3 บริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ ด้านการขนส่ง และคลังสินค้า มีอัตราลดลง ร้อยละ 17.7 รองลงมา ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ การให้บริการธุรกิจสารสนเทศ และการสื่อสารยกเว้นการศึกษา และ การบริการการเงิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 และ 9.6 ตามลำดับ)

4. Monotery Authority of Singapore (MAS) ได้สอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2553 ปรากฎผลคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4.2 (เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ร้อยละ 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2552)

5. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 (มค.-มีค.) ของปี 2552 โดยมีการซื้อ-ขาย 2,824 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (2,638 หน่วย) ร้อยละ 7.05 หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 (1,461 หน่วย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.2 ทั้งนี้ คนต่างชาติที่ซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกคิดเป็นร้อยละ 6.2

6. ตลาดสินค้า PC ในสิงคโปร์ยังคงสดใส จากงานแสดงสินค้า PC Show ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2552 มีผู้เข้าชมงานถึง 1.13 ล้านคน (ปี 2551 ผู้เข้าชมงาน 1.1 ล้านคน) ประมาณรายได้กว่า 50 ล้านเหรียญสิงคโปร์ สินค้าใหม่ที่เปิดตัวในงาน คือ iNo mobile phone เป็นมือถือที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งมีแป้นกดขนาดใหญ่กว่าธรรมดา 3 เท่า และมีปุ่มกด SOS แจ้งข้อความขอความช่วยเหลือไปยังหมายเลขโทรศัพท์ 4 สายได้อัตโนมัติ ทั้งนี้ ผลตอบรับจากการเยือนงานฯทำให้คาดการณ์ได้ว่า ความต้องการสินค้าอิเล็คทริค/อิเล็คโทรนิกส์ ยังมีศักยภาพดี และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

7. นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง ได้แสดงความเห็นในการประชุม ASEAN-South Korea Summit ในประเทศเกาหลีใต้ ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังไม่กลับฟื้นตัวได้ในระยะใกล้นี้ แม้ว่า สหรัฐฯได้ประกาศความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวโดยเร็ว แต่สภาวะในปัจจุบัน เศรษฐกิจยังคงถดถอยอยู่ เพียงแต่เป็นไปอย่างเชื่องช้า สังเกตเห็นได้ยาก ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า หากทุกประเทศออกกฎให้ซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำไปอีก ดังนั้น ขอให้ทุกประเทศเปิดตลาดการค้าเสรีซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการช่วยสนับสนุนให้ทุกประเทศฟื้นตัวและมีการเจริญเติบโต อนึ่ง ในปี 2551 เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 7 ของสิงคโปร์ มีมูลค่าการค้ารวม 42,652.83 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.6

8. จากการสำรวจของ UPS Asia Business Monitor แสดงให้เห็นถึงการคาดหวังของบริษัท SMEs ในสิงคโปร์ เกี่ยวกับการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2552 โดย ร้อยละ 87 คาดว่า เศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ร้อยละ 9 คาดว่า คงที่ และร้อยละ 4 คาดว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น หากเปรียบเทียบกับปี 2551 เป็นร้อยละ 59, 35 และ 6 ตามลำดับ

9. การค้า-ขาย on-line มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในสิงคโปร์ ในปี 2551 ผู้ซื้อสิงคโปร์จ่ายเงินโดยเฉลี่ย 5,868 เหรียญสิงคโปร์ มากกว่าผู้ซื้อในประเทศฮ่องกง (5,538 เหรียญฯ) อินเดีย (5,029 เหรียญฯ) ญี่ปุ่น (4,341 เหรียญฯ) เกาหลีใต้ (3,610 เหรียญฯ) และออสเตรเลีย (3,478 เหรียญฯ) สินค้าที่สั่งซื้อ on-line ได้แก่ บัตรโดยสารเครื่องบิน (ร้อยละ 38) ห้องพักโรงแรม (ร้อยละ 18) บริษัททัวร์ (ร้อยละ 17) รถยนต์/รถมอเตอร์ไซด์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 6) และบัตรโดยสารอื่นๆ (ร้อยละ 5)

10. สิงคโปร์มีแผนการจัดให้ประเทศเป็นศูนย์การค้า/การเงินและโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรม metals and minerals ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน โดยปัจจุบันมีบริษัท 41 รายเป็นตัวแทนของบริษัทนานาชาติในสิงคโปร์

11. จากการสำรวจของ EAC International สิงคโปร์เป็นอันดับ 10 ที่มีอัตราค่าครองชีพสูง ซึ่งอันดับ 1 คือ Tokyo รองลงมาได้แก่ Nagoya, Yokohama, Kobe, Beijing, Shanghai, Hong Kong, Shenzhen และ Guangzhou

ข. ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1. สิงคโปร์กับตุรกีประธานาธิบดีสิงคโปร์ Mr. S R Nathan ได้เดินทางเยือนประเทศตุรกี และได้ หารือกับประธานาธิบดีตุรกี Mr Abdullah Gul เกี่ยวกับความร่วมมือในการป้องกันผู้ก่อการร้าย รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า ซึ่งสิงคโปร์เป็นประตูสู่ตลาดเอเชีย และตุรกีเป็นประตูสู่ตลาดยุโรปและเอเชียกลาง อนึ่ง ได้มีการลงนามความร่วมมือจัดตั้ง Singapore-Turkey Business Council ระหว่าง Singapore Business Federation (SBF) และ Turkey Foreign Economic Relations Board (DEIK) นอกจากนี้ International Enterprise Singapore (IE Singapore) และ SBF ได้ร่วมกันนำคณะผู้แทนการค้าสิงคโปร์ 18 ราย ปรึกษาหารือธุรกิจในตุรกี ด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน การเดินเรือ/การท่า เทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็คทรอนิกส์ และการค้าปลีก

2. สิงคโปร์กับมาเลเซีย รัฐมนตรีที่ปรึกษา Mr. Lee Kuan Yew ได้เดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นขึ้น มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการสื่อสารโทรคมนาคม การศึกษา การแลกเปลี่ยนข่าวสารธุรกิจการค้าและกิจกรรมศิลปะระหว่างรัฐยะโฮร์กับสิงคโปร์

ค. การลงทุนในสิงคโปร์

1. บริษัท GlaxoSmithKline (GSK) สร้างโรงงานมูลค่า 600 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ที่เขต Tuas เพื่อผลิตวัคซีน ซึ่งจะผลิต biologic drugs โดยใช้ส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ ใช้รักษาโรค meningitis, pneumonia และ blood poisoning ทั้งนี้ จะเริ่มผลิตได้ในปี 2554 นอกจากนี้ GSK และภาครัฐสิงคโปร์ จัดเงินทุน 30 และ 20 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ตามลำดับ สำหรับโครงการในการศึกษาค้นคว้าและวิจัยระบบการผลิตที่รักษาธรรมชาติ

2. บริษัท BNP Paribas Wealth Management ได้เปิด Global Information Technology (IT) Hub ณ HarbourFront สิงคโปร์ ให้บริการสำหรับการพัฒนา software ตามความต้องการของศูนย์ BNP 15 แห่งทั่วโลก ในการนี้ สามารถสร้างงานจาก 20 อัตรา เป็น 100 อัตรา นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อเสียงให้สิงคโปร์ให้นานาชาติทราบว่า เป็นแหล่งมีผู้ชำนาญการ และโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมที่เชื่อถือได้

ง. การลงทุนในต่างประเทศ

1. สิงคโปร์ร่วมมือกับจีนเพื่อให้โครงการ Sino-Singapore Tianjin Eco-City เดินหน้าต่อไป โดยดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำ-ไฟ การโทรคมนาคม ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาและจะมุ่งเน้นให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพลังงาน และสภาวะแวดล้อม อีกทั้งในอนาคตจะขยายไปยังด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การถ่ายเทความรู้ความชำนาญด้านการพัฒนาชุมชนและที่พักอาศัยของสิงคโปร์

2. บริษัท CapitaLand ได้เปิดตัว Raffles City ที่ Ningbo ในประเทศจีน ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 5 (หลังจาก Shanghai, Beijing, Chengdu และ Hangzhou) ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า(50,000 ตารางเมตร) สำนักงาน(30,000 ตารางเมตร) และห้องชุด (20,000 ตารางเมตร) จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2555

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ